ชี้ 'โควิด-19' ระบาดระลอกสองรุนแรง ประชาชนคลายตระหนักป้องกันโรค
"สาธารณสุข" ชี้ "โควิด-19" ระบาดระลอกสอง รุนแรงกว่าระลอกแรก เหตุประชาชนคลายตระหนักป้องกันโรค ฤดูกาลเป็นปัจจัยเสริม จับตา 4 สัญญาณบอกเหตุ
ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของประเทศไทย อยู่ในระดับที่ควบคุมโรคได้และมีจังหวัดมากกว่า 50% ที่ไม่พบผู้ป่วยมาแล้วมากกว่า 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่หลังจากที่มีการผ่อนปรนให้กิจการ 6 ประเภทกลับมาเปิดดำเนินการได้เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2563 ประชาชนเริ่มเดินทางมากขึ้น แม้จะมีการห้ามเดินทางข้ามพื้นที่ไกลด้วยการงดให้บริการรถโดยสารระหว่างจังหวัด แต่ถ้ายังมีคนที่เดินทางด้วยตนเองมีการพบปะมากขึ้น
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกมาแสดงความกังวลถึงความเสี่ยงที่จะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า รวมถึงมีการไปใช้บริการในกิจการต่างๆมากขึ้น ดังนั้น ประชาชนเมื่อไปใช้บริการจะต้องตระหนักมีความระมัดระวังตัวเอง เพื่อไม่ให้โควิด-19 กลับมาระบาดในประเทศไทย ด้วยการเว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร และสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อไปในสถานที่ชุมชน ล้างมือบ่อยๆ
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19ว่า เมื่อมีการผ่อนปรนกิจการแล้วโอกาสที่เชื้อจะกลับมาแพร่ระบาดใหม่เกิดขึ้นได้ เพราะประชาชนมีการพบปะกันมากขึ้น และในบางจุดมีกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เช่น ตั้งวงกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งล้วนแต่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในพื้นที่ได้ การรับมือกับการแพร่ระบาดจำเป็นจะต้องเฝ้าระวังอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยหลายจังหวัดมีการดำเนินการเฝ้าระวัง ค้นหา คัดกรองผู้ติดเชื้อที่ยังมีอาการน้อยอยู่ในชุมชน รวมถึง มาตรการที่มุ่งป้องกันกลุ่มเสี่ยงที่มีการอยู่รวมกันในสถานที่แออัด เช่น เรือนจำ และที่พักของแรงงานต่างชาติ โดยเริ่มมีการตรวจค้นหาเชื้อเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่พบเหตุการระบาดหรือผิดปกติในสถานที่เหล่านแต่จะมีการขยายพื้นที่ตรวจต่อไป
ระลอก 2 รุนแรงกว่าระลอกแรก
ทั้งนี้ จากบทเรียนในอดีตเมื่อเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ทั่วโลกในปีพ.ศ. 2461 จะเห็นว่าการระบาดมีหลายระลอก โดยในระลอกแรกประเทศส่วนใหญ่จะรับมือได้ดีเพราะมีจำนวนผู้ป่วยไม่มากแต่เพิ่มขึ้นผิดปกติและสามารถควบคุมโรคได้ แต่บางประเทศ บางเมืองที่มีการระบาดระลอกที่ 2 อย่างรุนแรง เพราะประชาชนคลายความตระหนักในความสำคัญของการป้องกันโรค ซึ่งจากคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก (ดับบลิวเอชโอ) และผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทย แนะนำว่าประเทศไทยไม่สามารถประมาทได้ว่าจะมีการกลับมาของโรคโควิด-19ในระลอกที่ 2 หรือไม่
