ผ่อนปรน ‘ล็อกดาวน์’ อย่าละเลยความมีวินัย
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทยที่ดูมีแนวโน้มดีขึ้นนั้น ทำให้ภาครัฐอาจทบทวนการปลอดล็อคดาวน์ ซึ่งรัฐต้องคิดให้รอบคอบ และยังต้องคงมาตรการรับมือที่เคร่งครัดต่อไป ป้องกันไม่ให้สถานการณ์กลับกลายเป็นบานปลาย
แม้ดูเหมือนว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยลดลง จนทำให้ภาครัฐอาจทบทวนการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ มีผลให้บางธุรกิจ ร้านค้าบางประเภท สามารถเปิดให้บริการได้อีกครั้ง แต่จงอย่าลืมว่า ประเทศไทย ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ แม้ตัวเลขจะลด แต่เราก็ปรารถนาจะเห็นตัวเลขการติดเชื้อเป็น 0 นั่นถึงจะเป็นการเรียกความมั่นใจได้
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ ศบค. เผยวานนี้ (17 เม.ย.) ไทยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 28 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 2,700 ราย ใน 68 จังหวัด เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 47 ราย รักษาหายป่วยแล้ว 1,689 ราย (62.56%) เพิ่มขึ้น 96 ราย ซึ่งสถานการณ์ในวันนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยก็ยังคงมีอยู่ ส่วนภาพรวมทั่วโลก จำนวนผู้ติดเชื้อทะลุไปมากกว่า 2 ล้านราย เสียชีวิตนับแสนราย บางประเทศการแพร่ระบาดยังเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสอยู่ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดในยุโรปที่ยัง ‘หนักมาก’ ผู้ติดเชื้อเกือบ 1 ล้านคน
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกมาเตือนประเทศ ที่กำลังคิดจะผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ โดยบอกว่า จะผ่อนปรนล็อกดาวน์ได้ควรต้องมี 6 ข้อ คือ 1.สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในประเทศได้แล้ว 2.ระบบสุขภาพต้องสามารถตรวจหาผู้มีอาการของโรค ตรวจหาเชื้อ แยกตัวและทำการรักษา พร้อมทั้งทำการสอบสวนโรค 3. มีความเสี่ยงระดับน้อยที่สุดในสถานที่เสี่ยงภัยมากที่สุด เช่น บ้านพักคนชรา 4. โรงเรียน สำนักงาน และสถานที่สาธารณสุขต่างๆ ต้องมีการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ 5.สามารถจัดการความเสี่ยงของโรคจากผู้ที่เดินทางเข้าประเทศได้ และ 6.คนในชุมชนต้องมีความรู้ มีส่วนร่วมและได้รับการสนับสนุนให้มีชีวิตอยู่ ภายใต้สังคมทีเปลี่ยนแปลงไปหลังการเกิดโรค
การผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์นั้น ในทางปฏิบัติควรต้องประเมินผลได้ผลเสียให้รอบด้าน รอบคอบ และเมื่อจำเป็นต้องผ่อนปรนกันจริงๆ ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ก็ควรมีมาตรการรับมือที่เคร่งครัด ต้องมีการคัดกรองบุคคล ตรวจอุณหภูมิ จัดคิวในการเข้าพื้นที่ จำกัดคนเข้าพื้นที่ ในส่วนของห้างร้านต่างๆ ก็ไม่ควร ‘ฉกฉวย’ ฮึกเหิม ลำพอง ใช้ช่วงเวลาแบบนี้จัดโปรโมชั่นที่เสี่ยงให้คนมารวมตัวกัน ร้านให้บริการโทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านอาหาร ควรต้องมีการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตรในการให้คนเข้าไปรับบริการ หรือมีการจัดหาอุปกรณ์รักษาความสะอาดในทุกๆ จุด สิ่งเหล่านี้ ธุรกิจผู้ให้บริการยังต้องมีความรับผิดชอบอย่าง “เข้มข้น” และห้าม ‘ละเลย’ อย่างเด็ดขาด
ในส่วนของประชาชน เมื่อสถานที่บางแห่งเปิดบริการ ให้เข้าไปในพื้นที่ได้มากขึ้น การดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของตัวเอง ยังคงต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด มีวินัย ความรับผิดชอบต่อตนเอง และผู้อื่นยังต้องมี ไม่ควรตีปีก ชะล่าใจ หากต้องคำนึงไว้อยู่เสมอว่า ประเทศไทยยังปรากฏจำนวนผู้ติดเชื้อ “ทุกวัน” เรายังไม่พ้นขีดอันตราย การปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดยังต้องดำเนินต่อไป มีสติ อย่าย่ามใจแม้แต่เสี้ยววินาที