'สาธิต' หวั่น 'โควิด-19' กลับมาระลอก 2 หลังคนออกเที่ยววันหยุด
“สาธิต” ขอประชาชนอดทนต่อเนื่องกับมาตรการกักตัวอยู่บ้าน-เว้นระยะห่าง หวั่นโควิดกลับมาระลอก 2 หลังเห็นคนออกเที่ยววันหยุด ย้ำไทยไม่ได้ร่ำรวย จึงไม่ได้ให้ตรวจหาเชื้อทุกคน แต่เน้นกลุ่มเสี่ยง-ต้องสงสัย
เมื่อวันที่ 4 พ.ค.63 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. จัดเสวนา “การตรวจคัดกรองโควิด-19 กับภารกิจเปิดเมือง” ผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ โดย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลมีการผ่อนปรนการคุมเข้มต่างๆ สิ่งที่พบในโซเชียลคือ การรวมตัวกันโดยไม่มีระยะห่าง และไปเที่ยววันหยุด ก็ขอฝากว่าให้อดทนต่อเนื่องอีกหน่อย ถ้าประมาท คิดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง แล้วจะปฏิบัติตามปกติเหมือนก่อนที่โควิดระบาด คลื่นลูกที่ 2 อาจมาได้ ขอให้ช่วยกัน
ทั้งนี้ ตั้งแต่เกิดโรค รัฐบาลก็ต้องเร่งควบคุมโรค เริ่มจากการตรวจคัดกรองผู้ป่วย หาผู้ติดเชื้อเชิงรุก พิจารณากลุ่มเสี่ยงว่าจะคัดกรองอย่างไร เพราะทุกเรื่องขึ้นกับงบประมาณด้วย ซึ่งไทยอาจวางนโยบายไม่เหมือนกับประเทศอื่น ต้องคำนวณต้นทุนที่มี โดยแรกๆ มีการคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ผู้สัมผัสใกล้ชิด แต่พอไประยะนึงมีข้อเปรียบเทียบหลายประเทศ ก็เริ่มเปิดแนวรุกในการตรวจมากขึ้น ซึ่งตนก็เห็นด้วยกับวิธีนี้ เพราะประเทศเราไม่ได้ร่ำรวย ต้องดูทรัพยากรเงิน บุคคล และอุปกรณ์
ล่าสุด ศบค. ก็จะเปิดคัดกรองมากขึ้น แต่ขอเน้นกลุ่มเสี่ยงก่อน และสิ่งที่อยากให้ตรวจมากขึ้นคือ กลุ่มผู้สูงอายุ ดังนั้นตอนนี้การคัดกรองโดยนยาบก็ตรวจมากขึ้น และทำคู่ขนานไปกับการควบคุมการติดเชื้อ ที่ตอนนี้ลดลงเรื่อยๆ จนไปสู่การเป็นศูนย์ ซึ่งวันนี้ถ้าไม่นับภาคใต้ ก็เป็นศูนย์แล้ว แต่การเป็นศูนย์ที่แท้จริง ต้องควบคุมคู่กับการตรวจเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง กลุ่มเสี่ยง ซึ่งเราต้องสู้กับโควิด ให้ได้รับชัยชนะ ก่อนที่จะมีวัคซีน ถ้าเดินตามนี้ก็ควบคุมการแพร่ระบาดได้ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การทำงานต้องปรับตัวตลอด ต่อสู้ไปพร้อมกับการเรียนรู้ มีแผนสมบูรณ์ 100% อาจมีความเข้าใจระหว่างหน่วยงานคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ไม่มีใครต่อว่าใคร เมื่อเจอปัญหาก็ต้องคุยกันหมด และขอบคุณโรงพยาบาลเอกชน ที่รับดูแลผู้ติดเชื้อด้วย
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือ ตรวจแล๊บ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่หมอ พยาบาล นักการสาธารณสุข เอาผลตรวจหรือตัวเลขไปใช้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ ซึ่งใช้วินิจฉัยดูแลรักษาผู้ป่วย เฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคระบาด การวิจัยและอื่นๆ แต่ต้องทราบกระบวนการเกิดโรคก่อน ต้องรู้ว่าบุคคลนั้นอยู่ระยะไหนของโรค และการแปรผลหมายความว่าอะไร เช่น การตรวจหาเชื้อ หรือ หารหัสพันธุกรรมหาเชื้อ หรือ RTPCR ตรวจหาเชื้อทางเดินหายใจ จากทางลำคอ จมูก ปอด เป็นวิธีที่ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO แนะนำให้ใช้สำหรับการวินิจฉัยว่าใครเป็นผู้ป่วยหรือไม่ ซึ่งประเทศไทย ยึดการตรวจหาเชื้อทางเดินหายใจ แบบ RTPCR เป็นหลัก แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ
- กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการสงสัย
- กลุ่มสัมผัสกับผู้ป่วยที่เราต้องไปติดตาม
