รพ.มงกุฎวัฒนะ รุกบริการคัดกรอง เร่งค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน
สปสช. ลงพื้นที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ ตรวจเยี่ยมความพร้อม รพ.เอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขตพื้นที่กทม.ให้บริการโควิด-19 ครอบคลุมการตรวจวินิจฉัย รักษาพยาบาล พร้อมจัดตั้งห้องปฏิบัติตรวจโควิด-19 รุกบริการคัดกรองในชุมชน
วันนี้ (16 เมษายน 2563) นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วย นพ.ปริญญา ชมวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กทม.และคณะ ได้ลงพื้นที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขตพื้นที่กทม.ที่มีความพร้อมรับการตรวจรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 โดยมีพล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ต้อนรับและนำเยี่ยมชมพร้อมให้ข้อมูลการบริหารจัดการการรับมือสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติให้กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นสิทธิประโยชน์ ครอบคลุมตั้งแต่การคัดกรองผู้ติดเชื้อ การตรวจวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ เพื่อให้การดูแลประชาชนเป็นไปอย่างทั่วถึงและด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีผู้ป่วยยืนยันและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องเร่งดำเนินการควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว
นอกจากการดำเนินงานในส่วนของโรงพยาบาลภาครัฐแล้ว ความร่วมมือของโรงพยาบาลเอกชนนับว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้สนับสนุนโรงพยาบาลเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการจัดบริการเพื่อดูแลประชาชนกรณีโควิด-19
โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ เป็นโรงพยาบาลเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ให้บริการประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองมาอย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความร่วมมืออันดี ที่ผ่านมานอกจากการตรวจวินิจฉัยและรับรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งโรงพยาบาลได้มีการจัดเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ และพื้นที่สำหรับดูแลผู้ป่วยแล้ว
ยังได้เพิ่มการจัดบริการตรวจคัดกรองเชิงรุก มีหน่วยเคลื่อนที่ออกให้บริการตรวจคัดกรองโรคในชุมชนเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อ ไวรัสโควิด-19 นำเข้าสู่กระบวนการรักษาและติดตามเฝ้าระวัง ตามมาตรฐานการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดตามกรมควบคุมโรคกำหนด ทั้งนี้โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะได้มีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการ (Lab) ขึ้นใหม่ เพื่อตรวจค้นหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้สามารถตรวจยืนยันผลการตรวจได้รวดเร็วขึ้น
“ในการคัดกรองโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 คนไทยทุกคนสามารถเข้ารับบริการได้ทั้งจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจากเป็นสิทธิประโยชน์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ ครอบคลุมคนไทยทุกคน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
กรณีที่ตรวจพบเชื้อและเข้าสู่กระบวนการรักษาพยาบาล จะเป็นไปตามสิทธิประโยชน์ของแต่ละกองทุน เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนอปท. และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) ที่ ซึ่งครอบคลุมการรักษาพยาบาล เหมือนกัน
ทั้งนี้ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเอกชนที่มีส่วนร่วมดูแลสังคม โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในประเทศ
ด้าน พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โรงพยาบาลได้จัดเตรียมระบบบริการให้กับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างเร่งด่วน โดยเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19
ได้แก่ การจัดเตรียมสถานที่อาคารซี (C) ซึ่งเป็นอาคารที่เคยใช้รักษาผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพ แต่ปัจจุบันย้ายไปใช้ที่ตึกสร้างใหม่ทั้งหมด จึงมีพื้นที่ตึกเดิมรองรับผู้ป่วยได้เต็มพื้นที่ ซึ่งสามารถรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้สูงสุดถึง 30 เตียง และที่ผ่านมาได้ให้บริการดูแลผู้ป่วยโควิดแล้ว 35 ราย ในจำนวนนี้ยังคงรักษาตัวอยู่ 5 ราย
อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลได้เตรียมการเพื่อเป็น “ศูนย์สำรองเตียง” (RESERVE) ในการสนับสนุนภาครัฐหากสถานการณ์การระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและติดต่อกันเป็นวงกว้าง และยังได้จัดเตรียมลานจอดรถที่เป็นพื้นที่โล่งกว้างใช้เป็นพื้นที่สนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามให้แก่รัฐบาลและกองทัพ หากเกิดสถานการณ์ระบาดรุนแรงสูงสุดตามคาดการณ์ไว้
นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังได้เตรียมบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 1,500 คน เพื่อให้บริการคัดกรองเชิงรุก โดยในวันนี้ทางโรงพยาบาลได้ลงพื้นที่คัดกรองประชาชนพบผู้ที่มีความเสี่ยงจำนวน 40 คน และได้เจาะเลือดเพื่อส่งห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลแล้ว โดยห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลมีศักยภาพสามารถตรวจหาเชื้อได้ถึง 180 รายต่อวัน และได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขแล้วเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว