'เปิดเมือง' ใช่ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาดีทันที
ภูมิต้านทานทางเศรษฐกิจไม่สามารถทำได้ไปตลอด ด้วยการทำ Social Distancing และการ Lockdown เพราะอุปสงค์ที่หดตัวลงไป ทำให้เหล่าผู้ประกอบการขาดรายได้ ถึงแม้รัฐบาลทั่วโลกจะอัดฉีดเงินเข้าไปในภาคเอกชนและประชาชนโดยตรง แต่ก็เป็นแค่มาตรการเยียวยา
สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ณ ตอนนี้ดูเหมือนว่า นักลงทุนจะมองในแง่บวกมากขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับตัวเลข Hard Data ที่ทางการประกาศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ล่าสุดสัปดาห์ที่แล้ว สหรัฐประกาศตัวเลข GDP Growth ในไตรมาส 1/2020 ออกมาอยู่ที่ -4.8% ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ -4.0% ขณะที่ตัวเลข Initial Jobless Claim หรือการยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก สัปดาห์ล่าสุดออกมาที่ 3.8 ล้านคน ทำให้ตัวเลขผู้ว่างงานของสหรัฐพุ่งทะลุ 26 ล้านตำแหน่งไปแล้ว
Mr.Market อาจจะมองว่า ตัวเลข GDP ที่ติดลบ และการจ้างงานที่หดหาย เป็นปัญหาแค่ระยะสั้น และเมื่อทุกอย่างคลี่คลาย เศรษฐกิจก็จะค่อยๆ ฟื้นตามลำดับนับจากนี้
ซึ่งพอบอกว่าระยะสั้น เอาจริงๆ มันก็ไม่ได้สั้นขนาดนั้นหรอกครับ เพราะนักวิเคราะห์หลายสำนักบอกว่า เศรษฐกิจที่ดูทรุดตัวในไตรมาส 1 ที่เราเห็น แท้จริงแล้วในไตรมาส 2 มันอาจจะหนักกว่านี้
Goldman Sachs เคยออกมาคาดการณ์ GDP ของสหรัฐในไตรมาส 2/2020 ว่าจะออกมาอยู่ที่ -24% แต่ก็ปรับประมาณการอีกครั้งเมื่อสิ้นเดือนมีนาคมลงไปเป็น -34% (แต่ตัวเลข GDP สหรัฐในไตรมาส 1/2020 ออกมาดีกว่าที่ Goldman คาดไว้ที่ -9% นะครับ)
ขณะที่ภาพของเศรษฐกิจโลกนั้น Fitch Rating คาดการณ์ Global GDP Growth ของปี 2020 นี้จะอยู่ที่ -3.8% ส่วน IMF มองไว้ที่ -3.0% การที่คาดการณ์ว่า GDP ติดลบทั้งปี นักวิเคราะห์แทบทุกคนทั้งโลกมองว่า ลงลึกสุดก็ไตรมาส 2/2020 นี่เลย และค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวเมื่อย่างเข้าไตรมาส 3/2020 ได้
สาเหตุที่มองกันแบบนั้น ก็เพราะภูมิต้านทานทางเศรษฐกิจนั้น ไม่ได้สามารถทำได้ไปตลอดด้วยการทำ Social Distancing และการ Lockdown เพราะอุปสงค์ที่หดตัวลงไป ทำให้เหล่าผู้ประกอบการขาดรายได้ ถึงแม้รัฐบาลทั่วโลกจะอัดฉีดเงินเข้าไปในภาคเอกชน และภาคประชาชนโดยตรง แต่ก็เป็นแค่มาตรการเยียวยา ทำให้ยังมีสภาพคล่องเลี้ยงตัวเองไปก่อน
แต่ตราบใดที่ไม่มีรายได้เข้ามา ความเสี่ยงก็ยังคงอยู่ ดังนั้นเราจึงเห็นเราจึงกดดันจากภาคธุรกิจ และประชาชนที่เดือดร้อนเรียกร้องให้มีการผ่อนปรนมาตรการ และนำมาซึ่งแผนการเปิดเมืองในระยะยาว เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
จนถึง ณ ตอนนี้ มีบางประเทศที่สามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อให้อยู่ในระดับต่ำ และมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมไปบางแล้ว การที่เราเข้าไปดูว่าประเทศเหล่านี้ หลังจากเปิดเมืองแล้วเศรษฐกิจหน้าตาเป็นอย่างไร ก็น่าจะบอกร่องรอยอะไรบางอย่างให้เราได้ดีทีเดียว
