ปูพรมตรวจโควิด-19 ทั้งประเทศอาจไม่คุ้ม
สธ.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 7 ราย รวมยอดสะสม 2,938 ราย ใน 68 จังหวัด เสียชีวิตเพิ่ม 2 รายระบุปูพรมตรวจโควิด-19 ทั้งประเทศ ใช้งบกว่า 10,000 ล้านบาท อาจไม่คุ้ม ตรวจมากใช้ว่าพบเชื้อ ขณะนี้มีงบ 3,000 ล้านบาท ค้นหาเชิงรุกเฉพาะกลุ่ม ตรวจพบเจอมากกว่า
วันนี้ (28 เมษายน 2563) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าว สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ประจำวันนี้ ว่า ประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 7 ราย รวมยอดสะสม 2,938 ราย ใน 68 จังหวัด เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย รวม 54 ราย โดยรายที่ 53 ชายไทยอายุ 52 ปี สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน และรายที่ 54 เป็นผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 63 ปี อาชีพค้าขาย มีภาวะอ้วน และสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน รักษาหายหายกลับบ้านเพิ่ม 43 ราย รวม 2,652 ราย คิดเป็น 90.27 %ผู้ป่วยรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล 232 ราย
ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20-29 ปี จำนวน 703 ราย อายุมากที่สุด 97 ปี และน้อยที่สุด 1 เดือน อายุเฉลี่ย 39 ปี แบ่งตามภูมิภาค กรุงเทพฯ นนทบุรี 1,650 ราย ภาคเหนือ 94 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 ราย ภาคกลาง 373 ราย และภาคใต้ 671 ราย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เสียชีวิต ส่วนใหญ่มีการสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ ดังนั้น อยากให้ทุกคนรักษาระยะห่างทางบุคคล ซึ่งแม้เป็นคนในครอบครัวก็ต้องเฝ้าระวังเรื่องนี้ อยากให้ทุกคนระวัง เพราะทุกคนมีโอกาสติดเชื้อ และเป็นผู้แพร่เชื้อได้
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ วันที่ 28 เมษายน จำนวน 7 ราย แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 7 ราย คือ ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ (ภูเก็ต (3) กทม.และนครราชสีมา) 5 ราย ผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ โดยไปสถานที่ชุมนุมแออัด เช่น งานแฟร์ คอนเสิร์ต ตลาดนัด (กทม.) 1 ราย และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค (กทม.)1 ราย
ฝากญาติผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ ป้องกันตนเอง
โฆษกศบค. กล่าวต่อว่ากองระบบวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการวิเคราะห์ผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 60ปีขึ้นไป เดือนมกราคม -26 เมษายน จำนวน 328 ราย หรือ 11% ของผู้ป่วยทั้งหมด พบผู้เสียชีวิตจำนวน 21 ราย (อัตราป่วยตายในกลุ่มช่วงอายุนี้ เท่ากับร้อยละ 6.4%) เป็นสัดส่วนชาย:หญิง คือ 2.3:1 ชายไทย 86% และชาวต่างชาติ 14%
โดยปัจจัยเสี่ยงที่พบในผู้ป่วยอายุ 60 ปี คือ พิธีศาสนา 79 ราย (24%) เกี่ยวข้องกับมวย และผู้สัมผัส 78 ราย (24%) สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 58 ราย (18%)ชาวต่างชาติเดินทางมาจากต่างประเทศ 31 ราย (10%)อาชีพเสี่ยง/ไปสถานที่ชุมนุมแอดอัด 23 ราย (7%) ชาวไทยต่างทางมาจากต่างประเทศ 22 ราย (6%) และอื่นๆ 35 ราย (11%)
เมื่อพิจารณาเป็นจังหวัด พบว่า3 จังหวัดอันดับแรกที่มีอัตราผู้ป่วยจำเพาะตามช่วงอายุสูงสุด (คำนวณเฉพาะผู้ป่วยไทย) พบว่า จังหวัดยะลา อัตราป่วยจำเพาะ(ต่อประชากรกลุ่มช่วงอายุเดียวกัน 100,000 คน) เท่ากับ 54.3 ภูเก็ต 33.7 และปัตตานี 22.3 ซึ่งในส่วนของจังหวัดยะลาและปัตตานีนั้นมีความเชื่อมโยงกับผู้ประกอบพิธีศาสนาในต่างประเทศ ดังนั้น ฝากไปยังพี่น้องประชาชนที่มีความเสี่ยงในจังหวัดต่างๆ ขอให้ดูแลตัวเองและญาติพี่น้องของตัวเองเป็นอย่างดี
ปูพรมตรวจทั่วประเทศ ใช้งบหมื่นล้านอาจไม่คุ้ม
