บรรทัดฐานใหม่โลกธุรกิจ หลังวิกฤติโควิด-19 ผ่านพ้น

บรรทัดฐานใหม่โลกธุรกิจ หลังวิกฤติโควิด-19 ผ่านพ้น

การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาถึงจุดที่หลายประเทศมีผู้ติดเชื้อ-เสียชีวิตลดลง หลายประเทศเตรียมเลิกใช้มาตรการล็อกดาวน์ นับจากนี้ไป มุมมองคนทั่วโลกจะไม่เหมือนเดิม และมีผลต่อการกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจของบริษัททั่วโลก มาดูกันว่า บรรทัดฐานใหม่หลังยุคโควิดมีอะไรบ้าง

บทความของแมคเคนซีย์ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ได้เผยแพร่รายงานวิจัยเขตเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกแล้วพบว่า เมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ยุติลง โลกใบนี้จะเปลี่ยนไป เพราะถือเป็นครั้งแรกที่โลกหยุดชะงักพร้อมๆ กัน ด้วยสาเหตุเดียวกัน แต่ภูมิภาคเอเชียจะเป็นภูมิภาคที่ฟื้นตัวได้เร็วและสร้าง “บรรทัดฐานใหม่” เป็นที่แรก

รายงานของแมคเคนซีย์ ระบุว่า มีเขตเศรษฐกิจที่มีผลงานดี มีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต่อหัวประชากรต่อปีมากกว่า 3.5% ในช่วงระยะ 50 ปี แม้แต่ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ประเทศเหล่านี้ยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีได้ในเวลาเพียง 1 ถึง 2 ปี และเตรียมตัวรับสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2551 ได้เป็นอย่างดีด้วย ซึ่งเขตเศรษฐกิจที่ว่า คือ จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย

รายงานฉบับนี้ ยังระบุว่า แรงสั่นสะเทือนจากการระบาดครั้งนี้ จะเปลี่ยนโลกธุรกิจ สังคม และระเบียบเศรษฐกิจโลกในหลายมิติ เช่น การทำการค้าแบบไร้การสัมผัสร่างกายจะกลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคเริ่มคุ้นชิน และจะกลายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ส่วนจุดอ่อนของห่วงโซ่อุปทานที่เผยให้เห็นในช่วงการระบาดนั้น ภาคธุรกิจจะปรับปรุงและแก้ไขปัญหานี้ในทุกๆ ด้านของกระบวนการทางธุรกิจ

บรรทัดฐานใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นถูกกำหนดด้วย 4 ปัจจัย คือ 1.สัญญาทางสังคม 2.อนาคตของงานและการบริโภค 3.การขับเคลื่อนทรัพยากรปริมาณมากได้อย่างรวดเร็วช่วยให้แก้ไขวิกฤติได้ทันท่วงที และ 4.จะเกิดการเปลี่ยนแปลงจากกระแสโลกาภิวัตน์เป็นภูมิภาคภิวัตน์มากขึ้น เพราะวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้น เผยให้เห็นว่าการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานเป็นจุดอ่อน โดยเฉพาะสินค้าของใช้ ต่อไปนี้ โลกจะได้เห็นการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานครั้งใหญ่ การผลิตและแหล่งวัตถุดิบอาจถูกย้ายให้อยู่ใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น และบริษัทจะพึ่งพาซัพพลายเออร์ท้องถิ่นหรือในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า จะเห็นการเติบโตที่แข็งแรงในระยะยาวในเอเชีย และภายในปี 2583 คืออีก 20 ปีข้างหน้า เอเชียจะมีสัดส่วนในการบริโภคทั่วโลกถึง 40% ขณะที่การรวบรวมข้อมูลจากสำนักข่าวทั่วโลก พบว่าเมื่อโลกกลับเข้าสู่สภาวะปกติ การระบาดของโรคโควิด-19 หมดไปอย่างถาวร พฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

เมื่อโลกกลับเข้าสู่สภาวะปกติ การระบาดของโรคโควิด-19 หมดไปอย่างถาวร พฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน เริ่มจากการพึ่งพาเทคโนโลยี หรืออยู่ในโลกของดิจิทัลมากขึ้น

ขณะที่การรวบรวมข้อมูลจากสำนักข่าวทั่วโลก พบว่าเมื่อโลกกลับเข้าสู่สภาวะปกติ การระบาดของโรคโควิด-19 หมดไปอย่างถาวร พฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน เริ่มจากการพึ่งพาเทคโนโลยี หรืออยู่ในโลกของดิจิทัลมากขึ้น โดยผู้บริโภคยุคหลังโควิด-19 จะใช้โทรศัพท์มือถือ หรือโลกออนไลน์ เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ มากขึ้น จนไม่มีกำแพงกั้นระหว่างการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านค้า กับการสั่งออนไลน์อีกต่อไป

