รพ.สังกัดสธ.ให้ผู้ป่วยเก่าพบแพทย์ออนไลน์ใช้ได้ทุกสิทธิ

รพ.สังกัดสธ.ให้ผู้ป่วยเก่าพบแพทย์ออนไลน์ใช้ได้ทุกสิทธิ

Telemedicine (เทเลเมดิซีน) ถือเป็นเทคโนโลยี ที่จะเข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพระบบสาธารณสุขของไทย ยกระดับมาตรฐานการให้บริการ เพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษา ลดระยะเวลาการนอนพักในโรงพยาบาล และค่าใช้จ่าย รับการวินิจฉัยอย่างทันท่วงที

จากสถานการณ์ภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคระบาดใหม่แต่แพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล ถึงการเดินทางมายังโรงพยาบาลซึ่งค่อนข้างลำบาก และหลายคนเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน และความดันโลหิต

นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายในงาน แถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 ณ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่า ปัจจุบันประชาชนยังคงมีความกังวลว่าการมาโรงพยาบาลค่อนข้างลำบากมากขึ้น ทางกระทรวงสาธารณสุข จึงจัดทำ “ระบบบริการทางการแพทย์แบบใหม่” (New Normal Medical Service) การรักษาออนไลน์ผ่านระบบ VDO Call และส่งยาทางไปรษณีย์ ผ่านแนวคิดยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ลดความแออัด ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาในสถานการณ์โควิด-19 (อยู่บ้าน เว้นระยะห่าง) ลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและญาติ เพิ่มขีดความสามารถการรักษา และนำเทคโนโลยีการรักษาส่งถึงบ้าน

158792526298

สำหรับ เกณฑ์ผู้ป่วยที่สามารถรับบริการ ได้แก่ ต้องเป็นผู้ป่วยเก่าที่ได้รับการประเมินจากแพทย์ว่าสามารถรับบริการได้ ผู้ป่วยต้องสมัครใจการรับบริการผ่าน VDO Call และรับยาทางไปรษณีย์ และผู้ป่วยหรือญาติสามารถใช้ สมาร์ทโฟน ในการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ สามารถลดความแออัดในโรงพยาบาลลงได้กว่า 30% ทั้งนี้ หากผู้ป่วยสนใจ สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ เซ็นยินยอม เข้ารับการรักษา รอแจ้งวันนัด โดยระบบดังกล่าว รองรับสิทธิการรักษาทุกสิทธิ ไม่เสียค่าใช้จ่ายและค่ายาเพิ่มเติม ค่าส่งยาทางไปรษณีย์ ขึ้นอยู่กับสิทธิการรักษา

“เมื่อผู้ป่วยตกลงกับ โรงพยาบาลว่าขอรับบริการถึงเวลาจะมีระบบโทรไปยังผู้ป่วยตามวันและเวลาที่นัดหมาย โดยบริการดังกล่าว ครอบคลุมโรคเรื้อรังทั้งหมด เช่น เบาหวาน ความดันที่รับยาคงที่ โรคกระดูก โรคระบบประสาท ผู้ป่วยเด็ก และผู้ป่วยมะเร็งที่อาการคงที่ แต่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง ไม่ลุกลาม” นายแพทย์ณัฐพงศ์ กล่าว

  • นำร่อง 27 รพ.สังกัดกรมการแพทย์

รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับบริการดังกล่าว เปิดให้บริการมาแล้วเป็นเวลา 2 เดือน นำร่องให้บริการใน 27 โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลสงฆ์ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ สถาบันทันตกรรม สถาบันประสาทวิทยา สถาบันพยาธิวิทยา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี สถาบันโรคผิวหนัง สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่

โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี โรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ จังหวัดชลบุรี และโรงพยาบาลเวชชารักษ์ จังหวัดลำปาง

158792557656

  • 2 เดือนให้บริการกว่า 4,316 คน

ปัจจุบัน ระบบบริการทางการแพทย์แบบใหม่ ให้บริการผ่าน VDO Call ทั้งหมด 4,316 คน เฉลี่ย 200 คนต่อวัน ผู้รับยาทางไปรษณีย์ทั้งหมด 7,717 คน เฉลี่ย 363 คนต่อวัน นอกจากนี้ ยังให้คำปรึกษาแก่โรงพยาบาลอื่นๆ ในต่างจังหวัดอีกด้วย

“สำหรับแผนงานในอนาคต คือ การขยายการบริการได้ทุกสถานพยาบาลในสังกัดสาธารณสุข เชื่อมโยงข้อมูลการรักษาระหว่างโรงพยาบาลและข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย  ผู้ป่วยสามารถเก็บข้อมูลการรักษาของตัวเองไว้ในแอปพลิเคชั่น นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาสู่ระบบการส่งต่อและให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ และขยายการบริการครอบคลุมกลุ่มโรคอื่นๆ มากขึ้น” นายแพทย์ณัฐพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการนำเทเลเมดิซีน (Telemedicine) มาใช้ในขั้นตอนการคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น โดยได้ร่วมกับ คลิกนิก เทเลเมดิซีน เปิดบริการคัดกรองผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดเบื้องต้น ผ่าน “คลิกนิก แอปพลิเคชัน” (clicknic Application) เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทั้งกับประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ลดความวิตกกังวล ลดการเคลื่อนที่ของผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำหรือผู้ที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาตรวจด้วยตนเองที่โรงพยาบาล โดยมุ่งหวังที่จะลดจำนวนคนเดินทางเข้ามาตรวจคัดกรองภายในโรงพยาบาล และเป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่ให้กับกลุ่มเสี่ยงสูงเข้ารับการตรวจยังโรงพยาบาลแทน