โฆษกศบค. กล่าวด้วยว่าสำหรับกรณีที่มีการแนะนำให้มีการปูพรมตรวจค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ โดยใช้งบ 10,000 ล้านบาท แต่จะทำให้ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ ทุกคนได้ใช้ชีวิตเหมือนเดิมนั้น ต้องขออธิบายว่าการตรวจเป็นเรื่องที่ต้องใช้ข้อมูลในเชิงวิชาการ มาร่วมกับนโยบายในการบริหารจัดการ ของภาครัฐ ซึ่งขณะนี้การตรวจเชื้อที่ดีที่สุด ต้องใช้ PCR หรือการตรวจโดยการใช้ไม้กับสำลีเข้าไปตรวจโพรงจมูก และมีการตรวจอีกรูปแบบโดยการใช้น้ำลาย
จากการหารือของทุกภาคส่วน ประเทศไทยยังคงต้องการตรวจแบบมาตรฐาน หรือ PCR ที่ต้องมีทั้งการใช้คน ใช้ชุด เพราะจะทำให้สามารถตรวจเชื้อได้เป็นอย่างดี และตอนนี้ทางสธ.ได้วางงบประมาณไว้ประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการค้นหาเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง เช่น กลุ่มแรงงานต่างด้าว เป็นการค้นหาที่ทำให้ได้ผู้ป่วยจำนวนมาก
“จากข้อมูลทางวิชาการ และการดำเนินการในการตรวจต่างๆ พบว่า การตรวจมากหรือตรวจน้อย ก็เจอผู้ป่วยไม่ได้แตกต่างกัน ซึ่งการปูพรมตรวจทั้งประเทศ ต้องเสียงบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท และสามารถตรวจคนได้เป็นหมื่น เป็นแสนราย ก็อาจตรวจเจอเพียงนิดเดียว ขณะที่การตรวจเฉพาะกลุ่ม ค้นหาเชิงรุกกลับได้ผลมากกว่า” นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว
ฉะนั้น การตรวจเป็นหมื่น หรือแสนราย ต้องใช้ 10,000 ล้าน คงไม่ไหว แต่ใช้เพียง 3,000 ล้าน ก็สามารถค้นหาเจอ อีกทั้งขณะนี้ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจรายการทุกเขตของไทย ไปกำหนดเฉพาะกลุ่ม และประสานกับสปสช. และแหล่งควบคุมโรคเพื่อลงตรวจกลุ่มเสี่ยง ภายใน 2 สัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นช่วงผ่อนปรนมาตรการ คาดว่าจะทำให้ได้ผลตรวจที่ชัดเจน และกลุ่มผู้ติดเชื้อที่จะได้นำมาดูแลรักษา อย่างดีต่อไป
เตือนคนกทม.ยังเบาใจไม่ได้ ต้องป้องกันตนเอง
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่าจากการที่ไม่พบตัวเลขผู้ติดเชื้อในเขตกทม. เมื่อวานนี้ และวันนี้มีการพบเพียง 3 รายนั้น ต้อขอชื่นชมคนกทม.ทุกคน ที่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยลง แต่คงจะเบาใจไม่ได้ เพราะส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับวิธีการค้นหาเคสต่างๆด้วย เพราะไม่ใช่ว่าเชื้อเป็นศูนย์ หรือมี 3 ราย แล้วไม่มีผู้ติดเชื้อ ต้องมีการค้นผู้ติดเชื้อให้มากขึ้น
ดังนั้น ทุกคนอย่าเบาใจแล้วกลับไปใช้วิถีชีวิตเหมือนเดิมไม่ได้ ตอนนี้ทุกคนยังอยู่กับเชื้อโรค และไม่มีใครทราบได้ว่าเป็นหรือไม่เป็น เนื่องจากคนประมาณ 80% ที่อาจจะติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการน้อยมาก เพราะฉะนั้น ต้องป้องกันตนเอง และต้องปฎิบัติตัวอย่างเข้มข้นในการป้องกันควบคุมมาตรการต่างๆ เพื่อคุมต่อไปใน 14 วัน ข้างหน้า ตัวเลขวันนี้เป็นผลจาก 14 วันที่ผ่านมา หากทุกคนไม่ทำตัวแบบเหมือน 14 วันที่ผ่านมา แต่ปล่อยปะละเลยก็อาจจะทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งก็มีตัวอย่างในหลายๆ พื้นที่ หรือหลายๆ ประเทศ
ส่วนในกลุ่มผู้ประกอบการต่างๆ ที่จะเปิดให้บริการนั้น ขอย้ำให้ดำเนินการตามมาตรการกลางที่กำหนดใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็น การทำงานความสะอาดพื้นผิวก่อนทำกิจการ หรือกิจกรรมใด ๆ ทุกคนต้องสวมใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างทางบุคคล อย่างน้อย 1 เมตร เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่างๆ มีปรากฏอยู่แล้ว
ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไร มาตรการเหล่านี้ เป็นมาตรการที่ทุกคน ทุกสถานประกอบการต้องทำ ขอให้ทุกคนใช้ชีวิตวิถีใหม่ ปรับตัว เรา เพื่อป้องกันตนเอง ญาติ และทั้งประเทศจะไม่ป่วยรวมถึงกลับสู่ภาคปกติ การค้า การขาย เศรษฐกิจกลับมาโดยเร็ว เพื่อการสูญเสียน้อยที่สุด