'มหาวิทยาลัย' ทำไม 'ค่าเทอมแพง' แพงกันขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่?

'มหาวิทยาลัย' ทำไม 'ค่าเทอมแพง' แพงกันขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่?

ส่องค่าเทอมมหาวิทยาลัยรัฐไทย 22 ปี พุ่งสูงเหยียบแสน เพิ่มทวีคูณตอนเปลี่ยนเก็บเหมาจ่าย-ออกนอกระบบ สถิติชี้ชัดขึ้นค่าเทอมเหนือค่าครองชีพ นักวิชาการคาดปรับตามกัน ทำผู้เรียนไม่มีทางเลือก อดีตทปอ.แจงรัฐไม่มีนโยบายควบคุมค่าเรียน ป.ตรี

ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดทำให้หลายมหาวิทยาลัย ออกมาตรการลดหย่อนค่าเทอมในกรณีที่จำเป็นต้องเรียนออนไลน์ เพื่อช่วยลดภาระ ของนักศึกษา และผู้ปกครอง

ซึ่งช่วงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีการพูดถึงประเด็นลดค่าเทอม และไม่ลดค่าเทอม ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษายื่นหนังสือถึงผู้บริหารขอลดค่าเทอม จนมีการจับนักศึกษา หรือแม้กระทั่งล่าสุดในค่ำคืนที่ผ่านมากับการขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ #ศิลปากร หลังทางเพจเฟซบุ๊กของประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยโพสต์แผนการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ยิ่งทำให้นักศึกษาเคลือบแคลงใจว่า หากเกิดการเรียนการสอนแบบออนไลน์จริง นักศึกษาจะไม่ได้ใช้อุปกรณ์ของทางมหาวิทยาลัย เหตุใดจึงไม่ยอมลดค่าเทอมลง

ถึงแม้ว่าจะไม่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด เรื่องค่าเทอมก็ยังประเด็นเสมอมา นับตั้งแต่หลายมหาวิทยาลัยทยอยออกมาจากการควบคุมของรัฐ บางมหาวิทยาลัยจำต้องขึ้นค่าเทอม ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงคุ้มค่าระหว่างค่าเทอมกับสวัสดิการของนักศึกษาทั้งอุปกรณ์การเรียน สิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ของแต่ละมหาวิทยาลัย รวมถึงบางมหาวิทยาลัยที่ใช้ระบบแบบเหมาจ่ายแต่ในชั้นปีนั้น เรียนเพียง 2-3 วิชาเท่านั้น

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนย้อนดูรายงานเรื่อง ค่าเทอมของมหาวิทยาลัย ของหนังสือพิมพ์ลูกศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำการสำรวจค่าเทอมของมหาวิทยาลัยรัฐของไทย 12 แห่ง จาก 5 ภาค ตลอด 22 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2540-2562 โดยสุ่มเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นตัวแทนสายวิทยาศาสตร์เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายวิชาภาคปฏิบัติ และคณะอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ เป็นตัวแทนสายศิลปศาสตร์

ซึ่งก็พบว่า มหาวิทยาลัยที่ขึ้นค่าเล่าเรียนทั้งหลักสูตรสูงสุดเป็นอันดับ 1 คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จาก 32,000 บาท เป็น 168,000 บาท ต่อหลักสูตร 4 ปี หรือปรับเพิ่ม 136,000 บาท ส่วนคณะอักษรศาสตร์ จาก 32,000 บาท เป็น 136,000 บาท ต่อหลักสูตร 4 ปี หรือปรับเพิ่ม 104,000 บาท

ส่วนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขึ้นค่าเล่าเรียนทั้งหลักสูตรน้อยที่สุดในรอบ 22 ปี โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จาก 47,000 บาท เป็น 138,000 บาท หรือปรับเพิ่ม 91,000 บาท ส่วนคณะมนุษยศาสตร์ จาก 40,000 บาท เป็น 103,000 บาท หรือปรับเพิ่ม 63,000 บาท

