เปิดรีวิว! เมื่อสื่อนอกถูก ‘กักตัว’ ในไทย 14 วันช่วงโควิด
หากใครสงสัยว่า การถูกกักตัว 2 สัปดาห์ในสถานที่กักตัวของรัฐบาลไทยเป็นอย่างไร ผู้สื่อข่าวชาวอเมริกัน-ไทย เผยประสบการณ์ตรงชีวิตในสถานกักตัวที่กำแพงแสน จ.นครปฐม หลังเดินทางเข้าประเทศไทย ชี้ข้อดี อาหารไทยอร่อย-เน็ต WiFi แรง แต่ต้องนอนร่วมห้องกับคนแปลกหน้า
เว็บไซต์ “เซาท์ ไชนา มอร์นิง โพสต์” เผยแพร่บทความของ Charles Dharapak ผู้สื่อข่าวอิสระที่สื่อสารด้วยภาพหรือวิดีโอ (Visual Journalist) ที่รีวิวเกี่ยวกับชีวิตตัวเองเมื่อเดินทางเข้าประเทศไทยหลังกลับจากอินโดนีเซียพร้อมกลุ่มคนไทยอีกกว่า 70 คนช่วงต้นเดือน เม.ย.
Charles ลูกครึ่งอเมริกัน-ไทย เผยว่า หลังจากผ่านกระบวนคัดกรองอันน่าเบื่อหน่ายนาน 3 ชั่วโมงที่สนามบินสุวรรณภูมิ เจ้าหน้าที่ไทยยังไม่ยอมปล่อยให้ทุกคนกลับบ้าน และบางคนมาถ่ายรูปกับผู้โดยสารกลุ่มนี้เสมือนว่าพวกเขาเป็นคนดัง
“ไม่ต้องกังวลครับ อดทนกันหน่อย” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งพูดผ่านหน้ากากอนามัย
- Charles Dharapak ผู้สื่อข่าวเชื้อสายอเมริกัน-ไทยที่เผยประสบการณ์ถูกกักตัว 14 วันในโรงเรียนการบินกำแพงแสน -
ผู้โดยสารกลุ่มนี้รู้สึกดีใจที่ได้กลับประเทศไทย ก่อนหน้านี้ หลายคนต้องติดอยู่ในต่างแดนและถูกยกเลิกเที่ยวบิน เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทาง แต่สุดท้ายก็ได้กลับบ้าน หรืออย่างน้อยก็คิดว่าเกือบถึงบ้านแล้ว
ในขณะที่ไม่มีใครทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ผู้โดยสารกว่า 70 คนนี้ก็ถูกพาขึ้นรถบัส และหลังจากเช็คข่าว Charles ก็พบว่า รัฐบาลไทยเพิ่งประกาศมาตรการคุมเข้มใหม่กับทุกเที่ยวบินขาเข้า เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่รับเชื้อมาจากต่างประเทศ
“เราจำเป็นต้องลดจำนวนคนเดินทางเข้าประเทศไทย” นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลง “เราต้องจำกัดจำนวนคนที่จำเป็นต้องถูกกักตัว”
ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่า คนไทยกลุ่มหนึ่งที่เดินทางกลับประเทศ ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หลังเข้าร่วมพิธีทางศาสนาในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มเสี่ยงโควิด-19
ผลปรากฏว่า ผู้โดยสารทุกคนที่มาเที่ยวบินเดียวกับ Charles ต่างถูกทางการไทยกักตัวเป็นเวลา 14 วัน โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า
“เราทุกคนกำลังเสียสละเพื่อส่วนรวม” เจ้าหน้าที่ไทยคนหนึ่งบอกกับกลุ่มผู้โดยสาร
Charles ซึ่งอาศัยในกรุงเทพฯ เล่าว่า ตอนเข้าไปสถานที่กักตัวที่ทางการไทยจัดเตรียมไว้ให้ ทั้งเนื้อทั้งตัวเขามีเพียงกางเกง 1 ตัวและกางเกงใน 1 ตัว แถมไม่มีแปรงสีฟันด้วย เขาถามนักเดินทางอีกคนที่นั่งข้างเขาบนรถบัสว่า มีวิธีออกไปจากที่นี่ไหม ชายคนนั้นตอบว่า “ที่นี่ไม่มีใครใหญ่กว่าคนอื่น”
พวกเขาเดินทางถึง "โรงเรียนการบิน กำแพงแสน" ของกองทัพอากาศ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 80 กม. ตอนเที่ยงคืน พื้นที่ดังกล่าวมีสปอตไลท์ส่องสว่างไปทั่วและกั้นรั้วบริเวณโดยรอบด้วยโลหะแผ่นหรือเมทัลชีท พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดแทบทุกมุม
เมื่อรถบัสมาถึงทางเข้า เจ้าหน้าที่ได้ทำการฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อโรคใส่ล้อรถบัสทั้ง 4 ล้อก่อนอนุญาตให้รถเข้าสถานที่
- นอนกับคนแปลกหน้า
