'สถาบันวิจัยไต้หวัน' คาดโควิด-19 ฉุดกำลังซื้อ 'สหรัฐ-ยุโรป-ญี่ปุ่น'
ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 ส่งแรงสะเทือนไปทั้งโลก โดยเฉพาะกำลังซื้อที่หดตัวลงมาก แม้กำลังซื้อของจีนค่อยๆ ฟื้นตัว เนื่องจากกลับสู่ภาวะปกติและเริ่มเปิดประเทศใหม่ได้เร็ว แต่ตลาดยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น ยังคงลดลง แม้ยังไม่ถึงช่วงที่แย่ที่สุดก็ตาม
ดร.หลี่ฉุน จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจจงหัว วิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ที่มีต่อประเทศจีน ประเทศในทวีปยุโรป สหรัฐ และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ จัดโดยโรงพยาบาลจางฮั่วคริสเตียนครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “ผลกระทบทางเศรษฐกิจของโควิด-19 ที่มีต่อโลกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
ดร.หลี่ฉุน กล่าวว่า ประเทศจีนในช่วงไตรมาสแรก ประกาศล็อกดาวน์ประเทศเร็ว จึงสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติและเริ่มเปิดประเทศใหม่ได้เร็ว คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสแรกของจีนต่ำสุดคือ -11% แต่การเติบโตโดยรวมยังคงเป็นบวก แต่เมื่อเทียบอัตราการเติบโต +6% ในปี 2562 ถือว่าลดลงมาค่อนข้างมาก
ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ คาดการณ์จากแต่ละหน่วยงานในไตรมาสที่ 2 อัตราการเติบโตติดลบเฉลี่ย 15% และสำหรับตลอดทั้งปี ยังไม่มีการคาดการณ์ เพราะยังคงต้องดูปฏิกิริยาของตลาดในช่วง 2-3 เดือนนับจากนี้
ทั้งนี้ กำลังซื้อของจีนค่อยๆ ฟื้นตัว แต่ตลาดยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น ยังคงลดลง แต่ยังไม่ถึงช่วงที่แย่ที่สุด การคาดการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของทั่วโลก เนื่องจากวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ คาดว่าจีดีพีของเดือน ม.ค. ปี 2563 และเดือน เม.ย. ปี 2563 แตกต่างกันอย่างมากอย่างเห็นได้ชัด และปัจจุบันสถานการณ์ถือว่าแย่มาก
กำลังซื้อของจีนค่อยๆ ฟื้นตัว แต่ตลาดยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น ยังคงลดลง แต่ยังไม่ถึงช่วงที่แย่ที่สุด
นอกจากนี้ จากข้อมูลเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จะพบว่า จีดีพีของประเทศไทยและฟิลิปปินส์ในปี 2563 ค่อนข้างแย่ การเติบโตของไทยติดลบ สาเหตุหลักคือ ปัญหาของโครงสร้างอุตสาหกรรมและการพึ่งพาตลาด เช่น การพึ่งพาตลาดจีน
โดย 3 ประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ประเทศไทย และประเทศฟิลิปปินส์ พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ดังนั้นใน 3 เดือนนี้จึงมีความสำคัญมาก มีความคาดหวังว่าจะดีขึ้น แต่ก็ต้องเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่แย่ที่สุด เพราะตอนนี้ยังไม่ถึงจุดที่แย่ที่สุด
แต่ก็จะเกิดโอกาสใหม่ๆ ในอาเซียนที่มีต้นตอจากประเทศจีนเป็นหลัก โดยจีนจะยังคงเป็นหลักในระยะสั้นๆ แต่ในด้านการผลิตจะมีการเพิ่มประเทศในแถบอาเซียนเป็นฐานการผลิต ถ่ายโอนไปยังประเทศในอาเซียน เนื่องจากความไม่ไว้ใจในจีน ฐานการผลิตสินค้าบางอย่างจะต้องถูกย้ายออกไปจากจีน โดยเฉพาะสินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐ ฐานการผลิตจะถูกย้ายไปยังประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากจีนและประเทศที่เป็นมิตรกับจีน ถือเป็นการกระจายฐานการผลิต
ด้วยนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของไต้หวัน จึงตั้งใจแบ่งปันประสบการณ์กับกลุ่มประเทศอาเซียน และแสวงหาความร่วมมือ และด้วยข้อได้เปรียบทางการแพทย์ของไต้หวัน ในอนาคตย่อมมีโอกาสได้ร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างแน่นอน
เมื่อวันพฤหัสบดี (7 พ.ค.) ไต้หวันได้ประกาศความพร้อมด้านการผลิตอุปกรณ์และโซลูชั่นป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยืนยันความมั่นใจในระบบนิเวศการผลิตอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ป้องกันการแพร่ระบาด เช่น หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรค บริการให้คำปรึกษาทางไกลจากแพทย์ฯ เพื่อช่วยเหลือทุกฝ่ายต่อสู้และรับมือกับการระบาดที่รุนแรงของโควิด-19
ทั้งนี้ สภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกไต้หวัน ได้จัดการสัมมนาออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์กับโรงพยาบาล Cheng Kung University เพื่อเน้นย้ำถึงจุดแข็งของไต้หวันในการรับมือกับโควิด-19 พร้อมกับกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงเวลานี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ชาวอินเดียกว่า 14,000 คน เข้าร่วมฟังการบรรยาย และได้สัมผัสกับอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกทางการแพทย์ผ่านการแสดงสินค้าทางออนไลน์ โดยมีผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมของไต้หวันกว่า 33 รายการเข้าร่วมแสดง
การจัดงานแบบออนไลน์นี้ ถือเป็นการตอบรับมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม ขณะที่กลุ่มผู้ซื้อจากต่างประเทศและผู้สนใจสามารถมีส่วนร่วมและทำความรู้จักกับผลิตภัณฑ์ง่ายๆ เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสและสามารถเข้าชมได้จากทั่วทุกมุมโลก