นอกจากนี้ สิ่งที่จะทำได้ดีที่สุด คือ การคงมาตรการที่สำคัญและมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันโรคและการแพร่เชื้อให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม หากมีการกลับมาใหม่ต้องมีการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพและที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนต้องร่วมมือทำตามคำแนะนำของภาครัฐ ขณะนี้มาตรการพื้นฐานยังเป็นการลดความเสี่ยงในการไปใช้บริการ ทั้งลดจำนวนคนเข้าใช้บริการแต่ละช่วงเวลา คัดกรองผู้มีอการไข้ หลีกเลี่ยงคนมีไข้เข้าใช้บริการ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า จัดให้มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และระวังการนำมือมีสัมผัสใบหน้าตา จมูก ปาก
จับตาใกล้ชิด 4 สัญญาณบอกเหตุ
รวมทั้งต้องเฝ้าระวังสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเกิดระลอกใหม่อย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1.จำนวนผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจทั้งหมดซึ่งไม่ได้มีเฉพาะโรคโควิด-19 เท่านั้น โดยจะต้องเร่งตรวจเชื้อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคโดยเร็ว 2. การติดตามดูเปอร์เซ็นต์จากจำนวนคนที่ได้รับการวินิจฉัยติดโควิด-19 จากจำนวนตัวอย่างสารคัดหลั่งที่ส่งตรวจทั้งหมด
3.พิจารณาพฤติกรรมของประชาชน ยังคงมีการป้องกันตนเองอย่างเข้มงวดหรือไม่ทั้งการใช้หน้ากาก ล้างมือและเว้นระยะห่างเมื่อเข้าใปนชุมชนหรือใช้บริการต่างๆ และ4.จำนวนผู้ป่วยโควิด-19ที่อาจจะมีการเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้าหรือสัปดาห์ต่อไป ก็จะต้องรีบค้นหาสาเหตุและทบทวนดูว่ามาตรการใดที่ยังมีจุดอ่อน เพื่อมเสริมมาตรการให้เข้มแข็งมากขึ้น
“มาตรการส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงของการกลับมาระบาดระลอกที่ 2 ด้วย หากทำได้ดีก็หวังว่าจะไม่เกิดการระบาดในระลอกที่ 2 ซึ่งในหลายประเทศการระบาดในครั้งที่ 2 จะมีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าครั้งแรกได้ และบางครั้งมีการระบาดในระลอกที่ 3 ด้วย " นพ.โสภณกล่าว
ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงที่เป็นรอยต่อระหว่างระลอกแรกและหวังว่าจะไม่เจอการระบาดระลอกที่ 2 หรือหากจะมีการกลับมาใหม่ของผู้ป่วยก็เกิดขึ้นแบบน้อยๆ เพื่อให้ระบบการดูแลรักษาทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากประเทศไทยมีการระบาดระลอกที่ 2 ก็จะมีผู้ป่วยมากกว่ารอบแรก จากที่มีปัจจัยเรื่องของฤดูฝนเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งปกติจะพบผู้ป่วยโรคติดต่อทางเดินหายใจมากอยู่แล้ว รวมถึง การมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมของเชื้อก็จะนานกว่าหน้าร้อน”
ส่งตรวจใหม่ 40 รายยะลารอบที่ 3
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงว่า มีผู้ติดโควิด-19 รายใหม่ 18 ราย เป็นต่างด้าวทั้งหมด โดยเป็นผู้ต้องกักอยู่ในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่อ.สะเดา จ.สงขลา เพศหญิง 17 ราย อายุ 13-22 ปี และเพศชาย 1 ราย อายุ 10 ปี ทั้งหมดอยู่ในการดูแลของแพทย์แล้ว ซึ่งในศูนย์แห่งนี้มีผู้ติดเชื้อแล้วรวมทั้งสิ้น 60 ราย โดยก่อนหน้านี้ตรวจเจอ 42 ราย เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2563 ภาพรวมของประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อสะสม 2,987 ราย อายุระหว่าง 20-29 ปีมากที่สุด 763 ราย รักษาหายแล้ว 2,740 ราย ยังรักษาอยู่ในรพ.193 ราย เสียชีวิต 54 ราย ส่วนการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติ(แล็บ)ขณะนี้มีจำนวน 227,860 ตัวอย่าง