Charles เผยว่า พวกเขาถูกมองว่าเป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อ และเมื่อลงจากรถบัส ก็มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ในชุดป้องกันทั้งตัวเหมือนในภาพยนตร์ไซไฟยืนรอตรวจคัดกรอง จากนั้นมีเสียงสุภาพประกาศผ่านโทรโข่งว่า “เราจัดเตรียมห้องพักสำหรับให้อยู่ห้องละ 2 คน แต่ละคนสามารถเลือกรูมเมทเอง และขอบคุณสำหรับความร่วมมือ”
ชายชุดดำที่ Charles คุยด้วยบนรถบัส พูดตอบเจ้าหน้าที่ขณะนั่งรอบนกระเป๋าเดินทางว่า “ผมไม่นอนกับใครทั้งนั้น คนเดียวที่ผมจะนอนด้วยคือภรรยาของผม”
แต่ดูเหมือนเขาจะไม่มีทางเลือกอื่น
จากนั้น เจ้าหน้าที่ให้ทุกคนก้าวลงถาดน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเพื่อทำความสะอาดรองเท้า พ่นยาฆ่าเชื้อกระเป๋าเดินทาง ตรวจวัดอุณหภูมิ และแจกหน้ากากอนามัยใหม่ให้
ส่วนเรื่องรูมเมท Charles ได้จับคู่กับชายไทยวัย 29 ปีที่กลับจากการไปเล่นเซิร์ฟที่บาหลี
- สิ่งอำนวยความสะดวก
สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานที่กักตัวของโรงเรียนการบินกำแพงแสน Charles บอกว่า เรียบง่ายแต่ค่อนข้างครบครัน ตรงใต้ขอบหน้าต่างมีป้ายระบุว่า “จุดตรวจวัดไข้” และ “จุดทิ้งขยะ” ซึ่งหมายความว่า ผู้ถูกกักตัวต้องมายืนริมหน้าต่างเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจวัดไข้และทิ้งขยะลงถังที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ผ่านช่องหน้าต่างทางเดียว โดยที่พวกเขาไม่ต้องออกมาจากห้อง
มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายทุกวันโดยจะมีเจ้าหน้าที่ 2 คนที่สวมชุดป้องกันทั้งตัวเดินวัดไข้ผู้ถูกกักตัวทีละห้อง ๆ ผ่านช่องหน้าต่าง
ในห้องพักถูกทำความสะอาดและจัดเป็นอย่างดี มีโทรทัศน์จอแบน เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และไม้ถูพื้น นอกจากนั้นยังมีเครื่องทำน้ำอุ่น กระดาษชำระแพ็คใหญ่ อินเทอร์เน็ตไวไฟความเร็วสูง เตียงนอนใหม่ 2 เตียง ของใช้ในห้องน้ำส่วนตัว 2 ชุด และชุดนอนโรงพยาบาลสำหรับ 2 คน
แม้รู้สึกกระอักกระอ่วนที่ต้องแชร์ห้องนอนเดียวกับคนแปลกหน้า แต่สุดท้าย Charles ก็หลับไปด้วยความเหนื่อยล้าจากการเดินทางคืนแรก
จากนั้นมา ในแต่ละวันที่อยู่ในสถานที่แห่งนี้ ผู้ถูกกักตัวต้องเจอกับเสียงผ่านลำโพงที่ดังก้องขึ้นเรื่อย ๆ และคำประกาศเสียงดังที่ได้ยินไม่ชัดเจนนัก ส่วนช่องทางสำคัญที่พวกเขาใช้สื่อสารโต้ตอบกับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลคือ “กลุ่มไลน์”
ขณะที่เรื่องอาหาร Charles เล่าว่า จะมีเจ้าหน้าที่ในชุดป้องกันไวรัสทั้งตัว นำอาหารไทยอร่อย ๆ มาให้วันละ 3 ครั้ง เช่น แกงต่าง ๆ ปลาทอด และข้าวสวย และการต้อนรับด้วยไมตรีจิตของไทย ทำให้นักเดินทางกลุ่มนี้ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี
- ครบ 14 วัน
ในวันสุดท้าย หรือวันที่ 14 ของการกักตัว Charles เล่าว่า ข่าวดีคือผลตรวจหาโรคโควิด-19 ในกลุ่มของเขาพบว่า “เป็นลบ” หมดทุกคน จากนั้น เขาได้คืนกุญแจห้องพร้อมกับ “ไหว้” ขอบคุณเจ้าหน้าที่ไทย
สำหรับห้องพักของสถานที่กักตัวแห่งนี้จะต้องถูกจัดเตรียมให้กับกลุ่มนักเดินทางชาวไทยกลุ่มต่อไปจำนวนหลายพันคน ที่กำลังเฝ้ารอวันกลับบ้าน
ขณะทยอยขึ้นรถบัส กลุ่มทหารอากาศในชุดลายพรางช่วยกันขนสัมภาระของนักเดินทางกลุ่มนี้ขึ้นเก็บบนรถอย่างเป็นระเบียบ และเจ้าหน้าที่ยังแจกของที่ระลึกให้ทุกคนเป็นหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และข้าวกล่องอร่อย ๆ อีก 1 อิ่ม
ในขณะที่รถบัสของนักเดินทางกลุ่มนี้เคลื่อนออกจากสถานที่กักตัวในกำแพงแสน เจ้าหน้าที่ไทยพากันตั้งแถวยืนปรบมือเป็นการอำลา
Charles บอกว่า รู้สึกซาบซึ้งใจ แต่ก็ยอมรับว่า ตอนนั้น ใจเขาคิดถึงบ้านตัวเอง เตียงนอนที่คุ้นเคย และกางเกงในตัวใหม่ใจจะขาดแล้ว