หลังยุคโควิด-19 คนทั่วโลกจะได้เห็นตัวอย่างการประยุกต์ใช้ดิจิทัลมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน ทั้งจาก อาลีบาบา ไป่ตู้ เทนเซนต์ หัวเว่ย และผิงอัน และจะได้เห็นบริษัทหลายแห่งหันมาทำอีคอมเมิร์ซกันมากขึ้น ระบบนิเวศของอีคอมเมิร์ซจะเติบโตอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจส่งสินค้า ส่งอาหาร สังคมแบบไร้เงินสด และระบบการขายสินค้าแบบอัตโนมัติ

158694707698

ขณะเดียวกัน จะมีการนำหุ่นยนต์ ยานพาหนะไร้คนขับ หรือแม้แต่โดรนมาให้บริการ การบริการออนไลน์ใหม่ๆ ที่จากเดิมเป็นการทำออฟไลน์ เช่น การศึกษา สุขภาพ การแพทย์ การประยุกต์ใช้สมาร์ทดีไวซ์ อีเวนท์ต่างๆ จะผันตัวมาจัดบนโลกออนไลน์ ส่วน IoT การสร้างประสบการณ์เสมือนจริงด้วย VR (Virtual Realtiy) และ AR (Augmented Reality) ไปจนถึงการลงทุนในดิจิทัลเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง เอไอ บล็อกเชน เทคโนโลยี 3D ที่ใช้กับภาคธุรกิจจะมีแพร่หลายในทุกอุตสาหกรรม

ต่อมาคือ พฤติกรรมอยู่บ้านให้มีความสุขและสนุกกับการรักษาระยะห่าง ซึ่งจะทำให้ชีวิตในโลกโซเชียลกับโลกส่วนตัวเดินไปเป็นคู่ขนาน  และพฤติกรรมที่คำนึงถึงความสะอาดและสุขภาพเป็นหลัก เพราะฉะนั้นจึงพึ่งพาสินค้าและบริการต่างๆ ที่มีความสะอาดและสุขอนามัยมากพอ และพฤติกรรมนี้ ไม่ได้เป็นเฉพาะในบ้าน เมื่อออกไปนอกบ้านก็จะให้ความสำคัญกับการเว้นระยะห่างและช่องชำระสินค้าแบบไร้การสัมผัสด้วย ในด้านเทคโนโลยี การสั่งงานด้วยเสียงจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นในสถานที่หรูหรา รวมถึงร้านค้าปลีก

ผู้บริโภคยุคหลังโควิด-19 ต้องมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเงิน สังคมไร้เงินสดที่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งจะยังคงดำเนินต่อไป ขณะที่การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโลกดิจิทัล การใช้ดิจิทัลแบงกิ้ง และแอพพลิเคชั่น e-Wallet จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

สุดท้ายคือ การสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวจะมีมากขึ้น การใช้ชีวิตกับครอบครัวในช่วงการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้เกิดสัมพันธ์ใหม่ระหว่างบ้านและภาระหน้าที่ โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีลูกเล็กๆ อาศัยอยู่ด้วยกัน

ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็ปรับตัวเช่นกัน โดยซีบีอาร์อี ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก คาดการณ์ว่า พฤติกรรมลูกค้าในตลาดอาคารสำนักงานหลังการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จะเปลี่ยนไปอย่างมาก โดยลูกค้าจะมองหาสำนักงานย่อยและแพลตฟอร์มบนคลาวด์ เพื่อเป็นแผนสำรอง 

ซีบีอาร์อี มองว่า เหตุการณ์จะถูกแยกออกเป็นช่วงก่อนและช่วงหลังการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดอาคารสำนักงานที่พฤติกรรมการใช้พื้นที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างมากภายในระยะเวลาไม่ถึงปี โดยบริษัทหลายแห่ง พยายามทดลองใช้วิธีการทำงานนอกสำนักงาน หรือทำงานจากบ้าน เพื่อลดค่าใช้จ่าย หรือเพื่อตอบสนองพฤติกรรมของกลุ่มมิลเลนเนียล

แต่ในขณะนี้แทบทุกบริษัท แม้กระทั่งบริษัทที่ยังไม่เคยมีการเตรียมความพร้อมในด้านเทคโนโลยี ก็ถูกบังคับให้ต้องใช้วิธีการทำงานแบบใหม่นี้โดยปริยาย และหลายบริษัทที่กำลังใช้นโยบายการทำงานจากบ้าน เริ่มรับรู้ว่าการทำงานรูปแบบนี้ เป็นเรื่องที่ทำได้จริงหากนำไปปรับใช้กับบางหน่วยงานในองค์กร โดยสร้างสมดุลที่ดีระหว่างการมอบหมายความรับผิดชอบและการตรวจสอบการทำงานของทีมงาน ซึ่งอาจหมายถึงการที่สถานที่ทำงานในอนาคตจะเป็นพื้นที่สำนักงานที่มีความยืดหยุ่น โดยเป็นการผสมผสานระหว่างสำนักงานใหญ่ การทำงานจากบ้าน และโคเวิร์กกิ้งสเปซ