ประเทศแรกเลยคือ ประเทศจีน ซึ่งอยู่ในวิกฤติประเทศแรก และเหมือนจะออกจากวิกฤติได้เป็นประเทศแรกเช่นเดียวกัน
แต่เมื่อไปดูดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ทั้งภาคการผลิตและภาคการบริการ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็จะพบว่ากลับมาขยายตัวได้ก็จริง แต่ยังไม่เท่ากับช่วงก่อนพบไวรัส Covid-19 ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ หรือยูโรโซน ยัง Lockdown และต่อสู้กับ Covid-19 ตลอดทั้งเดือนที่ผ่านมา
อีกประเทศคือ เกาหลีใต้ ซึ่งเริ่มทยอยเปิดเมืองค่อยๆ กลับมาเป็นปกติ พบว่าตัวเลขการส่งออกเริ่มกลับมาฟื้นตัว ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากการที่โลกเริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงสำคัญอย่างหนึ่งในวิกฤตินี้ก็คือ Supply Chain ของสินค้าหลักๆ ของโลกนั้นมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่จีน และเมื่อประเทศจีนพบกับช่วงเวลาวิกฤติ มันนำมาซึ่งความเสี่ยงของทั้งระบบต้องหยุดชะงัก
การย้ายฐานการผลิต กระจายความเสี่ยงในการสั่งซื้อสินค้าวัตถุดิบก็เริ่มมีมากขึ้น ซึ่งหากมองในมุมมองก็แปลว่า วิกฤติ Covid-19 จะทำให้จีนสูญเสียตลดไปบางส่วน การจะทำให้เศรษฐกิจตัวเองเร่งกลับมา ก็คงต้องเน้นไปที่ New Economy ให้เร็วขึ้น
แต่ก็ไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ใกล้จะกลับมาฟื้นตัวได้แล้วนะครับ ทาง Google มีการทำดัชนี Mobility Change Index เพื่อดูการเคลื่อนย้ายสถานที่ของคนไปยังที่ต่างๆ เปรียบเทียบระหว่างช่วงปิดเมืองกับตอนกลับมาเปิดเมือง พบว่ามีช่วงสัปดาห์แรกที่ชาวเกาหลีใต้ออกมาสวนสาธารณะเพิ่มขึ้นชัดเจน ตามมาด้วยการเข้าร้านค้าปลีกและร้านยา แต่หลังจากนั้น ตัวเลขการเดินทางเคลื่อนย้ายสถานที่ก็ลดลงชัดเจน นั่นทำให้เห็นว่า ไม่ใช่ว่าเปิดเมืองแล้ว เศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติได้ในทันที
- แล้วเพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น?
ประชาชนอาจจะยังไม่มั่นใจ 100% ที่จะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ขอดูลาดลาวก่อนซักช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้จริง เราก็ต้องค่อยๆ ติดตามดูตัวเลขเศรษฐกิจไปอีกซักระยะ
แต่ถ้ามันเกิดจากช่วงเวลาที่เรา Lockdown ตัวเองอยู่บ้านช่วงเวลาหนึ่ง แล้วมันกลายเป็นความเคยชิน เรามีความคิดที่จะดำเนินชีวิตประจำวันแบบใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิมเลย ขี้เกียจไปห้าง เพราะช้อปปิ้งออนไลน์ก็ได้ ไม่อยากไปร้านอาหาร เพราะเรียกเอาก็สะดวกกว่า
ผู้ประกอบการหลายคน พอผ่านวิกฤติรอบนี้ไปอาจพบว่า ที่ผ่านมาเรามีจำนวนพนักงานที่เยอะเกินไป เราเช่าพื้นที่ทำไมเยอะแยะขนาดนี้ และเห็นว่าเทคโนโลยีช่วยเขาประหยัดในเรื่องต่างๆ ได้หลายเรื่อง
คุณว่าเป็นแบบไหนครับ ผมมองว่าหลังวิกฤตรอบนี้ โลกเราจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ที่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาอยู่ก่อน หลังจากนี้การเปลี่ยนแปลงจะทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีกระดับ สนุกแน่นอนครับ