“สื่อสาร” เหนื่อย ! ลูกค้าลดฮวบ สภาพคล่องตึงตัว-รายจ่ายวิ่งไม่หยุด
การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทุกธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่ค่ายมือถือ หลังผู้ใช้บริการลดลงอย่างน่าตกใจทั้งในระบบเติมเงินและรายเดือน
เพราะเมื่อเศรษฐกิจไม่ดีทุกคนต้องประหยัด รายจ่ายอะไรที่ไม่จำเป็นลดได้ก็ต้องลด ส่วนที่ปิดเบอร์ไปเลยก็มีไม่น้อย บางคนเคยมีหลายเบอร์ปิดเหลือเบอร์เดียว กระทบรายได้ในการให้บริการลดวูบ
นอกจากนี้ ยังมีรายจ่ายพิเศษเพิ่มขึ้นจากการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้า ทั้งมาตรการที่ค่ายมือถือออกมาเองและที่มีใบสั่งจากหน่วยงานกำกัลดูแล คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ยังไม่นับรวมค่าใบอนุญาตคลื่น 4จี คลื่น5จี การลงทุนขยายโครงข่าย เครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ และเงินกู้ที่ต้องใช้คืน รวมๆ แล้วหลายหมื่นล้านบาท ส่งผลให้สภาพคล่องแต่ละค่ายตึงตัวเต็มที
โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่ารายได้เติมเงิน (Prepaid) ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของค่ายมือถือสัดส่วน 60-70% ลดฮวบ ค่าย “เอไอเอส” ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ในสถานการณ์ปกติมียอดเติมเงินเฉลี่ย 140 ล้านบาทต่อวัน ปัจจุบันเหลือ 50 ล้านบาทต่อวัน ลดลง 64% เท่ากับว่าใน 1 เดือน รายได้จากการเติมเงินหายไปกว่า 2,700 ล้านบาท
“ทรู” บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ยอดเติมเงินลดลงจาก 90 ล้านบาทต่อวัน เหลือ 30 ล้านบาทต่อวัน ลดลง 66% หรือ ลดลง 1,800 ล้านบาทต่อเดือน ส่วน “ดีแทค” บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ลดลงจาก 20 ล้านบาทต่อวัน เหลือเพียง 5 ล้านบาทต่อวัน ลดลง 75% หรือ 450 ล้านบาทต่อเดือน
ดูจากผลประกอบการงวดไตรมาส 1 ปี 2563 ที่ประกาศมาแล้ว 2 ค่าย คือ “ดีแทค” และ “เอไอเอส” สะท้อนผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน เริ่มจาก “ดีแทค” รายได้อยู่ที่ 20,075 ล้านบาท ลดลง 6.3% จากงวดไตรมาส 4 ปี 2562 ซึ่งยังไม่มีการระบาดของโควิด-19 โดยรายได้ลดลงจากทุกส่วน ทั้งบริการเสียงและข้อมูลซึ่งเป็นรายได้หลัก 14,680 ล้านบาท ลดลง 0.9%
บริการโทรข้ามแดน (โรมมิ่ง) 188 ล้านบาท ลดลง 10.1% หลังมีการล็อกดาวน์ปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวไทยไม่สามารถเดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศได้ ส่วนรายได้จากการขายโทรศัพท์ดิ่งหนัก 37.8% เหลือ 1,697 ล้านบาท หลังศูนย์ให้บริการส่วนใหญ่ถูกปิด
ที่น่าตกใจ คือ ตัวเลขผู้ใช้บริการของ “ดีแทค” ลดลงถึง 1 ล้านราย จากสิ้นปี 2562 ที่ 20.6 ล้านเลขหมาย เหลือ 19.6 ล้านเลขหมาย และรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายเหลือ 258 บาทต่อเดือน จากไตรมาส 4 ปี 2562 อยู่ที่ 267 บาทต่อเดือน
ส่วน “เอไอเอส” แทบไม่ต่างกัน รายได้จากธุรกิจโทรศัพท์มือถือไตรมาส 1 ปี 2563 อยู่ที่ 30,334 ล้านบาท ลดลง 1.1% จากช่วงไตรมาส 1 ปี 2562 และ ลดลง 4.5% จากไตรมาสก่อน 4 ปี 2562 ผลกระทบหลักมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง ส่งผลให้ยอดขายซิมสำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 2-2.5% ของรายได้จากการให้บริการหดตัว 43% จากช่วงไตรมาส 1 ปี 2562
ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม ด้วยแพ็คเกจใช้งานดาต้าแบบไม่จำกัดซึ่งมาร์จิ้นบางมาก ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายลดลงเหลือ 242 บาท หรือ ลดลง 4.1% จากงวดไตรมาส 4 ปี 2562 ที่ 252 บาท ส่วนจำนวนผู้ใช้บริการหายไปกว่า 8.5 แสนเลขหมาย เหลือ 41.1 ล้านเลขหมาย จากสิ้นปีก่อนที่ 42 ล้านเลขหมาย
“ทรู” จะประกาศงบฯ ในวันศุกร์นี้ (15 พ.ค.) สถานการณ์คงไม่ต่างจากอีก 2 ค่าย นักวิเคราะห์ประเมินว่ายังคงขาดทุนปกติจากการดำเนินงานในช่วง 500-900 ล้านบาท รายได้จากธุรกิจมือถือลดลงตามจำนวนผู้ใช้บริการ ยอดขายมือถือ และการแข่งขันด้านราคาเพื่อรักษาฐานลูกค้า
จะเห็นว่าในช่วงต้นปีการแข่งขันในกลุ่มค่ายมือถือร้อนแรงอีกครั้ง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา แต่ละค่ายกลับมาเล่นแพ็คเกจอันลิมิเต็ดซึ่งเข้าเนื้อกันไปไม่น้อย นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทั้งโทรฟรี ยืดเวลาชำระค่าบริการ ที่เข็นออกมาช่วยลูกค้า
รวมทั้งที่มีใบสั่งจาก กสทช.ให้เพิ่มอินเตอร์เน็ตมือถือเป็น 10 GB และอินเตอร์เน็ตบ้านเป็น 100 Mbps โดยนำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มาชดเชยให้ผู้ประกอบการเลขหมายละ 100 บาท
แต่ที่ผู้ประกอบการต้องควักเงินออกเอง คือ โทรฟรีทุกเครือข่าย 100 นาที นาน 45 วัน เป็นเงินอีกก้อนที่โอเปอร์เรเตอร์ต้องจ่ายเพิ่มในปีนี้ ท่ามกลางผลประกอบการที่อ่อนแอ ขณะที่ค่าไลเซนส์ยังไม่หยุดวิ่ง จึงเป็นภาระที่หนักไม่น้อยสำหรับค่ายมือถือ
“ไอเอเอส” ปีนี้มีกำหนดจ่ายค่าใบอนุญาติคลื่น 900 MHz งวดที่ 5 จำนวน 23,269 ล้านบาท ซึ่งต้องจ่ายใน 1-2 เดือนนี้ ส่วน 5จี คลื่น 2600 MHz จ่ายงวดแรกไปแล้ว 2,093 ล้านบาทท คลื่น 700 MHz คาดชำระงวดแรก 1,715 ล้านบาท ในเดือน ต.ค. และ คลื่น 26 GHz ต้องจ่ายอีกทั้งจำนวน 5,345 ล้านบาท รวมกับเงินกู้ 14,829 ล้านบาท เท่ากับว่าปีนี้ต้องจ่ายรวมไม่น้อยกว่า 4.7 หมื่นล้านบาท
“ดีแทค” สภาพคล่องดูน่าเป็นห่วงมากที่สุด มีเงินสดและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานรวมกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท แต่ปีนี้มีภาระต้องจ่ายคืนเงินกู้และค่าใบอนุญาตรวมกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น หุ้นกู้ 4,000 ล้นบาท เงินกู้ 12,000 ล้านบาท ค่าคลื่น 26 GHz จ่ายไปแล้ว 974 ล้านบาท และคลื่น 900 MHz ต้องจ่ายปีนี้ 7,917 ล้านบาท
ปิดท้ายที่ “ทรู” จ่ายค่าคลื่น 900 MHz งวดที่ 5 ไปแล้ว เมื่อสิ้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา 23,614 ล้านบาท ส่วนคลื่น 2600 MHz จ่ายงวดแรกไปแล้วเช่นกัน 1,912 ล้านบาท เหลือค่าคลื่น 26 GHz ที่จะต้องจ่ายทั้งจำนวน 3,576 ล้านบาท รวมทั้ง 3 คลื่นเป็นเงินกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท ยังไม่นับรวมเงินกู้และหุ้นกู้