คุมเข้ม 28 วันห้ามทำผิดกฎหมาย โยกกำลังด่านโควิด-เคอร์ฟิว จัดชุดตรวจสถานประกอบการ
ศบค. คุมเข้มสถานประกอบการ 28 วัน หากพบทำผิดข้อกำหนด ให้เจ้าหน้าที่ตักเตือน ไม่ปฏิบัติตามสั่งปิดกิจการ โยกกำลังจากด่านตรวจโควิด-เคอร์ฟิว สมทบชุดตรวจทุกพื้นที่ ปลัดมหาดไทย ชี้คนตกงานของออกจากจ.ภูเก็ต 5 หมื่นคน ออกหนังสือให้เดินทางผ่านได้ทุกจังหวัด ไม
ภายหลังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยให้เปิดกิจการได้ตามที่กำหนดเอาไว้ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) แถลงว่า วันเดียวกันนี้เป็นวันแรกของการใช้มาตรการผ่อนคลาย แน่นอนว่าจะทำให้ชีวิตทุกคนเปลี่ยนแปลงไป คือ การผ่อนคลายมาตรการ เพื่อให้กิจการบางประเภทที่เคยปิดให้กลับมาเปิดดำเนินการได้
โดย 2 วันที่ผ่านมา เกิดการเดินทางเป็นจำนวนมาก เพราะอาจเกิดความคลาดเคลื่อนในการสื่อความหมายของการผ่อนคลาย จากมาตรการที่เคยปิดให้มาเปิดได้ ดังนั้นการเดินทางไม่ใช่คำแนะนำที่รัฐบาลประสงค์ให้ทุกคนปฏิบัติได้ แต่ยังคงงดหรือลดการเดินทางข้ามเขตจังหวัด เว้นแต่มีเหตุจำเป็นและต้องแสดงหลักฐาน และเมื่อเดินทางไปแล้วจะต้องเจอกับจุดตรวจเข้มคนของจุดตรวจทั้งหลาย
ขณะเดียวกัน ศบค. ได้มอบหมายให้ฝ่ายความมั่นคงทำหน้าที่ไปตรวจ ให้เป็นไปตามหลักการใหญ่ของการผ่อนคลาย เช่น เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่เดินทางไปซื้อของ ไปร้านค้า ซึ่งนายกฯเกรงว่าอาจจะมีการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามมาตรการที่กำหนดจึงมอบหมายตนไปดู และเมื่อได้ไปสุ่มตรวจในบางซูเปอร์มาร์เก็ต พบว่าอาจจะมีความคลาดเคลื่อนหรือขาดความพิถีพิถันในการดำเนินการไปบ้าง ซึ่งก็ได้รับการแก้ไขแล้ว
ทั้งนี้ หากชุดตรวจของฝ่ายความมั่นคงตรวจแล้วพบว่า สถานประกอบการนั้น ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดหลักก็ต้องตักเตือน ถ้าไม่ทำอีกก็จะปิด เพราะเป็นความรับผิดชอบต่อคนในภาพรวม ไม่ได้ประสงค์ต่อการกันแกล้ง เพื่อให้ทุกคนที่ไปใช้บริการเกิดความมั่นใจว่าสถานที่ที่เข้าไปนั้น ปลอดภัยพอเพียง นี่คือความยืดหยุ่นผ่อนคลาย
ส่วนการตั้งจุดตรวจโควิด-19 ลดลงแล้ว เหลือ 312 จุด และจุดตรวจเคอร์ฟิว เหลือ 690 จุด และจะไปเพิ่มชุดออกสุ่มตรวจความพร้อมของสถานประกอบการ ที่จะดำเนินการจริงจังเข้มข้นในห้วง 28 วันจากนี้ไป ขอย้ำเป็นการผ่อนคลายมาตรการ เพื่อให้กิจการบางประเภทกลับมาเปิดได้ แต่ไม่ใช่เราผ่อนคลายตัวเอง ขอให้การเดินทางไปที่ใดก็ตามของทุกคน คงเป็นไปตามคำแนะนำของรัฐบาล ต้องคงวินัยตัวเองอย่างนี้ตลอดไป ยังไม่ถึงเวลาผ่อนคลาย
