'ธนาธร' ไม่เห็นด้วยกับวิธีการอุ้มการบินไทยแบบรัฐบาล
"ธนาธร" ไลฟ์ ไม่เห็นด้วยกับวิธีการอุ้มการบินไทยแบบรัฐบาล ระบุ ถ้าการบินไทยไปได้ดี ผู้ถือหุ้นเป็นผู้ชนะ ถ้าการบินไทยเจ๊ง ประชาชนแพ้ ผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เฟซบุ๊กไลฟ์ กล่าวถึงแผนฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นชอบให้กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ค้ำประกันกู้เงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง ใช้ในการดำเนินงานและชำระหนี้ระยะสั้น ระบุว่า รัฐบาลอุ้มการบินครั้งนี้ ไม่ได้ใช้เงินเพียงแค่ 50,000 ล้านบาท เพราะใช้เพียงหล่อเลี้ยงสภาพคล่อง และจ่ายเงินเดือนพนักงาน ในขณะที่ธุรกิจการบิน การท่องเที่ยว และสนามบินปิดอยู่ ต่อไปถ้าการบินไทยล้มละลาย เจ้าหนี้ได้เงินทุกบาททุกสตางค์จากรัฐบาล แต่ยังมีก้อนที่สองที่พูดถึงกันน้อย คือ การเพิ่มทุนเพื่อปรับปรุงงบการเงินให้แข็งแรง และเดินหน้าธุรกิจในระยะยาวอีก 80,000 ล้านบาท รวมแล้วจะต้องใช้เงิน 130,000 ล้านบาท
นายธนาธร กล่าว ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับวิธีการอุ้มการบินไทยแบบรัฐบาล เพราะแบบที่รัฐบาลทำอยู่ในปัจจุบันนั้น ถ้าการบินไทยไปได้ดี ผู้ถือหุ้นเป็นผู้ชนะ ถ้าการบินไทยเจ๊ง ประชาชนแพ้ ผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นตามมาตรการของรัฐบาลนี้ไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆ กับผลประกอบการของการบินไทย ไม่ว่าจะขาดทุนเท่าไรก็ตาม แต่ถ้ากำไรพวกเขาได้ประโยชน์ กลับกันในส่วนของประชาชน ถ้าการบินไทยไปได้ดี ประชาชนไม่ได้อะไรเลย แต่ถ้าการบินไทยเจ๊ง ประชาชนจะต้องเป็นคนแบกหนี้ เป็นคนที่จะต้องจ่ายเงินเพิ่มทุนลงไป ดังนั้น ผมเห็นว่าเรามีรูปแบบอื่น มีวิธีแบบอื่นที่จะจัดการปัญหาของการบินไทยในวันนี้ได้ดีกว่านี้
ส่วนประมาณการงบกำไรขาดทุนในแผนฟื้นฟูระหว่างผู้บริหารการบินไทยกับรัฐบาล ที่ประมาณการว่า ในปีนี้จะติดลบ 59,000 ล้านบาท แต่ปี 2564 จะกลับมามีกำไร 4,500 ล้านบาท และในปี 2567 จะมีกำไร 13,000 ล้านบาทนั้น ในฐานะที่ทำธุรกิจ เป็นไปไม่ได้ที่การบินไทยจะลดต้นทุน 42% ภายใน 2 ปี เพราะตนไม่เชื่อมั่นแผนธุรกิจนี้ และผู้ที่ทำแผนธุรกิจนี้รู้ดีว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ได้ขอเงินแค่ 50,000 ล้านบาท แต่ขอเงินจากรัฐบาลถึง 130,000 ล้านบาท ถ้าเป็นไปตามแผนธุรกิจนี้จริง ไม่จำเป็นที่จะต้องกู้เงินและเพิ่มทุนเช่นนี้ แต่แผนธุรกิจนี้ทำขึ้นมาเพื่อให้สวยหรู สามารถขอเงินกระทรวงการคลังได้ เพื่อที่จะบอกว่าปีต่อไปจะมีกำไร จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การบินไทยไม่สามารถปรับปรุงตัวเองให้กลับมามีกำไรยั่งยืนได้ ในปีที่แล้วขาดทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากจะปรับต้นทุนจาก 200,000 ล้านบาท ให้เหลือ 116,000 ล้านบาท ต้องลดต้นทุนกว่า 40% ภายใน 2 ปี เป็นไปได้ยากมาก ดังนั้น จึงไม่มีความเชื่อมั่นในแผนธุรกิจฉบับนี้เลย ว่า ภายในปีหน้าปีเดียวการท่องเที่ยวจะกลับมา เราจะสามารถลดต้นทุนได้ เราจะขายฝูงบิน (Fleet) ได้ และจะกลับมามีกำไรได้ 4,500 ล้านบาท ภายใน 1 ปี
นายธนาธร กล่าวทิ้งท้ายว่า การบินไทยไม่ใช่สายการบินเดียวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ ยังมีสายการบินอื่นอีกด้วย ที่ผ่านมา เงินเดือนและสวัสดิการของการบินไทย สูงกว่าสายการบินอื่นๆ ในเอเชีย แต่ประสิทธิภาพต่อพนักงานหนึ่งคนต่ำ ค่าเฉลี่ยพนักงาน 1 คนของการบินไทย สร้างยอดขายได้เพียง 8.8 ล้านบาทต่อปี ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของสายการบินอื่น 11.7 ล้านบาทต่อปี จะเห็นได้ว่า การบินไทยมีต้นทุนต่อพนักงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการบิน แต่ขณะเดียวกัน มีประสิทธิภาพต่อหัวพนักงานต่ำกว่า แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของผู้บริหารและการบริหารองค์กร ที่ไม่สามารถเอาศักยภาพของพนักงานมาแปรเป็นรายได้และกำไรได้ ดังนั้น คงหนีไม่พ้นการปฏิรูปครั้งใหญ่ การปรับโครงสร้างการบริหาร การปรับโครงสร้างหนี้ และการปรับโครงสร้างทุนของการบินไทย หากยังเห็นว่าจำเป็นจะต้องมีสายการบินแห่งชาติต่อไป