- กลุ่มที่มีการแพร่ระบาดจำนวนมากในพื้นที่ เช่น ภูเก็ต ก็ต้องลงชุมชุนไปหาเคสเพิ่มเติม
- การเฝ้าระวังเชิงรุกในกลุ่มเป้าหมายบางกลุ่ม เช่น กลุ่มแรงงาน
ทั้งนี้ การตรวจด้วยวิธี RTPCR ตรวจไปแล้ว 227,860 ตัวอย่าง ซึ่งสัปดหืที่ผ่านมาตรวจไปถึง 41,067 ตัวอย่าง ถ้าเทียบกับต้นเดือนเมษายน ถือว่าตรวจมากขึ้นเกือบ 2 เท่า แต่เคสหาไม่เจอจริงๆ ส่วนการตรวจมากหรือน้อย อันไหนดี ให้ยึดแบบนี้ เอาจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อ หาร จำนวนป่วย แล้วเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าผู้ป่วยน้อยแต่ตรวจเยอะ เปอร์เซ็นต์จะออกมาน้อย เท่ากับทำงานเชิงรุกได้ดี อย่าง สิงคโปร์ ไต้หวัน ได้ 2% คือ 100 คน ตรวจเจอ 2 คน ส่วนสหรัฐฯ ตรวจ 100 คน เจอ 10 คน
ดังนั้น การตรวจมากไม่ได้แปลว่าดีเสมอไป ส่วนไทย ช่วงแรกผลตรวจอยู่ที่ 2% ตอนนี้ลงมาที่ 1% กว่าๆ เท่ากับไทยเฝ่ระวังเชิงรุกมากขึ้น ปัจจุบันมีการขยายห้องปฏิบัติการที่ได้รับมาตรฐานรับรองแล้วประมาณ 140 แห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเอกชนช่วยตรวจได้เยอะ
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในช่วงแรก มีแล็บ 2 แห่งที่ตรวจคือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จากนั้นเริ่มขยายออกไป มีเอกชนมากขึ้น ช่วงหลังมีผู้กักตัวมากขึ้นและไม่สะดวกมาสถานพยาบาล ก็น่าจะใช้แล๊บของเอกชนให้เป็นประโยชน์ แต่ต้องได้รับอนุญาตก่อน โดยกำหนดมาตรฐานไว้ แต่เมื่อมีข้อร้องเรียนมาว่า มีการอออกตรวจในที่ไม่เหมาะสม เช่น ปั๊มน้ำมัน ศูนย์การค้า ซึ่งดูไม่มีมาตรฐาน ก็ได้ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว สำหรับการพิจารณาอนุญาตของคณะกกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่ใช้เวลา 5 วันนั้น ถือเป็นข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล หน่วยไหนจะออกไปต้องแจ้งให้ผู้อนุญาตในพื้นที่ทราบล่วงหน้า
นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาโควิด และจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงสาธารณสุข 2 ครั้ง สำหรับคนไทยทุกคนในการตรวจคัดกรองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงได้เข้ารับบริการได้ ดูแลผู้ป่วยนอก-ใน ค่าห้องแยกโรค ค่าชุด PPE ค่าทำความสะอาดยานพาหนะ ส่วนสถานบริการที่จะตรวจคัดกรองได้ ต้องขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบ UC มีกว่า 1,200 แห่ง หรือหน่วยร่วมคัดกรองมีแล้ว 53 แห่ง และต้องขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยรับส่งต่อเฉพาะด้านเทคนิคการแพทย์ ต้องได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปัจจุบัน 1 พฤษภาคม รับรองไปแล้ว 142 แห่ง ส่วนห้องแล็บรับส่งต่อด้านเทคนิคการแพทย์ มี 126 แห่ง กระจายทั่วประเทศ สำหรับภาคเอกชน เมื่อตรวจแล้วต้องแจ้งผลกับผู้รับริการและกรมคใบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
นพ.เฉลิม หาญพานิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน บอกว่า โรงพยาบาลเอกชนมีทั้งหมด 381 แห่ง ให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ การตรวจคัดกรองก็เป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค ส่วนการตรวจในที่สาธารณะที่ไม่เหมาะสม ก็ยืนยันว่าทำด้วยความตั้งใจ มีคำสั่งที่ถูกต้อง แต่เมื่อไม่เหมาะ ก็ถูกสั่งปรับตามกฎหมายแล้ว ส่วนใครที่เคยมาตรวจแล้วต้องจ่ายเงินไปก่อน ตอนนี้ก็คืนให้หมดแล้ว และราคาเก็บ ก็ไม่ได้ตั้งขึ้นเอง