'สมคิด' ตั้ง 4 เกณฑ์ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เร่งเคาะเงื่อนไขใช้งบ พรก.กู้เงิน

'สมคิด' ตั้ง 4 เกณฑ์ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เร่งเคาะเงื่อนไขใช้งบ พรก.กู้เงิน

“สมคิด” สศช.เข้ม 4 เกณฑ์ใช้เงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท เน้นสร้างเศรษฐกิจฐานราก สรัางงาน นำเสนอ ครม.เดือน พ.ค.นี้ ก่อนดันงบลงระบบเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงทำให้รัฐบาลต้องเร่งเตรียมงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ที่ผลการระบาดของโรคอาจจะลดน้อยลง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เป็นคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายงบประมาณภายใต้ พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา

นายสมคิด กล่าวว่า เดินทางมามอบนโยบายให้ สศช.เร่งออกหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณส่วนหนึ่งจาก 1 ล้านล้านบาท จาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน โดยต้องการให้ สศช.วางหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนให้หน่วยงานราชการเข้าใจตรงกัน เบื้องต้นการพิจารณาโครงการต้องเสร็จภายในเดือน พ.ค.นี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลทำโครงการเยียวยาแล้ว 3 เดือน แต่ในเดือน พ.ค.-ต.ค.นี้ ซึ่งจะเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ ช่วงนี้ต้องหาทางพยุงจนกว่าจะได้งบเพื่อให้คนที่ไปอยู่ต่างจังหวัดมีงานทำ มีรายได้ เน้นมาตรการที่ก่อให้เกิดกำลังทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น เพราะถ้าเน้นการส่งออกหรือท่องเที่ยวคงลำบาก จึงต้องเน้นโครงการการสร้างกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศในท้องถิ่น แต่ละจังหวัดและชุมชน ผ่านการใช้แนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก 

ตั้งกรอบพิจารณางบ4ด้าน

สำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่ได้เสนอแนะให้ สศช.วางเป็นกรอบในการอนุมัติโครงการ 4 ข้อได้แก่

1.โครงการที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์

2.โครงการพัฒนาและเพิ่มแหล่งน้ำในชนบท ซึ่งเมื่อมีแหล่งน้ำ ชลประทานที่ดีขึ้นก็จะทำให้สามารถเพิ่มการเพาะปลูกได้ 

3.การฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน และพื้นที่ต่างๆซึ่งในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะซ่อมแซม ทะนุบำรุงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆให้มีความพร้อมรองรับแหล่งท่องเที่ยวเมื่อโควิด-19 คลี่คลายแล้ว

4.โครงการเกี่ยวกับการฝึกและพัฒนาอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น 

นายสมคิด กล่าวว่า หัวใจสำคัญ คือ ต้องสร้างงานให้เกิดขึ้นมาให้ได้ ให้คนมีอาชีพและรายได้ โดยเฉพาะการจ้างงานในชนบท ซึ่งปีนี้โควิด-19 กระทบกับเศรษฐกิจตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ 1 และในไตรมาสที่ 2 ก็กระทบหนักทั้งไตรมา่สมีการหยุดชะงัก ซึ่งต้องอาศัยโครงการเหล่านี้และการปรับงบประมาณปี 2564 ให้รองรับกับการดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศ 

"ในระยะต่อไป สศช.ต้องดูการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากเดิมที่เคยมี High growth อยู่ในเรื่องการส่งออกและท่องเที่ยวต้องเพิ่มการพึ่งพาในประเทศ นำแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ”

เน้นจ้างงานมากที่สุด

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่าคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน ได้มีการหารือในเบื้องต้นถึงหลักเกณฑ์สำหรับการพิจารณาการอนุมัติโครงการที่เสนอเข้ามาในกรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาทสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 2 ข้อได้แก่ 

1.เป็นโครงการที่เกิดผลกระทบเศรษฐกิจและการจ้างงานมากที่สุด โดยมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชน สร้างการจ้างงาน มีผลต่อเศรษฐกิจโดยเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มีเม็ดเงินลงภายในปีนี้ 2.ความโปร่งใสของการอนุมัติโครงการและการเบิกจ่ายโครงการ ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป 

สำหรับกรอบระยะเวลาการดำเนินงานในส่วนของแผนงานและโครงการพิจารณาโครงการในวงเงิน 4 แสนล้านบาท สศช.ได้วางแผนการทำงานในเดือน พ.ค.นี้ โดยสัปดาห์ที่ 1 จะร่างกรอบนโยบายให้คณะกรรมการกลั่นกรองเห็นชอบ จากนั้นวันที่ 7-8 พ.ค.นี้ สศช.จัดรับฟังความเห็นการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 

ทั้งนี้ จะเชิญภาคเอกชน นักวิชาการ และภาคส่วนต่างๆมาเสนอความเห็นการใช้เงินกู้ตามกรอบนโยบาย (Focus Group/Public Hearing) เพื่อเสนอ ครม.วันที่ 12 พ.ค.จากนั้นช่วงที่เหลือของเดือน พ.ค.นี้ สศช.จะเริ่มพิจารณาโครงการที่มีการนำเสนอเข้ามา และทำเวิร์คช็อปกับหน่วยงานเจ้าของโครงการเพื่อให้โครงการเริ่มอนุมัติได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้