‘เคทีซี’ ผนึก ‘คู่ค้า’ งัดกลยุทธ์ฝ่าวิกฤติ
“เคทีซี” ออก 3 มาตรการเพิ่มเติมช่วยเหลือลูกหนี้ ลดดอกเบี้ยเครดิต-พีโลน พร้อมเปลี่ยนเป็นสินเชื่อระยะยาว เผยไตรมาสแรกปีนี้ ยอดใช้จ่ายบัตรโต 2.2% จับตาไตรมาสสองชะลอทุกหมวด ลั่นพร้อมผนึกคู่ค้าฝ่าวิกฤติ เน้นบริการชำระผ่านบัตรแบบออนไลน์ เริ่มพ.ค.นี้
รายงานข่าวจาก บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า เคทีซี ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มเติม ประกอบด้วยเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิต เป็นหนี้เงินกู้และสินเชื่อบุคคลระยะยาว ดอกเบี้ย 12% ต่อปี นาน48เดือน ,บัตรกดเงินสด เคทีซีพราว ผ่อนผันการชำระหนี้ เป็นสินเชื่อบุคคลระยะยาว ดอกเบี้ย22% ต่อปี นาน48 เดือน และสินเชื่ออเนกประสงค์ เคทีซี แคช /สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ เคทีซี พี่เบิ้ม พักชำระค่างวด เป็นระยะเวลา3รอบบัญชีหรือ3งวด แจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.-30มิ.ย.นี้ อย่างไรก็ตามบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดดังกล่าว จะถูกระงับการใช้ชั่วคราว จนกว่าจะชำระหนี้ครบ
นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกปีนี้ ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 50,167 ล้านบาท เติบโต2.2% มีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรฯ และดอกเบี้ยค้างรับรวม 52,137 ล้านบาท ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)บัตร ตามมาตรฐานใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 3.44%
“ภาพรวมไตรมาสแรกยังพอไปได้ แต่ในช่วงไตรมาส2 น่าจะชะลอตัวชัดเจนมากขึ้น แต่เราก็ต้องเน้นการดูแลคุณภาพหนี้ให้ดีและช่วยแบ่งเบาภาระให้กับลูกค้าในหมวดสินค้าที่จำเป็น เช่น ประกัน มีการแบ่งผ่อนชำระ การใช้คะแนน และส่วนลดต่างๆ”
สำหรับหมวดสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ หมวดท่องเที่ยว ชอปปิง ขณะที่หมวดออนไลน์ เติบโตลดลง จากเดิมเติบโต 35-40% เหลือ 15% ยังต้องติดตามกำลังซื้อผู้บริโภค และการปรับตัวของของพาร์ทเนอร์ร้านค้า หลังจากวิกฤติโควิดผ่านพ้นไปแล้ว จะกลับมามากน้อยแค่ไหน เพราะโลกหลังจากนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ทั้งนี้ บริษัทพร้อมรับมือวิกฤติโควิด และปรับตัวเมื่อวิกฤติผ่านพ้นไป โดยมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยของระบบการชำระเงินผ่านบัตรออนไลน์ อำนวยความสะดวกในการใช้บัตรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คิวอาร์โค้ดเพย์เม้นท์หรือ ลิงค์ไลน์ที่ร้านค้าส่งให้ลูกค้าชำระเงินผ่านวอลเล็ตร้านค้า คาดว่าจะเริ่มกับร้านค้ารายย่อยต้นเดือนพ.ค.นี้
“ในช่วงนี้เราเข้าไปพูดคุยกับพันธมิตรทุกหมวดสินค้าอย่างใกล้ ร่วมกันกลับมาทบทวนเรื่องต้นทุนและแคมเปญโปรโมชั่นกันใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ และหลังวิกฤตินี้ผ่านไปแล้ว จะทำอะไรบ้าง ยังประเมินกันอยู่ ยอมรับว่าทั้งการทำโปรโมชั่นและการขยายฐานบัตรใหม่เราก็ทำได้ยากขึ้น จากตอนนี้คนทุกระดับรายได้ได้รับผลกระทบกันหมด และในภาวะที่โลกไม่เหมือนเดิม ผู้คนก็ไม่ได้มีอารมณ์ที่จะจับจ่ายนัก รวมถึงธุรกิจไหนจะฟื้นกับมาก่อนตอนนี้เรายังไม่เห็นชัด แต่วิกฤตินี้จะเร่งให้คนและร้านค้าใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น เราก็ต้องเข้ามารองรับ”