ขณะเดียวกันภาคเอกชน อย่าง โรงพยาบาลในเครือบีดีเอ็มเอส (BDMS) ได้นำร่องโดย โรงพยาบาลสมิติเวชและโรงพยาบาลกรุงเทพ นำนวัตกรรม Tytocare อุปกรณ์ตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้น ตัวช่วยเพื่อปรึกษาแพทย์ออนไลน์ (Teleconsultation) ลดการสัมผัส โดยเฉพาะในระหว่างรอผลตรวจเชื้อขณะพักอยู่โรงพยาบาลของการตรวจผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค ซึ่ง Tytocare เป็นการรวมชุดอุปกรณ์ตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้น ตรวจวัดอุณหภูมิ โดยเทอโมมิเตอร์ชนิดอินฟาเรด ตรวจปอดและหัวใจด้วยระบบการฟังเสียงและส่งข้อมูลเสียง รวมไปถึงหู ช่องคอและผิวหนัง ด้วยระบบรูปภาพและวิดีโอเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยผ่านระบบออนไลน์ ออกแบบให้ผู้ป่วยสามารถใช้งานได้เอง

158792524890

นอกจากนี้ โรงพยาบาลสมิติเวช ได้จัดทำ แอปพลิเคชั่น Samitivej Virtual Hospital” ที่มีบริการติดตามข้อมูลสุขภาพออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านโมบายแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า Engage Care โดยทีมผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่ต้องใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ตรวจวัดค่าสุขภาพเบื้องต้น เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและความแม่นยำในการบันทึกข้อมูล ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากโรคแทรกซ้อน

158792524634

ด้าน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดให้บริการ “บำรุงราษฎร์เอนิแวร์” แอปพลิเคชั่นดูแลและพัฒนาโดยผู้ผลิต Doctor Raksa ให้บริการในรูปแบบโทรเวชกรรม หรือเทเลเมดิซีน มีลักษณะการใช้งานคือ ผู้ใช้สามารถปรึกษาแพทย์ส่วนตัวได้ง่ายๆ ผ่านสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต แบบเรียลไทม์ โดยแพทย์สามารถวินิจฉัยอาการเบื้องต้น รวมทั้งแนะนำแนวทางการรักษา และข้อมูลสุขภาพต่างๆ สามารถปรึกษาแพทย์แบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชัน ได้ในเวลา 7.00 - 23.00 น. ของทุกวัน

158792524736

  • ปรึกษาแพทย์ออนไลน์เติบโตมากขึ้น  

นอกจากโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนจะให้ความสนใจการใช้เทเลเมดิซีนเพิ่มมากขึ้น เหล่าบรรดาผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเทเลเมดิซีน ยังพบว่ามีการใช้เพิ่มมากขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิด-19 อาทิ บริษัท Teladoc ซึ่งมีฐานอยู่ที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ระบุว่า การใช้งานเพิ่มขึ้น 47% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ Ping An Good Doctor ประเทศจีน ระบุว่า ยอดการใช้งานการปรึกษาแพทย์ผ่านระบบของ Ping An เพิ่มถึง 900%

ขณะเดียวกัน จากผลสำรวจของ Global Market Insights ระบุว่า มูลค่าตลาดโลกของ Telemedicine มีมูลค่า 38.3พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 จะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นไปถึง 130.5 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ19.2

ในส่วนของประเทศไทย Ooca (อูก้า) แพลตฟอร์มสำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษาปัญหากับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาในหลากหลายกลุ่มอาการ อาทิ ความเครียด ภาวะซึมเศร้า ปัญหาครอบครัว และการงาน ผ่านวีดิโอคอล พร้อมโปรแกรมวิเคราะห์ความเครียดหลังจากเกิดวิกฤติโควิด พบการใช้งานเพิ่มขึ้นทั้งยังเห็นกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาใช้มากขึ้น มีจำนวนการนัดหมายเพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเติบโตมากกว่าเท่าตัวโดยมีการนัดหมายแพทย์มากกว่า 700 ครั้ง เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

158792524831

ด้านแพลตฟอร์ม Chiiwii มีผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาประมาณ 10 เท่า หรือวันละกว่า 100 คน เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ เพราะประชาชนเริ่มหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านหรือการเดินทางไปโรงพยาบาล ซึ่ง Chiiwii ได้ทำงานร่วมกับกรมควบคุมโรค และกระทรวงดีอีเอสเปิดให้คำปรึกษาและคัดกรองคนไข้ฟรี เพื่อประเมินกลุ่มเสี่ยงก่อนที่จะไปโรงพยาบาล โดยหากเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงทางชีวีสามารถส่งตัวไปตรวจเชื้อที่โรงพยาบาลได้ทันทีไม่ต้องรอคิว ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาทำแบบฟอร์มนี้ได้

158792524948

สำหรับ แพลตฟอร์ม Doctor A to Z มีผู้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่า 100% ภายใน 1 สัปดาห์มีผู้เข้ามาใช้กว่า 2,000 คน โดยพบว่าส่วนใหญ่ผู้ใช้ที่เข้ามารับคำปรึกษาสาเหตุหลักๆ คือความกลัวและกังวล จากความไม่เข้าใจการติดต่อของโรคโควิด ล่าสุดแพลตฟอร์ม Doctor A to Z มีแพทย์อาสาเข้ามาให้บริการเพิ่มกว่า 100 คนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

158792524878