นอกจากนี้ ช่วงมหาวิทยาลัยเปลี่ยนระบบจ่ายเงินจากเก็บตามหน่วยกิตที่ลงทะเบียนจริง (ระบบหน่วยกิต) มาเป็นเหมาจ่ายราคาเดียว (ระบบเหมาจ่าย) เป็นช่วงขึ้นราคาก้าวกระโดด ที่มากสุดคือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปีการศึกษา 2541 จาก 30,000 บาท เป็น 120,000 บาท ต่อหลักสูตร 4 ปี หรือปรับเพิ่ม 90,000 บาท รองลงมาคือ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีการศึกษา 2556 จาก 47,000 บาท เป็น 120,000 บาท ต่อหลักสูตร 4 ปี หรือปรับเพิ่ม 73,000 บาท

และที่ช่วงเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบ บางแห่งปรับราคาขึ้นอีกครั้ง คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปีการศึกษา 2558 คณะวิศวกรรมศาสตร์จาก 152,000 บาท เป็น 200,000 บาท ต่อหลักสูตร 4 ปี หรือปรับเพิ่ม 48,000 บาท และคณะมนุษยศาสตร์จาก 96,000 บาท เป็น 120,000 บาท ต่อหลักสูตร 4 ปี หรือปรับเพิ่ม 24,000 บาท

ล่าสุดปีการศึกษา 2563 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศปรับขึ้นค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตรในทุกสาขาวิชา โดยคณะอักษรศาสตร์จาก 136,000 บาท เป็น 168,000 บาท หรือปรับเพิ่ม 32,000 บาท และคณะวิศวกรรมศาสตร์จาก 168,000 บาท เป็น 204,000 บาท หรือปรับเพิ่ม 36,000 บาท อีกด้วย

และสิ่งที่ชี้ชัดยิ่งกว่าคือ สถิติการขึ้นค่าเทอมที่ขึ้นพุ่งสูงเหนือค่าครองชีพ เห็นได้จากดัชนีผู้บริโภคจากกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างปี 2540–2562 เพื่อนำอัตราการขึ้นค่าเล่าเรียนมาเทียบเคียงอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น พบว่า ดัชนีผู้บริโภคสูงขึ้นร้อยละ 177.2 หรือประมาณ 2 เท่าในรอบ 22 ปี

เทียบง่ายๆ คือ อาหาร 1 จาน ราคา 20 บาท ในปี 2540 ราคาที่สมเหตุสมผลในปี 2562 จะอยู่ที่เกือบ 40 บาท ต่ปรากฏว่า หลายแห่งขึ้นค่าเรียนสูงไปกว่านั้น เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปรับขึ้นจาก 30,000 บาท เป็น 120,000 บาท ต่อหลักสูตร 4 ปี คิดเป็นร้อยละ 566.7 หรือเกือบ 6 เท่าจากปี 2540

ส่วนที่ขึ้นค่าเล่าเรียนต่ำสุด คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จาก 73,000 บาท เป็น 128,000 บาท ต่อหลักสูตร 4 ปี คิดเป็นร้อยละ 75.3 ใกล้เคียงกับดัชนีผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นในรอบ 22 ปีที่ผ่านมา

  • ปรับตามกันทำนักศึกษาไม่มีทางเลือก

นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ค่าเล่าเรียนของมหาวิทยาลัยมีราคาแพงมาจาก 3 ปัญหาที่สัมพันธ์กันคือ 1) มหาวิทยาลัยมีรายได้ไม่แน่นอนจึงเลือกหารายได้ที่ค่าเล่าเรียนเป็นหลัก 2) มหาวิทยาลัยเลือกลงทุนสิ่งที่เป็นต้นทุนคงที่มากไป เช่น อาคารหรือสถานที่เรียน สถานการณ์อาจดีขึ้นหากลดการลงทุนในส่วนนี้และเพิ่มสวัสดิการให้กับนักศึกษา และ 3) การไม่มีเกณฑ์ในการกำหนดว่าการบริหารที่ดีเป็นอย่างไร ทั้งเรื่องจำนวนหน่วยกิต และสวัสดิการที่นักศึกษาควรจะได้

