สังคมไร้ลูกหลาน
การก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ กลายเป็นวาระวาระแห่งชาติ และหลายภาคส่วนเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น แต่ยังคงมีอีกความท้าทายในมุมหนึ่งที่ยังไม่ได้รับความสนใจและความเข้าใจที่ถูกต้องมากนัก นั่นคือการก้าวเข้าสู่ “สังคมไร้ลูกหลาน”
สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน หลายภาคส่วนได้เริ่มตระหนักและเห็นความสำคัญของการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ กลายเป็นเรื่องที่ได้ถูกบรรจุให้เป็น “วาระแห่งชาติ” โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในหลายๆประเด็น อย่างไรก็ดี ความท้าทายอีกมุมหนึ่งที่ยังไม่ได้รับความสนใจและความเข้าใจที่ถูกต้องจากประชาชนและภาคส่วนต่างๆ คือ การก้าวเข้าสู่ “สังคมไร้ลูกหลาน” ของประเทศไทย
ข้อมูลสำรวจภาวะการทำงานฃองประชากร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2561 พบว่า โครงสร้างของครัวเรือนที่ “ไร้ลูกหลาน” ในปี 2561 นั้นมีสัดส่วนสูงถึง 37.4%ของครัวเรือนทั้งหมด (เพิ่มจาก 26.1% ในปี 2549) ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโต(growth rate) ที่สูงถึง 43.3% โดยโครงสร้างของครัวเรือนที่ไร้ลูกหลาน ประกอบด้วยครอบครัว DINK (Double Income No Kids) หรือครอบครัวที่สามีและภรรยาไม่มีลูก และครอบครัว SINK (Single Income No Kids) หรือครอบครัวที่ผู้ชายหรือผู้หญิงอยู่คนเดียวและไม่มีลูก(โสด) ซึ่งระหว่างครอบครัว DINK กับครอบครัว SINK จะพบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่าน ครอบครัว SINK หรือ “คนโสด” มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สอดคล้องกับงานวิจัยของ เกื้อ (2549) และ Wongboonsinและคณะ (2014) ถ้าคิดเป็นจำนวนจะพบว่า ประชากรไทยปัจจุบันกว่า 21 ล้านครัวเรือน เป็นครัวเรือน “ไร้ลูกหลาน” ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ และที่น่าตกใจมากกว่านี้คือ ตัวเลขนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต
สังคมไร้ลูกหลานนั้น เกิดจากสังคมไทยมีแนวโน้มมีบุตรลดลงเป็นอย่างมาก เห็นได้ชัดจากการลดลงของอัตราเจริญพันธุ์ (fertility rate) หรือจำนวนบุตรเฉลี่ยต่อผู้หญิงหนึ่งคน โดยในช่วงปี 2507-2508 (50 ปีที่แล้ว) อัตราเจริญพันธุ์ของไทยอยู่ที่ระดับ 6.3 คน แต่ในช่วงปี 2558-2563 อัตราฯดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 1.45 คน
สาเหตุหลักการลดลงของอัตราเจริญพันธุ์นั้น มาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและค่านิยมทางสังคม อาทิ การมีงานทำของผู้หญิงที่มีจำนวนและอัตราที่สูงขึ้น อายุแรกสมรสของคู่สมรสที่มีแนวโน้มสูงขึ้น การที่ผู้หญิงไทยมีบุตรคนแรกในวัยที่สูงกว่าในอดีต แนวโน้มของการเป็นโสดที่เพิ่มมากขึ้น และแนวโน้มการหย่าร้างที่เพิ่มสูงขึ้น
ด้วยผู้คนในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการมีความพร้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเองเป็นลำดับต้นในการบรรลุเป้าหมายของชีวิต เห็นได้จากแบบแผนการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมที่เน้นเลือกที่จะทำงานสร้างรายได้ก่อนแต่งงาน และเลือกที่จะมีบ้าน มีรถ เครื่องอำนวยความสะดวกภายในบ้าน ก่อนที่จะมีบุตร หรือเลือกที่จะเป็นโสดมากขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายของชีวิตด้วยตนเองและไม่ต้องมีภาระรับผิดชอบอีกชีวิตหนึ่ง
ผลกระทบของสังคมไร้ลูกหลาน
การตอบคำถามนี้ เราจะอ้างอิงงานวิจัยทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ งานวิจัยในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐ และสหภาพยุโรป และอีกกลุ่มคือในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา อาทิ จีนและไทย จากงานวิจัยเหล่านี้ ชี้ว่า การไม่มีลูกหลานอาจจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้สูงอายุได้หลักๆ 2 ทาง คือ 1.ทางการเงิน เนื่องจากผู้สูงอายุไม่มีลูกหลานมาช่วยเหลือปัญหาทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นในวัยเกษียณ ซึ่งอาจมาจากเก็บเงินออมไม่เพียงพอ หรือเกิดจากปัญหาสุขภาพที่จำเป็นต้องใช้เงินในการรักษา
