‘บัณฑูร’ แนะรัฐเตรียมแผนสอง รับมือหากวิกฤติหนักขึ้น
ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงวิกฤติที่เกิดจากโควิด-19 นับเป็น “มหาวิกฤติ” ที่ไม่เคยเผชิญมาก่อน ที่สำคัญภาครัฐควรคิด “แผนสอง” ถึงกรณีสถานการณ์ลากยาว ว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่รอด โดยเฉพาะคนกลุ่มล่างของประเทศ
“บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกิตติคุณ (Chairman Emeritus) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK บอกกับ "กรุงเทพธุรกิจ” ว่า วิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ หยุดชะงัก เป็นวิกฤติที่ชั่วชีวิตคนบนโลกใบนี้ไม่เคยเจอมาก่อน ไม่มีในตำราให้เรียนรู้ ไม่มีวิธีคิดหรือวิธีบริหารจัดการมาก่อน ทุกคนบนโลกโดนผลกระทบเหมือนกันหมด ซึ่งแตกต่างจากวิกฤติในครั้งที่ผ่านๆ มา ที่เกิดเฉพาะจุด แต่ครั้งนี้ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ ประเมินความเสี่ยงก็ไม่ได้
ส่วนวิธีแก้ปัญหา คือ ต้องสกัดไม่ให้เกิดการระบาดเพิ่ม ดังนั้นภาครัฐก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ว่าจะผ่อนคลายได้แค่ไหน และพิจารณาว่าจะทำอย่างไร ไม่ให้เกิดการระบาดขึ้นในรอบสอง เพราะหากเกิดการระบาดรอบสอบ รอบนี้ปัญหาจะหนักมากขึ้น คนจะตกใจหนัก เสียขวัญและกำลังใจไปมากกว่าเดิม ซึ่งถ้ามองไปถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายสุด คือ ไม่สามารถสกัดโรคระบาดได้ ก็คงจะมีคนบาดเจ็บ ล้มตาย คนค้าขายไม่ได้ ไม่มีกิน จึงหวังว่าโรคนี้จะมีวิธีสกัดได้
- 2 โจทย์ใหญ่ภาครัฐต้องตีให้แตก
นายบัณฑูร กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ประเทศไทยเจอวันนี้ ถือว่าหนักที่สุด ดังนั้นต้องระดมกำลังเต็มที่ เพื่อช่วยแก้ปัญหา ส่วนภาครัฐมีโจทย์ใหญ่อยู่สองโจทย์ คือ ต้องช่วยคนที่เดือดร้อน ต้องหาว่าคนกลุ่มนี้อยู่ตรงไหน จะช่วยอย่างไรให้สามารถแก้ไขความเดือนร้อนได้จริงๆ โดยไม่ไปใช้กระสุนจนเกินตัว แต่ยังโชคดีที่วันนี้ยังมีกระสุนอยู่ เมื่อเทียบกับ 23 ปีก่อน(วิกฤติต้มยำกุ้ง) ที่ภาครัฐไม่สามารถใช้กระสุนได้ เพราะต้องไปอุดโครงสร้างระบบการเงินก่อน
“รอบนี้ผลกระทบเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ดังนั้นต้องประเมินให้ได้ว่าการช่วยเหลือจะเป็นอย่างไร อนาคตจะจ่ายเงินช่วยเหลือต่อไปไหวหรือไม่ เพราะวันนี้คนคิดว่า มีมาตรการช่วยเหลือที่ไม่สิ้นสุด เป็นหน้าที่ของผู้บริหารรัฐ ที่ต้องชี้แจงให้เห็นว่า ทุกอย่างมีที่สิ้นสุด ทุกคนต้องอยู่ในกรอบที่เป็นไปได้ สถาบันการเงินก็แบกได้ แต่อย่าบอกว่าแบกไม่มีที่สิ้นสุด แบกไว้แล้วคิดว่าไม่เป็นไร แล้วคิดว่าไม่สิ้นสุด สุดท้ายอาจหักได้ คราวนี้จะยุ่ง”
