ฝ่าวิกฤติโควิด 'พลังงาน' อัด 6.6 หมื่นล้าน เร่งลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ
เปิดแผนรุก! ฝ่าวิกฤติโควิด "พลังงาน" อัด 6.6 หมื่นล้าน เร่งลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ
สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ขณะนี้ต้องยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจของบประเทศอย่างเห็นได้ชัด หลายสำนักออกมาประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะติดลบจากปีก่อน เนื่องจากการส่งออกลดลง ภาคการท่องเที่ยวหยุดชะงัก ภาวะการลงทุนต่างๆ ชะลอตัว ส่งผลให้รัฐบาลต้องอัดฉีดเม็ดเงินหลายแสนล้านบาท เพื่อพยุงเศรษฐกิจ และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ให้สามารถฟันฝ่าวิกฤติช่วงนี้ไปได้
เร่งลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน
กระทรวงพลังงาน ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และแบ่งเบาภาระประชาชน ภายใต้การดำเนินงานของ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ขณะนี้กำลังเร่งรัดให้เกิดการลงทุนได้จริงในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างรายได้ สร้างอาชีพ เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน และเป็นการช่วยให้เกิดการใช้อุปกรณ์และบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานในประเทศให้เพิ่มขึ้น หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีฉบับปรับปรุงใหม่ในเดือนพฤษภาคมนี้ จะทำให้การจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนดังกล่าวเกิดขึ้นได้ในระยะแรก 100 เมกะวัตต์ ทำให้เกิดการลงทุนในช่วงปี 2563-2564 ราว 7-8 หมื่นล้านบาท ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการถือหุ้นในโรงไฟฟ้าและการขายวัตถุดิบป้อนโรงไฟฟ้า
นอกจากนี้ ยังได้ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ให้เร่งรัดการลงทุนในช่วงรอยต่อของแหล่งบงกชและเอราวัณ ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจะทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนจากการก่อสร้างแท่นขุดเจาะและผลิตเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นราว 2,000 อัตรา
พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดกิจกรรมการรื้อถอนแท่นผลิตที่จะไม่ได้ใช้งานต่อ โดยเฉพาะในแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ในช่วง 2-3 ปีนี้ ที่จะมีการรื้อถอนแท่นผลิตจำนวน 53 แท่น เกิดการลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท และช่วยให้มีการจ้างงานที่เป็นคนไทยกว่า 1,000 อัตราต่อปี อีกทั้งช่วยส่งเสริมการใช้วัสดุอุปกรณ์หรือบริการจากภายในประเทศ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวจะเป็นกลไกช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวได้หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง
ลดค่าไฟบ้านอยู่อาศัย
ขณะที่การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ต้องยอมรับว่ากระทรวงพลังงาน ได้เข้ามาดูแลปัญหาอย่างทันท่วงที และครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มได้อย่างทั่วถึง เบื้องต้นใช้งบแล้วกว่า 6.6 หมื่นล้านบาท ไล่ตั้งแต่การออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศราว 22 ล้านราย ที่มีการขยายเพดานการใช้ไฟฟ้าฟรีเพิ่มเป็น 150 หน่วยต่อเดือน และหากครอบครัวใดที่ใช้ไฟไม่เกิน 800 หน่วยต่อเดือน ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และหากใช้เกิน 800 หน่วยต่อเดือนมีส่วนลดส่วนเกินจากเดือนกุมภาพันธ์ ให้ 30-50% เป็นเวลา 3 เดือน(มีนาคม-พฤษภาคม 2563)คิดเป็นเงินช่วยเหลือราว 22,154 ล้านบาท
รวมถึงการตรึงค่าไฟฟ้าหรือค่าเอฟทีในช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 คิดเป็นเงินราว 4,534 ล้านบาทขณะเดียวกันได้ลดค่าไฟฟ้าลง 3 % ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทถึงเดือนมิถุนายน และยังเติมเงินในกระเป๋าจากมาตรการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าจำนวน 21.5 ล้านราย คิดเป็นวงเงินราว 3.3 หมื่นล้านบาท และการเร่งเบิกจ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าวงเงิน 4,064 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในพื้นที่ 72 จังหวัดอีกด้วย
เล็งช่วยกลุ่มอุตฯเพิ่ม
นอกจากที่กล่าวแล้ว ยังมีการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการหรือกลุ่มธุรกิจโดยการขยายเวลาการชำระค่าไฟให้กลุ่มธุรกิจโรงแรม กิจการให้เช่าพักอาศัย โดยผ่อนผันได้ไม่เกิน 6 เดือน และยังลดค่าไฟฟ้าให้ผู้ประกอบการโรงแรม หรือหอพักที่ปรับเปลี่ยนให้เป็นที่พักหรือโรงพยาบาลสนาม อย่างน้อย 30% และเตรียมยืดระยะเวลาการยกเว้นเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำออกไปจนถึงสิ้นปี 2563 ให้กับกลุ่มเอสเอ็มอี โรงงานอุตสาหกรรม และโรงแรม ที่คาดว่าจะใช้เงินราว 2,313 ล้านบาท ในการลดค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการ
อีกทั้งที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน ยังแบ่งเบาภาระผู้บริโภค โดยการลดราคาก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีลง 45 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม รวมทั้งลดราคาเชื้อเพลิงก๊าซเอ็นจีวี ให้รถโดยสารสาธารณะ และตรึงราคาเอ็นจีวีให้กับรถยนต์ทั่วไป และได้ปรับลดปริมาณสำรองน้ำมัน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันลดภาระการแบกรับต้นทุนจากการสต๊อกน้ำมันดิบที่มากจนเกินไป
พร้อมร่วมมือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดหาและแจกจ่ายแอลกอฮอล์ 70% ใช้ทางสาธารณสุข เพื่อจัดส่งไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกว่า 9,800 แห่งทั่วประเทศ รวมกว่า 220,600 ลิตร ซึ่งจะส่งมอบให้ครบ 76 จังหวัด ภายในเดือนพฤษภาคมนี้
หลังจากนี้ คงต้องติดตามกันต่อไปว่า กระทรวงพลังงาน จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการแบ่งเบาภาระประชาชนอย่างไรออกมาอีก เพราะหัวเรือใหญ่ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” ที่ซูเปอร์โพล เทผลสำรวจให้เป็นรัฐมนตรีอันดับ 1 ที่มีผลงานลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนช่วงโควิด-19 คงจะมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมออกมาอีกอย่างแน่นอน