วิกฤติไวรัสเอเชีย โอกาสธุรกิจ 'ฟินเทค'
การระบาดของ "โควิด-19" เปิดโอกาสให้การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบออนไลน์ขยายตัวอย่างต่อเนื่องสวนทางกับธุรกิจอื่นๆ
คำกล่าวที่ว่า “ในวิกฤติยังมีโอกาส” ใช้ได้ดีกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ในขณะนี้ ที่เปิดโอกาสให้การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบออนไลน์ขยายตัวอย่างต่อเนื่องสวนทางกับธุรกิจอื่นๆ ที่ซบเซาช่วงโรคโควิด-19 ระบาด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปและรัฐบาลหลายประเทศออกกฎระเบียบใหม่รองรับการทำธุรกรรมการเงินผ่านออนไลน์มากขึ้น
เมื่อครั้งที่ เลห์แมน บราเธอร์ส ยื่นล้มละลายเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ปี 2551 บรรดาเทรดเดอร์ของฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสำหรับสถาบันสหรัฐหลายเป็นหนึ่งในกลุ่มชาวอเมริกันหลายๆ กลุ่มที่เริ่มหมดความเชื่อถือในระบบธนาคารรูปแบบดั้งเดิม
และ 7 ปีต่อมา "นิโคเลย์ สโตรอนสกี้" ก็เปิดตัว "รีโวลุท" ซึ่งทุกวันนี้เป็นหนึ่งในบริษัทฟินเทคที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งที่สุดในทวีปยุโรป
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจไม่เชื่อว่าสตาร์ทอัพเทคโนโลยีทางการเงินจะเป็นผลพวงของวิกฤติการเงินโลก แต่ความเป็นจริงที่ปรากฏ คือ ธุรกิจสตาร์ทอัพฟินเทคเหล่านี้เติบโตได้เพราะวิกฤติการเงิน
พอมาถึงยุคนี้ ที่ทั่วโลกกำลังรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ องค์ประกอบของเรื่องราวไม่ต่างกันกับช่วงเกิดวิกฤติการเงิน ทำให้เหล่าผู้ประกอบการในแวดวงการเงินพากันปรับตัวอีกครั้ง และถ้าโชคดีพอ การระบาดของโรคโควิด-19 อาจทำให้เกิดฟินเทคยุคใหม่ เวอร์ชัน 2.0
ภูมิภาคเอเชีย ซึ่งปัจจุบันถือเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมฟินเทคของโลก เป็นภูมิภาคที่จะเป็นแกนนำสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ โดยเฉพาะกับบริษัทต่างๆ ที่เอาตัวรอดจากวิกฤติการเงินมาได้ แม้ว่าวิกฤติสาธารณสุขทั่วโลกที่เกิดขึ้นถือเป็นข่าวร้ายของบริษัทฟินเทคและบริษัทสตาร์ทอัพ เราจะได้ยินข่าวร้ายเกี่ยวกับบริษัทเหล่านี้เพิ่มขึ้นแทบทุกวัน ทั้งการปลดพนักงาน การผิดนัดชำระหนี้ หรือแม้แต่ข่าวปัญหาการขาดสภาพคล่องของบริษัทเหล่านี้
แต่ภูมิภาคเอเชียที่ธุรกิจฟินเทคมีความหวังมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ กลับมีปัญหาเรื่องประชากรมีมือถือเครื่องแรกในจำนวนจำกัด มีปัญหาประชากรเข้าไม่ถึงสินเชื่อของธนาคารและในหลายกรณี ประชากรไม่มีแม้แต่บัญชีเงินฝากของธนาคาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้แตกต่างอย่างมากกับในยุโรปหรือในสหรัฐ
กระแสความนิยมในธุรกิจฟินเทคช่วง2-3ปีที่ผ่านมา ทำให้เหล่านักลงทุนหันไปลงทุนในบริษัทให้บริการกู้เงินทางออนไลน์กันมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทต่างๆ ที่แทบไม่มีรายได้ กลับมามีรายได้มากกว่าที่คาดไว้ด้วยซ้ำ เช่น เมื่อปีที่แล้ว ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพรายหนึ่งในอินเดีย ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการระดมทุนเข้าบริษัทจากบริษัทเพื่อการลงทุนทั่วโลกมูลค่า 25 ล้านดอลลาร์
ส่วนบริษัทที่ไม่ได้เริ่มต้นธุรกิจด้วยการปล่อยกู้อย่างบริษัทแกร็บและบริษัทโกเจ็ก สตาร์ทอัพชื่อดังในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมองเห็นโอกาสที่จะทำเงินก้อนโตในธุรกิจให้บริการทางการเงิน
เทคโนโลยีฟินเทคเข้ามาเปลี่ยนบทบาทของธุรกิจบริการทางการเงินแบบดั้งเดิม ที่เคยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการระดมเงินทุน จัดสรรเงินทุน การชำระราคา หรือบริการทางการเงินในรูปแบบต่างๆ ด้วยโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับผู้เล่นที่หลากหลายเพียงแค่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีก็สามารถเข้าสู่ฟินเทคได้จึงเห็นการลงทุนในธุรกิจนี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ทุกวันนี้ บริษัทฟินเทคในสิงคโปร์ยังคงดึงดูดเงินทุนจากทั่วโลกมากที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่ง และสิงคโปร์ยังเป็นฐานที่มั่นอันดับหนึ่งในภูมิภาคสำหรับบรรดาบริษัทฟินเทค โดยเป็นที่ตั้งของบริษัทฟินเทค 45% จากทั้งหมดในอาเซียน
เหตุผลที่บริษัทฟินเทคในสิงคโปร์ดึงดูดใจนักลงทุน เพราะรัฐบาลสิงคโปร์ส่งเสริมนวัตกรรมฟินเทคในภาคส่วนต่างๆ เงินทุนสำหรับบริษัทฟินเทคในสิงคโปร์จึงมีการกระจายอย่างทั่วถึง โดยมีนวัตกรรมการประกันภัย การชำระเงิน และการเงินส่วนบุคคลเป็นภาคส่วนที่ได้รับเงินทุนมากที่สุด ซึ่งเงินทุนที่กระจายอย่างทั่วถึงนี้ สะท้อนถึงภูมิทัศน์ด้านฟินเทคในสิงคโปร์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ที่อุตสาหกรรมฟินเทคยังคงใหม่และเน้นไปที่นวัตกรรมการชำระเงินเป็นส่วนใหญ่
แต่การขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคที่มีความหลากหลายที่สุดแห่งหนึ่งในโลกไม่ใช่เรื่องง่าย เพื่อเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จ บริษัทฟินเทคต้องแสวงหาพันธมิตรที่สามารถมอบประสบการณ์ ข้อมูลเชิงลึก และสร้างสายสัมพันธ์ เพื่อรับมือกับกฎเกณฑ์และภูมิทัศน์การดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศในอาเซียน โดยความแข็งแกร่งทางการเงิน การนำเสนอคุณค่า และบุคลากรมากความสามารถถือเป็นกุญแจไขไปสู่ความสำเร็จในอาเซียน