สำหรับผลกระทบเชิงลบต่อผู้สูงอายุอีกทางหนึ่งคือ ทางสุขภาวะทางจิต โดยผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานอาจรู้สึกเหงา รู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกไม่มีค่า และขาดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคซึมเศร้าได้
งานวิจัยที่ทำขึ้นในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนมากพบว่าไม่มีผลกระทบเชิงลบต่อผู้สูงอายุทั้งในด้านการเงินและด้านสุขภาวะทางจิต อาทิ งานวิจัยของ Plotnick (2009) ที่ศึกษาในสหรัฐ พบว่าผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกจะมีทรัพย์สินโดยเฉลี่ยมากกว่าผู้สูงอายุที่มีลูกด้วยซ้ำ นอกจากนี้แล้วผู้สูงอายุที่ไม่มีลูก ไม่จำเป็นต้องเก็บเงินไว้สำหรับมรดก จึงสามารถใช้จ่ายเงินในวัยเกษียณได้มากกว่า อีกตัวอย่าง งานวิจัยของ Hank and Wagner(2013) ที่พบว่าการไม่มีลูกหลานไม่มีผลกระทบเชิงลบต่อผู้สูงอายุในด้านการเงิน ในด้านสุขภาวะทางจิต และการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ดังนั้นถ้าเรา
การอ้างอิงจากงานวิจัยในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเพียงอย่างเดียว อาจจะตีความไปว่าการก้าวเข้าสู่สังคมไร้ลูกหลานนั้นไม่ได้น่ากลัวอะไร
แต่งานวิจัยที่ทำขึ้นในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา อาทิ จีนและไทย ผลการศึกษากลับตรงกันข้าม โดยงานวิจัยส่วนใหญ่พบผลกระทบเชิงลบอย่างชัดเจนต่อผู้สูงอายุ ทั้งในด้านการเงินและด้านสุขภาวะทางจิต อาทิ เช่น งานวิจัยของ Guo, M. (2014)ที่ทำขึ้นในจีน พบว่าผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกจะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่า และรู้สึกไม่มีความสุขกับชีวิต โดยในกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกและรายได้น้อย สาเหตุหลักของความทุกข์เกิดจากการไม่ได้รับการดูแลทางการเงินจากลูกที่ตนเองไม่มี การได้รับการดูแลทางการเงินจากลูกเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุชาวจีนคาดหวังตามแบบวิถีชีวิตและวัฒนธรรม
อีกตัวอย่างคือ งานวิจัยของ Djundevaและ คณะ (2018)ซึ่งก็ทำขึ้นในจีนก็พบว่า ผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกจะมีสุขภาพที่แย่กว่าผู้สูงอายุที่มีลูก และมีอายุคาดเฉลี่ย(life expectancy) ที่ต่ำกว่า สำหรับไทย งานวิจัยในด้านนี้ ยังมีค่อนข้างน้อยแต่ก็พบผลกระทบเชิงลบสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกเช่นกัน โดยงานวิจัยของ Quashieและ Pothisiri(2018) พบว่าผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกจะมีสุขภาวะทางจิตที่แย่กว่าและมีโอกาศเกิดโรคซึมเศร้าได้สูง
ดังนั้น ผลกระทบจากการก้าวเข้าสู่สังคมไร้ลูกหลานนั้น อาจน่ากลัวกว่าที่เราคิดไว้ด้วยซ้ำ เป็นปัญหาที่มีโอกาสส่งผลกระทบเชิงลบในวงกว้างและมีความรุนแรงมากกว่าในประเทศที่กำลังพัฒนา อย่างเช่น ประเทศไทย เหตุผลหนึ่งอาจจะเป็นเพราะประเทศที่พัฒนาแล้วมีรายได้โดยเฉลี่ยที่สูงกว่า และมีสวัสดิการทางสังคมที่ค่อนข้างดีกว่ามาก อย่างที่เรามักจะกล่าวกันว่าประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น “รวยก่อนสูงวัย” แต่ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา “สูงวัยก่อนรวย”
ทางออกของสังคมไร้ลูกหลาน
เป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และจำเป็นต้องยอมรับว่า สังคมไทยกำลังเปลี่ยนจากสังคม “ปู่ย่าตายาย” หรือสังคม “พ่อแม่ลูก”ไปสู่สังคม “ไร้ลูกหลาน” อย่างรวดเร็ว ดังนั้นทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ ประชาชนคนไทยทุกคนจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือการเข้าสู่สังคมไร้ลูกหลานอย่างเร่งด่วน โดยผู้สูงวัยในอนาคตจะไม่สามารถอาศัยการดูแลของครอบครัว แต่ต้องอาศัยการวางแผนเพื่อดูแลตัวเอง ส่วนภาครัฐเองก็จำเป็นต้องเป็นที่พึ่ง (สุดท้าย) ที่สำคัญสำหรับผู้สูงอายุไทยในอนาคต นอกจากนี้ การมีกลุ่มเพื่อนฝูงในวัยใกล้เคียงกันคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ก็น่าจะมีส่วนสำคัญในลดปัญหาการเข้าสู่สังคมไร้ลูกหลานของประเทศ (อ้างอิงงานวิจัยของ Mair(2019)