เขา บอกด้วยว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อ เกินมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ที่รัฐตั้งไว้ ภาครัฐต้องคิดโจทย์ใหม่ เพราะรัฐจะให้ 5,000 บาทไปทุกเดือนไม่ได้ สิ่งที่รัฐต้องคิดคือ เงินที่จะช่วยเหลือ 5,000 บาท ในอนาคตมีหรือไม่ หากไม่มี ต้องมีข้อเสนอใหม่ ที่ทำอย่างไรก็ได้ให้คนข้างล่างไม่ตาย ถ้าคนข้างล่างตายจะเกิดวิกฤติหนักจริงๆ ต้องหาวิธีประคอง
วิธีหนึ่งที่ทั่วโลกใช้กัน เช่น ตั้งโรงทาน เหมือนตอนเกิดวิกฤตทั้งในและต่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือปากท้องประชาชน อาจมีเงินเดือนหรือไม่มีเงินเดือนให้ แต่การันตีว่าไม่มีทางอดตาย ซึ่งโรงทาน ถือว่าทำได้ง่ายมาก เพราะโรงทานเหล่านี้ลงไปได้ถึงระดับต่ำสุดของตำบล เพื่อช่วยเหลือให้คนมีอาหารกิน ดังนั้นรัฐควรต้องเริ่มคิดว่า หากวิกฤติหนักขึ้นจนไม่สามารถจ่ายเยียวยา 5,000 บาทได้ จะรับมืออย่างไร
วันนี้รัฐบาลต้องคิดข้ามช็อต ล่วงหน้าไปถึง 2-3 เดือนข้างหน้า ว่าหากเงินที่กู้มา 1 ล้านล้านบาท หมดจะเอาเงินที่ไหน ต้องมีแผนสอง คิดไม่ออกไม่ได้ คิดไม่ออกก็เป็นรัฐบาลไม่ได้
“วันนี้รัฐบาลต้องคิดข้ามช็อต ล่วงหน้าไปถึง 2-3 เดือนข้างหน้า ว่าหากเงินที่กู้มา 1 ล้านล้านบาท หมดจะเอาเงินที่ไหน ต้องมีแผนสอง คิดไม่ออกไม่ได้ คิดไม่ออกก็เป็นรัฐบาลไม่ได้ ต้องคิดให้ออก หากคิดไม่ออกก็ต้องให้คนอื่นคิดแทน หรือหาคนอื่นมาระดมความคิดช่วยกัน อย่าบอกว่าไม่เป็นไร ไม่เสียหายที่จะดึงความคิดหลากหลายเพื่อที่จะช่วยกัน และช็อตที่สองก็ต้องคิดให้ครบ ว่าคนไทยมี 60-70 ล้านคน จะเลี้ยงอย่างไรไม่ให้คนอดตาย ต้องเปลี่ยนวิธีแก้ปัญหา จากเงินไปสู่วิธีอื่นๆ ต้องมีแผนเพื่อให้แน่ใจว่า ยังไม่อดตาย และต้องสื่อความให้ชัดเจน ไม่ใช่พอพูดไป แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วมาบอกว่าไม่มีให้แล้ว”
- กสิกรนำร่องช่วย หวังแบงก์อื่นประยุกต์ใช้
สำหรับโครงสร้างแบงก์วันนี้ ไม่ได้มีปัญหาเหมือนอดีต และวันนี้แบงก์ถือว่ามีกำลังอยู่ขั้นหนึ่ง ที่จะเข้าไปช่วย ปีนี้ทั้งปีไม่มีกำไรยังอยู่ได้ เพราะในอดีตช่วงที่เจอวิกฤตเราก็ไม่มีกำไร ไม่มีการขึ้นเงินเดือน ไม่มีโบนัสก็อยู่กันได้ แต่จะปล่อยให้กินทุนไม่ได้ เพราะถ้ากินทุนไปด้วยจะยุ่ง หากไม่กินทุน รายได้แบงก์ยังมีอยู่ เพราะไม่ใช่ทุกคนเป็นหนี้เสีย แบงก์ก็ยังมีรายได้ และเอารายได้นี้ไปตั้งสำรองหนี้เสีย และต้องอยู่บนสมมติฐานว่า อยู่ได้
ทั้งนี้ สิ่งที่ธนาคารกสิกรไทยได้ทำนำร่องในการช่วยเหลือสังคม ช่วยประชาชนเอาไว้ หวังว่า จะเป็นแนวทางช่วยคนที่ได้รับผลกระทบได้ และแบงก์ต่างๆสามารถนำแนวทางไปใช้ ภาวะนี้เปรียบเหมือนสงคราม จะปล่อยให้เมืองล้มได้อย่างไร ทุกคนต้องช่วยกัน การออกมาตรการครั้งนี้ ทุกแบงก์สามารถรับรู้ได้หมด ไม่จำเป็นต้องเรียกประชุม ก็สามารถเป็นตัวอย่างให้แบงก์อื่นๆ ทำตามแนวทางนี้ได้
“ถ้าเราปล่อยเฉย ทิ้งไว้ตามปกติไม่ทำอะไร ระบบธนาคารจะชะงักงันไม่กล้า เพราะจะมองว่าทุกอย่างเสี่ยง เงินก็จะไม่ไปลงสู่ระบบเศรษฐกิจ หากถามว่า วันนี้ธนาคารกลัวหรือไม่ ต้องบอกว่ากลัวอยู่แล้ว แต่เสี่ยงได้ แต่ต้องสำรองตามจริง ไม่ใช่ปล่อยไปแล้ว ไม่คำนวณ