“พอมหาวิทยาลัยไม่ได้กำหนดสวัสดิการที่พึงมีสำหรับนักศึกษา จึงกลายเป็นสิ่งที่ต้องไปต่อรองกันเอาเอง ทั้งที่จริงควรมีมาตรฐาน เอาง่าย ๆ สัญญาณอินเทอร์เน็ตต้องแรงระดับไหน หรือพื้นที่สำหรับนักศึกษาต้องมีถึงระดับไหน ห้องสมุดหรือพื้นที่สีเขียวต้องมีกี่ตารางเมตรต่อคน แต่เราไม่มีมาตรฐานในการให้บริการ” นายเดชรัต กล่าว

เมื่อถามถึงการเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับทำให้อ้างว่าต้องเก็บค่าเล่าเรียนเพิ่ม นายเดชรัต กล่าวว่า ในด้านของเศรษฐศาสตร์อาจถูกแค่ส่วนหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะนักศึกษาไม่มีทางเลือกเนื่องจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงนั้นปรับค่าเทอมให้สูงขึ้นก็ส่งผลให้มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ต้องปรับค่าเทอมให้สูงขึ้นตาม ยังไม่รวมการเปิดหลักสูตรพิเศษราคาสูงด้วย

เมื่อสอบถามไปยังอธิการอธิการบดีหรือฝ่ายบริหารทางมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนหรือปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ ขณะที่นายนำคุณ ศรีสนิท รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชี้แจงว่า การปรับขึ้นราคาค่าเรียนพิจารณาจาก 3 ปัจจัย คือ 1) ค่าครองชีพที่ปรับขึ้นร้อยละ 1-2 ต่อปี 2) การปรับปรุงคุณภาพของหลักสูตรที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการรวมถึงห้องเรียน อาคารเรียน และสวัสดิการต่าง ๆ และ 3) การที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบทำให้รัฐจัดงบประมาณให้น้อยลง ซึ่งไม่ใช่แค่ที่นี่ แต่ทุกมหาวิทยาลัยล้วนเจอสถานการณ์แบบนี้

 

  • กระทรวงอุดมฯ-ทปอ.โยนเป็นอำนาจแต่ละมหาวิทยาลัย

ด้านนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แต่เขาปฏิเสธว่า กระทรวงฯ ไม่ได้มีอำนาจในทางนี้โดยตรง พร้อมแนะให้สอบถามนายสัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) แต่เมื่อติดต่อไป นายสัมพันธ์ ส่งให้พูดคุยผ่านเลขานุการ และได้รับคำตอบจากเลขานุการว่า  กกอ. ไม่ได้ดูแลเรื่องนี้ แต่เป็นอำนาจพิจารณาของแต่ละมหาวิทยาลัย

ขณะที่ นายพีระพงศ์ ตริยเจริญ อดีตผู้ช่วยเลขาธิการ ทปอ. กล่าวว่า ทปอ. ไม่มีนโยบาย กรอบหรือเกณฑ์ใดๆ ในการควบคุมค่าเล่าเรียนของมหาวิทยาลัย โดยให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยในการพิจารณา

คำถามต่อมาคือ  เมื่อนักศึกษาต้องเรียนออนไลน์ แต่ยังต้องจ่ายค่าเทอมเท่าเดิม แล้วการเก็บค่าบำรุงสถานศึกษาจะถูกหยิบโยกไปใช้ในส่วนใดของระบบนี้การเรียนออนไลน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือ?

หมายเหตุ: รายงานชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ลูกศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับที่ 1 ปีที่ 9 วันจันทร์ที่ 27 มกราคม 2563 โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ เอกสื่อสารมวลชน กลุ่มวิชา Journalism

สามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่: https://issuu.com/ictsilpakorn8/docs/looksilp_year9