ขณะที่ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงนามโทรสารในราชการกระทรวงมหาดไทย จากศบค. ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด (ยกเว้นจังหวัดภูเก็ต) มีเนื้อหาให้จังหวัดที่เป็นเส้นทางผ่านของผู้ที่ประสงค์จะเดินทางกลับภูมิลำเนากรณีมีเอกสารรับรองทางการคัดกรองกระบวนการกักตัวจากจังหวัดภูเก็ตเป็นเวลา 14 วัน ให้พิจารณาตามความเหมาะสม
โดยไม่จำเป็นจะต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัว ณ จังหวัดที่เป็นจุดตรวจคัดกรองอีก ส่วนจังหวัดปลายทางซึ่งเป็นจังหวัดภูมิลำเนาของผู้เดินทาง ให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกัน หากมีกรณีสงสัยหรือบ่งชี้ที่ชัดเจน ให้พิจารณานำเข้าสู่กระบวนการกักตัวเพื่อสังเกตอาการ ณ ที่พักอาศัยได้ตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ นายฉัตรชัย กล่าวว่า มีประชาชนที่ไม่ใช่เป็นคนในพื้นที่ภูเก็ตรวมประมาณ 1 แสนคน แต่เข้าไปทำงาน เมื่อเกิดสถานการณ์การระบาด จังหวัดจึงมีมาตรการห้ามเข้า-ออกจังหวัด พบว่าในจำนวนนี้มีกว่า 5 หมื่นคนที่ตกงาน มีความจำเป็นด้านเศรษฐกิจ แต่จังหวัดยังไม่อนุญาตให้ออก จึงได้จัดทำทะเบียนแสดงความประสงค์ที่จะเดินทางออก แต่ไม่ใช่อนุญาตให้ออกได้ทั้งหมด จะอนุญาตเฉพาะ 14 ตำบล อีก 3 ตำบล ที่ยังต้องคุมเข้มไม่ให้ออก
“ผู้ที่ได้รับการอนุญาตให้ออก ต้องมีการรับรองจากพื้นที่ สาธารณสุขและผู้ว่าราชการจังหวัด มีการแจ้งไปยังจังหวัดปลายทางต่างๆ 56 จังหวัด ว่ามี 3,600 คน จากภูเก็ตออกไปแล้ว ส่วนใหญ่อยู่ใน 11 จังหวัดทางภาคใต้ กว่า 2,000 คน” นายฉัตรชัย กล่าว
สำนักงานตำรวจแห่งชาติสรุปยอดผู้ฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน ทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา 22.00 น. เมื่อคืนที่ผ่านมา จนถึงเช้าวันที่ 3 พฤษภาคม เวลา 4.00 น. โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจค้นบุคคล รวม 25,859 ราย และยานพาหนะ รวม 19,584 คัน จับกุมผู้ฝ่าฝืนได้รวมทั้งสิ้น 622 คน ประกอบด้วยผู้ออกนอกเคหสถานโดยไม่มีเหตุอันควร 515 ราย และ รวมตัวมั่วสุมในเคหสถานเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ รวม 107 ราย
โดยสาเหตุของการออกนอกเคหสถาน 3 อันดับแรก ได้แก่ ออกมาทำธุระ ร้อยละ 39 อื่นๆ ร้อยละ 27 และ เดินทางกลับที่พัก ร้อยละ 18 มีผู้ถูกตักเตือน 39 คน และถูกดำเนินคดี 515 คน ขณะที่สาเหตุการชุมนุม มั่วสุม 3 อันดับแรก ได้แก่ เล่นการพนัน ร้อยละ 36 ดื่มสุรา ร้อยละ 30 และเสพยาเสพติด ร้อยละ 20 มีผู้ถูกดำเนินคดี 107 คน
ทั้งนี้ จังหวัดที่มีสถิติการจับกุมผู้ฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉินกรณีออกนอกเคหสถาน สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 47 คน จังหวัดปทุมธานี 42 คน และภูเก็ต 40 ราย