สวรส. เสนอบอร์ด สปสช. ผลักมาตรการรับยาที่ร้านยา ลดเสี่ยงโควิด-ลดแออัดโรงพยาบาล

สวรส. เสนอบอร์ด สปสช. ผลักมาตรการรับยาที่ร้านยา  ลดเสี่ยงโควิด-ลดแออัดโรงพยาบาล

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดผลวงกว้างและทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งจากคนจำนวนมากที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เช่น สถานที่แออัด รวมทั้งในโรงพยาบาลซึ่งนับเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้ทำการศึกษาวิจัย “ประเมินผลโครงการนำร่องให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล” โดยให้ผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคทางจิตเวช และหอบหืดหรือโรคเรื้อรังที่ไม่มีความซับซ้อนในการดูแล สามารถรับยาที่ร้านยา และได้ขยายผลการใช้ประโยชน์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อของ 4 กลุ่มผู้ป่วยดังกล่าว ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยในแต่ละโรงพยาบาล

ทั้งนี้ ข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ณ วันที่ 1 มี.ค. 2563 มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 108 โรงพยาบาล ร้านยา 889 แห่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพและต่างจังหวัด มีจำนวนผู้ป่วยที่ไปรับยาที่ร้านยาทั้งหมด 4,552 คน โดยโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยไปรับยาที่ร้านยาสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ 2) รพ.ลำพูน
3) รพ.ชลบุรี 4) รพ.พระนั่งเกล้า 5) รพ.ขอนแก่น ซึ่งผู้ป่วยใน 4 กลุ่มโรคดังกล่าว ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ทุกครั้ง และต้องไปรับยาหลังจากได้รับใบสั่งยาจากแพทย์แล้วไม่เกิน 7 วัน  

158737117969

ดร.ภญ.นพคุณ ธรรมธัชอารี ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของทุกงานวิจัยของ สวรส. คือ การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาต่างๆ ในระบบสุขภาพ ซึ่งงานวิจัย “การประเมินผลโครงการนำร่องให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล” เป็นหนึ่งในงานวิจัยของ สวรส. ที่ร่วมกับทีมวิจัยจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ร้านยามีศักยภาพและมีส่วนสำคัญในการดูแลประชาชนท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยสามารถลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลให้ยังสามารถรับยาและมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง ในด้านความพึงพอใจต่อบริการที่ร้านยา ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความพึงพอใจ เนื่องจากการรับยาที่ร้านยาไม่ต้องรอคิวนาน คนไม่มาก มีความสะดวกในการเดินทาง มีความยืดหยุ่นของเวลาในการรับยาที่ร้านยา และมีเวลาปรึกษาเภสัชกรมากขึ้น

ทั้งนี้ ทีมวิจัยร่วมกับคณะกรรมการวิเคราะห์ข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายและติดตามผลการดำเนินการนโยบายให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายสำคัญจากข้อมูลวิจัยเชิงประจักษ์ที่พบ เพื่อสนับสนุนมาตรการ social distancing ในสถานการณ์การระบาดโควิด-19 อาทิเช่น

  • รูปแบบการรับยาที่ร้านยาควรเป็นแบบ refill-prescription โดยผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่โรงพยาบาลประเมินว่าเหมาะสม ไม่ต้องไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ก่อนจะไปรับยาที่ร้านยา เนื่องจากเป็นทางเลือกที่ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาล และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของผู้ป่วยสูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยต้องมีการดูแลด้านคุณภาพบริการและความปลอดภัยในการใช้ยาของผู้ป่วยโดยเภสัชกรที่ร้านยา
  • สปสช. ควรพิจารณาเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลที่ต้องการเข้าร่วมโครงการฯ และ สปสช. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ควรสนับสนุนให้เกิดการจัดทำระบบข้อมูล (minimum dataset) ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยที่สามารถแลกเปลี่ยนระหว่างโรงพยาบาล และร้านยา เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้สามารถใช้ โมเดลของโรงพยาบาลสระบุรีเป็นตัวอย่างในการเรียนรู้ได้ ฯลฯ

ข้อเสนอจากงานวิจัยดังกล่าว ได้ถูกนำเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการประชุมฯ เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติให้เพิ่มการเข้าถึงบริการด้านยา เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลช่วงสถานการณ์ระบาดโควิด-19 และขยายจำนวนร้านยาในโครงการรับยาใกล้บ้าน ทั้งในและนอกพื้นที่หน่วยบริการ พร้อมให้โรงพยาบาลเพิ่มเติมระบบจัดสำรองยาที่ร้านยาและระบบเติมยาของผู้ป่วยที่ร้านยา โดยคาดว่าจะสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้โอกาสนี้ในการปรับระบบการให้บริการเพื่อช่วยแก้ปัญหาลดการแพร่ระบาดโควิด-19 ตลอดจนเพื่อการพัฒนาระบบบริการในระยะยาวต่อไป ทั้งนี้มติดังกล่าวเร่งขับเคลื่อนให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม โครงการฯ ดังกล่าวไม่ได้เน้นเฉพาะการลดความแออัดในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่เน้นสิ่งที่จะเกิดประโยชน์กับผู้ป่วยเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ลดเวลาการรอรับยาและการเดินทาง ความสะดวก ตลอดจนผู้ป่วยมีเวลาปรึกษากับเภสัชกรที่ร้านยามากขึ้น โดยบริการที่ได้รับจากเภสัชกรไม่แตกต่างกับโรงพยาบาล