ชวนคนไทยปรับตัวรับ New normal ใน 12กิจการ
สธ.แนะปรับตัวรับ New normal ในกิจการ/กิจกรรม ระบุปฎิบัติ 4 แนวทาง รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล ออกแบบทางวิศวกรรม ปรับปรุงระบบการทำงาน เตรียมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ย้ำการ์ดอย่าตก ขณะที่ สสส.ชวนคนไทยปฎิบัติตัวตามคู่มือมนุษย์โควิดใน 12 กิจการ/กิจกรรม
สธ.ออก 4 แนวปฎิบัติปรับตัวรับ New normal
วันนี้ (10 พ.ค.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)แถลง “การปรับตัวรับ New normal ใน12 กิจการ” โดยมี นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลังจากเปิดเมืองไปได้ประมาณเกือบสัปดาห์ สถานการณ์ตอนนี้ค่อนข้างดี เป็นการแพร่ระบาดของโรคจากในวงกว้างถอยกลับมาในวงจำกัด ซึ่งทุกคนต้องรักษาสภาพการแพร่ระบาดของโรคให้ต่ำที่สุด ดังนั้น โอกาสที่เราจะกลับไปสู่ระยะวิกฤตได้หรือไม่นั้น หากคนไทยทุกคนการ์ดเริ่มตก ไม่ระมัดระวังตนเอง ประมาทก็จะกลับไปสู่การแพร่ระบาดของโรคในระยะวิกฤตได้
ต่อให้มีผู้ป่วยน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะมีผู้ป่วยในประเทศเพียงจำนวนที่แจ้ง เนื่องจากโรคนี้มีอาการค่อนข้างน้อย ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มองว่าตัวเองไม่มีอาการ สธ.จึงดำเนินการหามาตรการเชิงรุกในการค้นหา หากจะให้คลายใจในเรื่องการแพร่ระบาดของโควิดได้ ต่อเมื่อสถานการณ์ทั่วโลกดีขึ้น หรือมีวัคซีนให้คนไทยได้ ถ้าจะเข้าระยะที่ 3 หรือระยะฟืนฟู
นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวต่อว่าการเปิดเมืองเพื่อให้ภาคเอกชน ภาคธุรกิจเดินต่อไปได้ แต่ทุกคนต้องระมัดระวังและต้องปฎิบัติตัวให้เหมาะสม ซึ่งสธ.คาดหวังว่าสังคมจะเปลี่ยนไปหากทุกคนให้ความร่วมมือ ใน 4 เรื่องดังต่อไปนี้
1.เรื่องการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล สำหรับหน่วยงานไหนทำงานจากบ้านได้ขอให้ทำ และควรจะมีประมาณ 70% กำหนดจำนวนคนที่สามารถเข้ามาทำงานและมาให้บริการ เว้นระยะห่างในโต๊ะทำงาน การจัดออฟฟิคให้เหมาะสม ไม่หนาแน่นมากเกินไป การเหลื่อมเวลาทำงาน และระบบคิว
2.การออกแบบทางวิศวกรรม ควรมีการระบายอาการ การป้องกันแพร่กระจายเชื้อโดยการใช้แผงกัน
3.ปรับปรุงระบบการทำงาน การประชุมทางไกล การเพิ่มการทำธุรกรรมทางอินเตอร์เน็ต การเรียนรู้ทางไกลโดยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในหลายๆ เรื่อง ทำให้คนและเด็กเรียนรู้จากที่ไหนก็ได้ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับปรุงระบบการทำงาน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน
4.อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล สวมใส่หน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ รับประทานอาหารปรุงสุก สะอาด และใช้ช้อนกลางส่วนตัว
“ถ้าหมดช่วงภาวะฉุกเฉินของสถานการณ์การแพร่ระบาดแล้ว ก็ยังคงให้ดำเนินการตามแนวปฎิบัติทั้ง 4ข้อต่อไป เพราะการเป็น New normal ครั้งนี้ จะสามารถช่วยลดภาวะโรคอื่นๆ รวมถึงลดปัญหาจราจร ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และแก้ปัญหาต่างๆ ที่จะช่วยให้เกิดการปฎิรูป เปลี่ยนภายในองค์กร และเปลี่ยนแปลงการใช้ของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น ไม่อยากให้มองเรื่องเหล่านี้ว่าเป็นช่วงเวลาสั้นๆ อยากเน้นย้ำให้ทุกคนช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ต่อ”นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าว
