'ลงทะเบียนว่างงาน' เดือนเม.ย.63 พุ่งเกือบ 3 แสนราย
"ลงทะเบียนว่างงาน" เดือนเม.ย.63 พุ่งเกือบ 3 แสนราย ขอรับเงินชดเชยจาก "ประกันสังคม" กรณีได้รับผลกระทบจาก "โควิด-19" และกรณีการว่างงานอื่นๆ
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เผย ผลการ "ลงทะเบียนว่างงาน" ผ่านช่องทางออนไลน์ https://empui.doe.go.th กับกรมการจัดหางาน เดือนเมษายน 2563 จำนวน 267,351 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.82 จากเดือนมีนาคม ที่มีผู้มาขึ้นทะเบียน จำนวน 144,861 คน โดยผู้ที่ถูก "เลิกจ้างงาน" โดยมีสาเหตุมาจากนายจ้าง/สถานประกอบการต้องปิดกิจการ เพราะผลกระทบจากการแพร่กระจายของโรค "โควิด-19" จะได้รับเงินชดเชย 70% ของค่าจ้างที่เคยได้รับ ระยะเวลาที่จ่ายจะไม่เกิน 200 วัน หากเป็นการว่างงานจากการ "ลาออก" เอง จะได้รับเงิน ในอัตรา 45% ของค่าจ้างที่เคยได้รับและระยะเวลาที่จ่ายจะไม่เกิน 90 วัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี สำหรับผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในช่วงเดือนมีนาคม 2563 พบว่า มีจำนวนผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 56.77 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลัง "แรงงาน" หรือพร้อมที่จะทำงาน 38.21 ล้านคน ซึ่งเป็น "ผู้ที่มีงานทำ" 37.33 ล้านคน และ "ผู้ว่างงาน" 3.92 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 18.56 ล้านคน เช่น แม่บ้าน นักเรียน และผู้สูงอายุ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์แรงงานช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว จำนวนผู้มีงานทำลดลง 4.4 แสนคน ผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 4.6 หมื่นคน
ขณะที่ ผู้ว่างงานส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา 1.15 แสนคน รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ส่งผลกระทบให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ซึ่งจากรายงานจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนขอใช้สิทธิกรณีว่างงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ และความร่วมมือของผู้ประกอบการภาคธุรกิจและประชาชนที่ร่วมมือกับรัฐ ในการพยายามยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมการจัดหางานมิได้นิ่งนอนใจ และให้ความสำคัญในการหาแนวทางช่วยเหลือ "เยียวยา" ประชาชน โดยจะเร่งหาแนวทางส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน และวิเคราะห์ทิศทางของตลาดแรงงานในอนาคต เพื่อส่งเสริมทักษะของแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานที่มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนไปหลังภาวะวิกฤต "โควิด-19" เบาบางลง
ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน
สำหรับ "เงื่อนไข" ของผู้ที่จะได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคมในกรณีที่ได้รับผลกระทบจาก "โควิด-19"
1. ว่างงาน ด้วยเหตุสุดวิสัย
- ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน จ่าย 50% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน
- หน่วยงานภาครัฐ มีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว จ่าย 50% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน
2. ว่างงาน จากการลาออกหรือเลิกจ้าง
- ว่างงาน จากการลาออก จ่าย 45% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
- ว่างงาน จากกรณีเลิกจ้าง จ่าย 70% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน
3. ลดภาระนายจ้างและผู้ประกันตน
- ลดอัตราเงินสมทบนายจ้าง และผู้ประกันตน 4% เป็นระยะเวลา 6 เดือน
- ขยายเวลาส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 งวดค่าจ้างเดือน มี.ค. เม.ย. พ.ค. 63 ออกไปอีก 3 เดือน
- งวดค่าจ้างเดือน มี.ค. เลื่อนส่งได้ ภายใน 15 ก.ค. 63
- งวดค่าจ้างเดือน เม.ย. เลื่อนส่งได้ ภายใน 15 ส.ค. 63
- งวดค่าจ้างเดือน พ.ค. เลื่อนส่งได้ ภายใน 15 ก.ย. 63