'สุวัจน์' เปิดครัวหลวงพ่อ แจกข้าวกล่อง เชื่อรัฐเร่งแก้วิกฤติคู่ขนานโควิด-เศรษฐกิจ
เปิดครัวหลวงพ่อ ศูนย์คนโคราชรักจริงไม่ทิ้งกัน แจกอาหารกล่องช่วยชาวโคราช ประเมินเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะกลับสู่ยุคถดถอยเหมือนสมัยสงครามโลก รัฐบาลต้องระดมข้อคิดเห็นเดินหน้ามาตรการแก้วิกฤติโควิดและเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน เพื่อให้ชนะวิกฤติทั้ง 2 ด้าน
วันนี้ (30 เมษายน 2563) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา และอดีตรองนายกรัฐมนตรี เปิดที่ทำการ “ศูนย์คนโคราชรักจริงไม่ทิ้งกัน ร่วมฝ่าวิกฤติโควิด-19” ซึ่งอยู่ภายในสำนักงานพรรคชาติพัฒนาริมถนนมิตรภาพ ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ตั้งโรงครัวปรุงอาหารบรรจุกล่อง แจกจ่ายช่วยเหลือประชาชนในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้ตกงาน หรือต้องหยุดงานชั่วคราว ไม่มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพโดยมีคณะสงฆ์และแม่ครัวจากวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา มาเปิด “ครัวหลวงพ่อ” ทำข้าวกล่องให้รับประทาน ขณะที่กลุ่มสตรีแม่บ้าน อสม.อำเภอเมืองนครราชสีมา ก็ตั้งโรงครัวขั่วหมี่โคราช และทำข้าวผัดกะเพราไก่ไข่ดาว แจกจ่ายด้วยเช่นกัน
นายสุวัจน์ ฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเกือบ 1 เดือน ทาง “ศูนย์คนโคราชรักจริงไม่ทิ้งกัน ร่วมฝ่าวิกฤติโควิด-19” ได้ดำเนินการแจกจ่ายหน้ากากผ้าและผลิตแอลกอฮอล์ วันละประมาณ 3,000 ชุด แจกจ่ายพี่น้องชาวโคราชให้ได้ใช้ป้องกันโรคโควิด-19 พร้อมกับฉีดพ่นฆ่าเชื้อไวรัสโควิดในสถานที่ต่างๆ ตามที่ร้องขอเข้ามา วันละกว่า 10,000 ตารางเมตร แต่นอกเหนือจากผลกระทบด้านสุขภาพแล้ว ยังมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจเกิดขึ้นด้วยทางศูนย์คนโคราชรักจริงไม่ทิ้งกันฯ จึงทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม โดยจัดแจกอาหารกล่องให้กับผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว
ซึ่งมีกลุ่มแม่บ้าน-กลุ่มสตรีจากพื้นที่ต่างๆ เข้ามาสนับสนุนเปิดครัวทำอาหารแจกประชาชนที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจ โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ปกครองฯ มาช่วยจัดระเบียบการจัดแจกตามมาตรการป้องกันโรคที่กำหนดไว้ เบื้องต้นจะเริ่มแจกวันละ 1,000 ชุด ในช่วงเวลา 11.00 น.-14.00 น. และจะเพิ่มจำนวนขึ้นอีกเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งถือเป็นการส่งต่อน้ำใจให้กันของพี่น้องชาวโคราช ได้บรรเทาความเดือดร้อน เพื่อผ่านวิกฤติโควิด19 นี้ไปได้ด้วยกัน
ส่วนการบริหารจัดการแก้วิกฤติโควิด19 พบว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น แต่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก็ต้องเดินหน้าควบคู่กันไป จะเห็นว่ารัฐบาลพยายามทำงานเชิงรุกให้ครอบคลุมที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 5,000 บาท ในกลุ่มผู้ว่างงาน ตกงาน และเกษตรกร แต่อาจจะมีติดขัดบ้างเพราะเป็นช่วงเริ่มต้นดำเนินการ ทางหน่วยงานต่างๆก็ต้องรีบไปแก้ไขปัญหา เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงการช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนเรื่องการกู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาทเข้ามาแก้วิกฤติปัญหาตรงนี้ สุวัจน์ บอกว่ารัฐบาลก็ต้องชี้แจงฝ่ายค้านให้ความเข้าใจเมื่อมีการเปิดสภาฯ ว่า เงิน 1.9 ล้านล้านบาทภายใต้พระราชกำหนดฯ จะสามารถกอบกู้เศรษฐกิจ และมีรายละเอียดดำเนินการที่ชัดเจนอย่างไรบ้าง ซึ่งเชื่อว่าหลังจากชี้แจงทำความเข้าใจไปแล้ว ก็จะสามารถเยียวยาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในยามที่ประสบปัญหาได้
ส่วนกรณีที่รัฐบาลเชิญ 20 มหาเศรษฐีของไทยมาหารือขอคำปรึกษานั้น ตนมองว่า วิกฤติรุนแรงของประเทศขณะนี้ มี 2 เรื่อง ที่ถือเป็นวิกฤติระดับโลกด้วยเพราะทุกประเทศก็ได้รับผลกระทบ ได้แก่ วิกฤติสาธารณสุข และวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งมีการประเมินกันว่า ปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะติดลบทั้งหมด จะเป็นครั้งแรกที่กลับไปสู่ยุคเศรษฐกิจถดถอย เหมือนกับสมัยสงครามโลก จึงเชื่อว่า รัฐบาลพยายามจะแสวงหาแนวทางและเปิดรับข้อคิดเห็นจากทุกฝ่าย แล้วรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆกำหนดเป็นมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาแบบคู่ขนานให้มีประสิทธิภาพที่สุด
ส่วนเรื่องการปลดล็อค ผ่อนปรนมาตรการต่างๆนั้น ต้องมองว่า ถ้าปัญหาโควิดระบาดเริ่มคลี่คลาย ทางรัฐบาลก็จะเริ่มผ่อนปรนปลดล็อคบางมาตรการคู่ขนานกันไป เพื่อลดผลกระทบและแรงกดดันทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งก็ต้องดูว่า ตอนนี้สถานการณ์ของประเทศอยู่ในระดับที่คลายล็อคได้หรือยัง และหากคลายล็อคไปแล้ว ปัญหาโรคโควิด19แพร่ระบาดจะต้องไม่กลับมาด้วย
“การพิจารณาผ่อนปรนคลายล็อคในส่วนใด ก็ต้องมีมาตรการป้องกันโรคกำกับด้วย ซึ่งถือเป็นการคลายล็อคแบบมีเงื่อนไข และเป็นการส่งสัญญาณที่ดี ทำให้ประชาชนมีกำลังใจว่าต่อจากนี้ไปจะเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้ก็ต้องบริหารมาตรการป้องกันควบคู่กันแบบคู่ขนาน เพื่อให้ชนะวิกฤติปัญหาทั้ง 2 ด้าน ซึ่งคิดว่า ตอนนี้รัฐบาลกำลังรวบรวมข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่า จะผ่อนปรนในเรื่องใดบ้าง และจะเริ่มเมื่อไร" นายสุวัจน์ กล่าว.