กรณีที่มีการรายงานผลเบื้องต้นจากการค้นหาเชิงรุกเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2563 จ.ยะลาพบผู้ติดเชื้อ 40 รายและได้มีการสั่งการให้มีการตรวจเชื้อใหม่อีกครั้ง โดยใช้ 2 ห้องปฏิบัติการ(แล็บ)ยืนยันผล เนื่องจากการตรวจดังกล่าวในบางอำเภอมีอัตราการติดเชื้อสูงกว่า 30 % แตกต่างจากการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่อื่นเป็นอย่างมากที่มีอัตราการตรวจพบเชื้อที่ 5% นั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผลการตรวจเชื้ออย่างไม่เป็นทางการจากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพจ.สงขลาพบทั้ง 40 รายให้ผลเป็นลบคือไม่ติดโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ผลที่ได้แตกต่างจากผลแล็บของโรงพยาบาลศูนย์ยะลาที่ให้ผลเป็นบวกก่อนหน้านี้
“ดังนั้น ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข จึงพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็นจะต้องมีการทวนสอบตรวจใหม่อีกครั้ง ตั้งแต่การเก็บตัวอย่างใหม่ และการขนส่ง โดยให้ส่งไปตรวจที่ห้องแล็บกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ส่วนหลาง ซึ่งเป็นห้องแล็บที่มีมาตรฐาน ความเชี่ยวชาญและน่าเชื่อถือสูง เพราะทำงานตรวจเชื้อนี้มากว่า 4 เดือนแล้ว จึงยังไม่มีการรายงานผลอย่างเป็นทางการใน 40 คนนี้ จนกว่าผลตรวจจากแล็บระดับกรมจะออกมาโดยเร็วที่สุด และเมื่อผลเป็นอย่างไรจะมีการรายงานตามความจริง ไม่มีการปกปิดข้อมูล” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
จับตาการระบาดในยะลา
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19ในจ.ยะลานั้น มีการรายงานพบผู้ป่วยรายแรกเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 เป็นผู้ที่กลับจากการทำพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย จากนั้นมีการส่งตรวจหาเชื้อ 3,277 ราย พบติดเชื้อ 20 ราย มีการติดตามผู้สัมผัสทั้ง 20 รายอีก 671 ราย ซึ่งเมื่อสอบสวนโรคและซักประวัติเชิงลึกมีผู้สัมผัสจริง 222 ราย ผลการตรวจติดเชื้อ 6 ราย จึงนำมาสู่การตรวจเพิ่มเติมด้วยการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในพื้นที่จ.ยะลา จำนวน 311 ราย
และเป็นส่วนที่ผลแล็บเบื้องต้นจากโรงพยาบาลศูนย์ยะลาพบว่าเป็นผลบวก 40 ราย โดยอาจจะเกิดขึ้นจากการที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลาเพิ่งมีการพัฒนาและตั้งระบบแล็บตรวจโควิด-19 ขึ้นได้เพียง 2 สัปดาห์จากที่ก่อนหน้านี้จะส่งตรวจยืนยันเชื้อที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ จ.สงขลา ทั้งนี้ ขณะนี้ใน จ.ยะลา มีรายงานอย่างเป็นทางการพบผู้ติดเชื้อรวมอยู่ที่ 126 ราย
ผู้สื่อข่าวรายงาน ในวันที่ 4 พ.ค.2563 ที่มีการรายงานพบผู้ป่วยโควิด-19ใหม่ 18 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นต่างด้าวนั้น จึงถือเป็นวันแรกที่ไม่มีการพบผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นคนไทย ในรอบเกือบ 2 เดือน นับจากที่ประเทศไทยพบคนไทยติดโควิด-19 รายแรก เป็นหญิงในจ.นครปฐม จากการเดินทางกลับจากประเทศจีน โดยตรวจและยืนยันผลเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 ขณะที่ไม่มีรายงานคนไทยติดโควิด-19 รายใหม่ล่าสุดคือเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 จากนั้นมีการรายงานพบคนไทยติดเชื้อมาอย่างต่อเนื่อง