เปิดห้างควรทำ แนะไปเท่าที่จำเป็น อย่าไปเดินเล่น
นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวต่อไปว่า การเปิดสถานที่ กิจการต่างๆ อย่างตลาด หรือห้างสรรพสินค้า เป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อให้เศรษฐกิจ ธุรกิจเดินต่อไปได้ แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ เมื่อเปิดห้างสรรพสินค้าแล้วนั้น คนจะไปเดินเต็มห้าง ซึ่งสธ.อยากให้ธุรกิจทุกอย่างสามารถดำเนินการได้อย่างปกติ แต่ ไม่ควรเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อของประเทศ
ฉะนั้น ในแง่ของบุคคลต้องไปห้างเท่าที่จำเป็น อย่าไปเดินเล่น หรือแฮงเอาท์ที่ห้าง อย่ามองว่าการเดินห้างเป็นการพักผ่อนแต่ควรมองว่าเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้แก่ตนเองและครอบครัว ขณะเดียวกันห้างต้องมีระบบการคัดกรองคนที่มาเดินห้าง คนมาให้บริการ และทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสให้มากที่สุด เปิดห้างได้แต่ควรมีความเสี่ยงต่อสังคมให้น้อยที่สุด เจ้าของห้าง และคนที่เดินห้างต้องให้ความร่วมมือ
ทั้งนี้ สำหรับแผงกั้นใสในร้านอาหารนั้น อยากให้แนะนำ ควรเป็นแผงกันระหว่างโต๊ะร้านอาหาร จะมีประโยชน์มากกว่า แผนกั้นในโต๊ะ ซึ่งการวางแผนกั้นต้องสูงมากกว่าศีรษะคนเวลานั่ง หรือยืน ต้องกั้นไปด้านหน้า และด้านหลัง 1.5 เมตร
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยการติดเชื้อ ขึ้นอยู่ 2 อย่าง คือ พื้นที่ที่เราอยู่มีผู้ติดเชื้อในชุมชนมากขนาดไหน และมีการสัมผัสหรือพบเจอผู้คนมากน้อยขนาดไหน การออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ลดจำนวนผู้คนที่ต้องไปพบเจอ มีความจำเป็น ซึ่งในพื้นที่ความเสี่ยง จะเป็นพื้นที่ที่เคยพบผู้ป่วยจำนวนมาก เช่น ในพื้นที่กทม.ตีความได้ว่า เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยง
ส่วนการเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติเข้ามาในไทยนั้น ตราบใดที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้ โอกาสที่คนต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยได้ค่อนข้างต่ำ ส่วนคนไทยจะเดินทางไปต่างประเทศ ต้องเป็นไปตามการพิจารณาของแต่ละประเทศว่ามีความเชื่อมั่นในประเทศไทยมากน้อยหรือไม่
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ผลกระทบต่อการดำรงชีวิต การเดินทาง การปฎิบัติงาน เศรษฐกิจ การใช้ชีวิต ซึ่งเมื่อมีการถามว่าแล้วเราจะกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมได้เมื่อใดนั้น เรื่องนี้ สธ.คงไม่ใช้ผู้ตอบ เพราะคนที่มีพลังอำนาจจะยุติการแพร่ระบาด คือ คนไทยทุกคน ที่ต้องช่วยกันดูแลความเสี่ยงเหล่านี้ในสังคมไทยมีอัตราการแพร่ระบาดต่ำที่สุด ดังนั้น อยากให้ทุกคนอ่านคำแนะนำต่างๆ ในการใช้ชีวิต และปฎิบัติตัวเองอย่างดี” นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าว
สสส.ชวนคนไทยปฎิบัติตามคู่มือ มนุษย์โควิด
