'โควิด-19' ก็กลัว ตัวก็ใกล้อดตาย เปิดสถิติคนไทยเอาอะไรไป 'จำนำ' มากที่สุด
อะไรน่า "จำนำ" ที่สุด เมื่อ ทองรูปพรรณ กระติกน้ำร้อน กระทะไฟฟ้า คือทรัพย์สินที่คนไทยนำมานำจำที่โรงรับจำนำ กทม. มากที่สุดหลังเกิดวิกฤต "โควิด-19" ระบาด
หลังจากรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร โดยใช้อำนาจพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.-30 เม.ย. 2563 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
สิ่งที่ตามมาหลัง ‘เคอร์ฟิว’ คือธุรกิจร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และธุรกิจบางประเภทต้องหยุดกิจการกระทันหันเพื่อตอบสนองต่อนโยบายดังกล่าว และผลตีกลับอีกด้านหนึ่งนอกเหนือการควบคุมโรคระบาดคือประประชาชนที่เป็นลิ้วล้อในธุรกิจที่ต้องหยุดชะงักนั้น ขาดรายได้ ไปชั่วคราว ในขณะที่รายจ่ายยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ณ ตอนนี้สังคมเกิดสภาวะเงินขาดมือ ไร้เงินสดไปใช้ในชีวิตประจำวัน แต่เพื่อให้การใช้ชีวิตยังคงไปต่อ การพึ่ง "โรงรับจำนำ" ก็เป็นหนึ่งทางเลือกที่ประชาชนหันมาใช้ความสนใจ
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนไปทำความรู้จัก "โรงรับจำนำ" พร้อมเปิดสถิติทรัพย์สินที่คนไทยนำมานำจำที่โรงรับจำนำมากที่สุด เพื่อให้เห็นว่าสิ่งของชิ้นไหนบ้างที่สามารถช่วยชีวิตพวกเขาได้ในยามวิกฤติครั้งนี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
‘เงินเยียวยา’ ที่รอ ‘ขอทบทวนสิทธิ์’ และชีวิตรายวันที่รอไม่ได้
- โรงรับจำนำ คือ ?
“โรงรับจำนำ” หรือภาษาชาวบ้านอาจเรียกขานกัน “โรงตึ๊ง” เป็นสถานที่ที่ประชาชนจะเข้าไปใช้บริการก็ต่อเมื่อ “ร้อนเงิน” เงินช็อตกะทันหันและต้องรีบหาเงินมา “หมุนเวียน” ในชีวิตประจำวัน ประกอบสัมมาอาชีพ
ทั้งนี้ โรงรับจำนำ ในส่วนที่เป็นโรงรับจำนำของภาครัฐ เกิดขึ้นในประเทศไทยมานาน 65 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2498 สมัย ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย
โดยโรงรับจำนำ เป็นสถาบันการเงินขนาดเล็กที่พบเห็นได้ทั่วไปตามแหล่งชุมชน ทำหน้าที่ให้กู้ยืมแก่ประชาชนทั่วไป โดยการรับจำนำสิ่งของและเครื่องใช้ต่างๆ ทั้งของใหม่และของที่ใช้แล้ว โรงรับจำนำมีอยู่ 3 ประเภท ตามลักษณะของผู้ดำเนินงาน คือ
1. โรงรับจำนำที่ดำเนินการโดยเอกชน
2. โรงรับจำนำที่ดำเนินการโดยกรมประชาสงเคราะห์ เรียกว่า สถานธนานุเคราะห์
3. โรงรับจำนำที่ดำเนินการโดยเทศบาลหรือกรุงเทพมหานคร (กทม) เรียกว่า สถานธนานุบาล
โรงรับจำนำของเอกชนใช้เงินทุนของผู้เป็นเจ้าของหรือหุ้นส่วนและเงินจากการกู้ยืมมาใช้ดำเนินการรับจำนำ สถานธนานุเคราะห์ได้เงินทุนจากงบประมาณซึ่งรัฐบาลจัดสรรให้ รวมทั้งเงินกำไรสะสมและเงินกู้จากธนาคารออมสิน ส่วนสถานธนานุบาลได้เงินอุดหนุนจากเทศบาลและเงินกู้จากกองทุนส่งเสริมกิจการเทศบาล โรงรับจำนำทั้ง 3 ประเภท เป็นสถานบันการเงินที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยนิยมกู้ไปเพื่อการบริโภคและเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับการค้าเล็กๆ น้อยๆ
- ของที่ถูกจำนำมากที่สุด
นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่งผลกระทบกับการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน ทำให้ประชาชนต้องนำทรัพย์สินที่มีค่าออกมาจำนำ ที่สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร(โรงรับจำนำ กทม. ) อย่างต่อเนื่อง
โดยสถิติผู้มาใช้บริการทั้ง21 สาขาทั่วกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1-10 เม.ย. (เฉพาะวันทำการ) แล้วจำนวน 4,209 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันจำนวน 194 คน คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.24 ใช้เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการจำนำ58,142,550 ล้านบาท
สำหรับสิ่งของหรือทรัพย์สินที่ประชาชนผู้ใช้บริการนำมาจำนวนมากที่สุด คือ ทองรูปพรรณ นอกจากนี้ก็ยังมีทรัพย์สินอย่างอื่น ที่ประชาชนนำมาจำนำ ส่วนใหญ่จะเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า อาทิ กระติกน้ำร้อน กระทะไฟฟ้า เครื่องดนตรีประเภทกีต้าร์ อุปกรณ์สำนักงานประเภทคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก และอื่นๆ อาทิ ครก เครื่องเงิน เชี่ยนหมากเงิน ขันเงิน หรือ ทองเหลือง
- กทม. ลดดอกเบี้ย ช่วยกูวิกฤตโควิด
ทั้งนี้เพราะพิษโควิดกระทบทุกภาคส่วน ทำให้โรงรับจำนำ กทม. มีการลดดอกเบี้ย และขยายเวลาตั๋วรับจำนำเป็น 8 เดือน ช่วยประชาชนลดผลกระทบโควิด-19
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพของประชาชน และเศรษฐกิจโดยรวมอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ กรุงเทพมหานครจึงได้เพิ่มมาตรการช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระของประชาชน โดยการปรับลดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาในการรับจำนำ เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับประชาชนและยังช่วยให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้ดีขึ้น ดังนี้
1. ลดดอกเบี้ยรับจำนำ วงเงินรับจำนำตั้งแต่ 1 – 5,000 บาท จากดอกเบี้ยร้อยละ 25 สตางค์ต่อเดือน เป็นร้อยละ 10 สตางค์ต่อเดือน สำหรับวงเงินรับจำนำตั้งแต่ 5,000 – 15,000 บาท จากร้อยละ 1 บาทต่อเดือน เป็นร้อยละ 50 สตางค์ต่อเดือน
2. ขยายระยะเวลาตั๋วรับจำนำ จาก 4 เดือน 30 วัน เป็น 8 เดือน โดยประชาชนที่ทำธุรกรรมทุกประเภทกับสถานธนานุบาลทั้ง 21 แห่งของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 31 พ.ค. 63 จะได้รับสิทธิลดดอกเบี้ยตามวงเงินข้างต้น และขยายระยะเวลาตั๋วรับจำนำออกไปเป็น 8 เดือนทันที อีกทั้งประชาชนยังสามารถใช้บริการโครงการลดดอกเบี้ยช่วงเปิดเทอมสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้ปกครอง ประจำปีงบประมาณ 2563 ซึ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 50 สตางค์ต่อเดือน สำหรับวงเงินรวมไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ได้อีกด้วย