‘ศูนย์วิจัยกสิกร’ชี้อานิสงส์กักตุนสินค้า ดันส่งออกมี.ค.พุ่งรอบ 8 เดือน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินการส่งออก มี.ค. พลิกบวกจาก 2 ปัจจัย ทั้งการซื้อสินค้าในลักษณะกักตุน และ ปัญหาซัพพลายเชนในจีนสะดุด ทำออเดอร์บางส่วนไหลเข้าไทย
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า การส่งออกเดือนมี.ค.แม้ขยายตัวดีกว่าคาดการณ์และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน แต่ส่วนใหญ่มาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ การสั่งซื้อสินค้าในลักษณะการกักตุนทำให้ออเดอร์จากต่างประเทศในส่วนของสินค้าหมวดอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้น 4.7% นำโดย ผลไม้กระป๋องที่ขยายตัว 10.9% น้ำตาลทรายขยายตัว 17.5% ไก่สดและไก่แปรรูป ขยายตัว 7.5%
“ในส่วนของสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวเข้าใจว่า เป็นออเดอร์ที่มีลักษณะซื้อเพื่อกักตุนสินค้า หลังจากหลายประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์ทำให้ประชาชนในแต่ละประเทศต้องซื้อสินค้าเก็บเอาไว้ ส่งผลต่อปริมาณการส่งออกสินค้าเหล่านี้ที่เพิ่มขึ้น”
ส่วนอีกปัจจัยมาจากเรื่องซัพพลายเชนในจีนที่หยุดชะงัก ส่งผลให้ออเดอร์บางส่วนไหลเข้ามาไทย โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในเดือนมี.ค.พบว่า ปริมาณการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟเพิ่มขึ้นถึง 47%
นายเชาว์ กล่าวด้วยว่า ออเดอร์ที่เข้ามาในลักษณะนี้ คาดว่าเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นเท่านั้น จึงยังต้องติดตามสถานการณ์ส่งออกในระยะข้างหน้าว่าจะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องหรือไม่ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประเมินการส่งออกปีนี้หดตัวราว 5.6%