วันนี้เราพอไหว แต่อย่าไปเกินมากกว่านี้ จนกระทบทุนของธนาคารหายไป จะทำให้ธนาคารล้มได้ เราเคยเจอวิกฤตนี้มาแล้ว หากระบบสถาบันการเงินล้มไปอีกจะยิ่งหนักกว่า จะเหมือนเจอโรคระบาดล้านสายพันธุ์ ซึ่งตอนนี้ยังพอไหวก็ใช้ไป แต่อย่าใช้จนหลังหัก ที่สำคัญต้องคำนวณตามจริงๆ ว่าที่ปล่อยๆ ไปหากคิดว่าเสียต้องตั้งสำรอง ไม่ใช่ปล่อยไปแล้วไม่ตั้งสำรอง แล้วไประเบิดตอนจบตอนนั้นแก้ไม่ทันแล้ว”
นายบัณฑูร ยังกล่าวอีกว่า หากดูภาพเศรษฐกิจทั่วโลกขณะนี้ หนีไม่พ้นต้องเผชิญภาวะถดถอย ไทยอาจหนักกว่าประเทศอื่น เพราะเราอิงการท่องเที่ยว ถือเป็นจุดอ่อนของระบบ ในช่วงที่การท่องเที่ยวดี เราก็ได้รับอานิสงส์ แต่ถ้าไม่ดี เราจะยิ่งได้รับผลกระทบหนักกว่าคนอื่น ผลกระทบครั้งนี้เชื่อว่า หนักสุด คือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด แต่เวลานี้ทุกคนก็เรียกร้องให้ภาครัฐช่วย เพราะเดือนร้อน สิ่งที่เจอวันนี้ ไม่มีใครมีประสบการณ์ เชื่อว่าหากใครนั่งจุดนี้ ก็เพิ่งเจอเหตุครั้งแรก ดังนั้นต้องคล้ำทางให้ได้ มองเห็นกรอบปัญหาให้ได้
- คิดล่วงหน้าเมื่อประเทศฟื้น จะทำอย่างไรต่อ
อีกกลุ่มที่เจอปัญหา คือ กลุ่มเกษตร ซึ่งแม้ไม่มีโควิด-19 ก็ใช่ว่ากลุ่มนี้จะอยู่รอด ดังนั้นต้องปรับเปลี่ยน ครั้งใหญ่ คุมโรคระบาดให้อยู่ ประคองไม่ให้เมืองแตก ไม่ให้เศรษฐกิจตาย ให้ความเป็นอยู่ของประชาชนอยู่ได้ ซึ่งเป็นโจทย์ใหม่ที่ต้องคิดให้มากขึ้น และเมื่อฟื้นแล้วก็ต้องมาคิดใหม่ ว่าจะทำมาหากินอย่างไร อันนี้คือโจทย์ใหญ่ที่สุด ไม่คิดไม่ได้ เพราะเดิมประเทศไทยไม่ได้เก่งมาก การแข่งขันประเทศไทยการค้าขายมีแต่ถดถอย ดังนั้นต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเชื่อว่า การพึ่งเฉพาะในประเทศ ก็อาจทดแทนไม่ได้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว
สิ่งที่อยากจะฝากคือ ภาครัฐ ต้องคิดโจทย์ให้ครบว่า ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ รัฐต้องวางโครงสร้างรองรับ ให้สังคมโดยรวมอยู่ได้ คนที่อยู่ล่างที่สุดต้องไม่ล้มลงตาย อันนี้คือโจทย์ใหญ่ ประคองไว้ให้ได้ นอกจากคิดเฉพาะหน้า คือระงับโรคระบาด แต่ระยะข้างหน้า ก็ต้องให้แน่ใจว่าคนระดับล่างๆจะอยู่รอดอย่างไร โดยรวมประเทศไทย โครงสร้างเศรษฐกิจไทยจะทำมาหากินอย่างไร ถึงแข่งขันกันได้
นายบัณฑูร ย้ำว่า รัฐบาลก็ต้องฟังจากหลายๆ ภาคส่วน เพื่อมารวมเป็นยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหา ต้องตอบคำถามพวกนี้ให้ได้ ต้องเปิดหูฟังหลายๆ ด้านเป็นสิ่งที่ดี และต้องมีแผนสอง คำนวณตัวเลขด้วย อย่าพูดลอยๆ ต้องเอาคณิตศาสตร์เข้ามาคำนวณด้วย ต้องคิดให้ครบ ที่ผ่านมาก็ปล่อยไป แต่ข้างหน้าอีก 3 เดือน ก็ต้องมาคิดใหม่ ว่าการแก้ไขปัญหาจะทำอย่างไร ในกรณีที่กระสุนไม่มี เพราะหากปั๊มเงินออกมาตลอด ออกมามากๆ ถึงจุดหนึ่ง เงินจะกลายเป็นของไม่มีค่า