นายแพทย์ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ขณะนี้ทางภาครัฐได้มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ โดยได้มีการเปิดกิจการ กิจกรรมต่างๆ ทางสสส.ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เครือข่าย THAI SAFE NERWORK บริษัท ลูกคิด (Lukkid) จำกัด Thailand Development Research Institute (TDRI) บริษัท สคูลดิโอ จำกัด และ Eureka Global
จัดทำคู่มือสู้โควิดในชีวิตจริง “มนุษย์โควิด ตอน เปิดเมืองให้ป(ล)อด” โดยเน้น 12 กิจการ และกิจกรรม เพื่อนำเสนอแนวทางป้องกันตนเองให้ห่างจากโรค วิธีการดูแลตนเอง การประเมินสุขภาพ อาการของคนที่เสี่ยงเป็นมนุษย์โควิด ในรูปแบบอินโฟกราฟิก มีภาพประกอบทุกขั้นตอนทำให้ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่าย
“แนวทางในการปฎิบัติตัวของ 12 กิจการ/กิจกรรมนั้น จะมีทั้งในส่วนของผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการ รวมถึงคำแนะนำต่างๆ เช่น วิธีการดูแลตัวเองสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ลดพฤติกรรมเสี่ยง ลดความหนาแน่นในพื้นที่ต่างๆ ออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็น ลดการพูดคุย ลดระยะเวลาใช้เวลาร่วมกันไม่เกิน 1 ชั่วโมง ลดที่ปิดควรเป็นสถานที่เปิด ระบายอากาศได้ดีเป็นต้น ซึ่งในทั้ง 12 กิจการ/กิจกรรมจะมีทั้งหมด 12 คำแนะนำ ในการดูแลตนเอง ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้ให้บริการ” นายแพทย์ไพโรจน์ กล่าว
เผยตัวอย่างการดูแลตัวเองในกิจการ/กิจกรรมต่างๆ
ทั้งนี้ สำหรับตัวอย่างแนวทางในการปฎิบัติตนจากคู่มือมนุษย์โควิด อาทิ เจ้าของตลาดสด ตลาดนัด แผงลอยต่างๆ ต้องมีการเตรียมตัว ตั้งแต่การจัดพื้นที่ จุดขายไม่ให้ชิดกัน ผู้ขายต้องรักษาสุขอนามัย ล้างมือ ต้องสวมใส่หน้ากาก หลังการซื้อขายต้องทำความสะอาดร้านทุกๆ 1 ชั่วโมง และต้องลดการสัมผัสจากการซื้อขายสินค้า หรือชำระค่าบริการ
ส่วนผู้ซื้อต้องใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ไม่นาน ต้องสวมใส่หน้ากากตลอดเวลา รักษาสุขอนามัย ล้างมือ ลดการพูดคุย และหลังจากการซื้อขาย ต้องทำความสะอาดมือของตนเอง หรือเวลาเข้าไปร้านอาหารตามสั่ง เมื่อเข้าไปในร้านต้องดูการปรุงอาหาร ช้อนชิม ช้อนตัก การใส่ถุงมือในการปรุงอาการของแม่ค้า และใช้ระบบการโอนเงิน แต่ถ้าจ่ายเงินสดต้องลดการสัมผัส วางไว้ที่ถาด หรือตะกร้า และต้องล้างมือ
ขณะที่ การเดินทางโดยเฉพาะรถไฟฟ้า มีคำแนะนำสามารถที่จะมีทางเลือกการใช้ชีวิ ตั้งแต่ก่อนขึ้นรถไฟฟ้า ทำความสะอาดมือ และสวมใส่หน้ากาก เมื่อเข้าคิวขึ้นรถควรรักษาระยะห่าง 1-2 เมตร และจุดแลกเหรียญ ให้เปลี่ยนเป็นบัตรส่วนตัว และจ่ายผ่านแอปพลิเคชั่น ผู้โดยสารต้องใส่หน้ากากอนามัยลดการพูดคุยขณะเดินทางโดยสาร เมื่อออกจากรถ รถไฟฟ้าต้องทำความสะอาดให้ถี่มากขึ้น
ส่วนการขึ้นวิน มอเตอร์ไซต์ สวมใส่หน้ากาก สวมหมวกกันน็อค พกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ระหว่างรอขึ้นรถรักษาระยะห่าง 1-2 เมตร ลดการพูดคุย และจ่ายค่าโดยสารผ่านแอปพลิเคชั้น ด้านการเปิดห้างสรรพสินค้า ผู้ใช้บริการควรมีการเตรียมพร้อมตัวเอง จดรายการที่ตัวเองอยากซื้อ ไม่ไปแออัด ให้ความสำคัญของการล้างมือ สวมใส่หน้ากาก
อย่างไรก็ตาม อยากเชิญชวนให้ทุกคนปฎิบัติตามคู่มือมนุษย์โควิดทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดคู่มือสู้โควิดในชีวิตจริง “มนุษย์โควิด ตอน เปิดเมืองให้ป(ล)อด” ได้ที่ https://drive.google.com/open?id=1peOTDqlw_rvrReia8Vvkz3-3C1xTAE80