คพ.เตรียมทำวิจัยแก้ปัญหา 'ฝุ่นPM2.5' ของไทย
คพ. ร่วมกับ วช. และสถาบันการศึกษา จัดทำงานวิจัยการแก้ไขปัญหา "ฝุ่นPM2.5" ของประเทศไทย
เมื่อวันที่ 22 เม.ย.63 นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า คพ.ได้ประชุมนักวิชาการ หารือรายละเอียดโครงการวิจัยการแก้ไขปัญหา PM2.5 ของประเทศไทย เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2563 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยงานวิจัยประกอบด้วย การประเมินมาตรการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ?การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง การศึกษาความเป็นไปได้ของการแทนที่รถดีเซลด้วย EV/NGV/EURO6 และการศึกษาแหล่งกำเนิดหลัก ฝุ่นPM2.5 ในกรุงเทพและปริมณฑล
นายประลอง กล่าวว่า งานวิจัยการประเมินมาตรการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" จะครอบคลุมประเด็นหลักๆ ได้แก่ 1) การนำมาตรการไปสู่การปฏิบัติ (implementation scenario) 2)ปริมาณ PM2.5 ที่ลดลง (emission reduction) 3) การประเมินผลด้านเศรษฐกิจ-สังคม-สุขภาพ (socio-economy-health)
นายประลอง กล่าวว่า งานวิจัยการศึกษาความเป็นไปได้ของการแทนที่รถดีเซลด้วย EV/NGV/EURO6 จะครอบคลุมประเด็น 1. ปริมาณ PM2.5 ที่ลดลง (emission reduction) 2. ความเป็นไปได้และความคุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์-สังคม-สุขภาพ 3. ความคุ้มค่าในการลงทุน 4. ปัญหาอุปสรรค และความเป็นไปได้ในด้านเทคนิค 5. บทวิเคราะห์สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่ต้องดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนความเป็นไปได้ดังกล่าว พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และมาตรการทางเลือกเชิงเทคนิคที่เหมาะสม
"สำหรับโครงการการศึกษาแหล่งกำเนิดหลัก PM2.5 ในกรุงเทพและปริมณฑล ประกอบด้วยกิจกรรมหลักที่สำคัญ ได้แก่ ศึกษาปริมาณการปล่อย PM2.5 จากแหล่งกำเนิดหลัก ทั้งภาคการจราจรขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม (โรงกลั่น โรงไฟฟ้า โรงเหล็ก โรงงานกำจัดกากของเสียหรือเตาเผาขยะ และอุตสาหกรรมหรือสถานประกอบการที่ใช้ ถ่านหิน น้ำมันเตา หรือชีวมวล เป็นเชื้อเพลิง) รวมทั้งแหล่งกำเนิดเชิงพื้นที่ ซึ่งจะมีการเก็บและวิเคราะห์ตัวอย่างในเชิงปริมาณและความเข้มข้นขององค์ประกอบใน PM2.5 จากแหล่งกำเนิดและในบรรยากาศ ซึ่งหัวข้องานวิจัยทั้ง 3 ประเด็น จะนำเสนอขอรับทุนจาก วช. เพื่อนำผลงานวิจัยมาใช้ในการการแก้ไขปัญหา PM2.5 ของประเทศไทย ต่อไป" นายประลอง กล่าว