นิคมอุตสาหกรรมอ่วมพิษ 'โควิด' ยอดขายที่ดินทั้งปีวูบ 30%
ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม เผย โควิดฉุดยอดขายพื้นที่ปีนี้ 20-30% แนะรัฐออกแพ็กเกจดึงการลงทุน ช่วยเหลือช่วงโควิดทั้งมาตรการภาษี ลดค่าธรรมเนียม “ดับบลิวเอชเอ” คาดครึ่งปีหลังดีขึ้น
นางอัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ยอดขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมชะลอลง โดยเฉพาะนักลงทุนจากจีน เพราะเดินทางมาไทยไม่ได้ บางส่วนชะลอดูสถานการณ์และบางส่วนได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก
วิกฤติโควิดทำให้สินค้าบางอุตสาหกรรมต้องการลดลง แต่บางอุตสาหกรรมต้องการเพิ่มขึ้น และขยายการ เช่น อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์และสุขภาพ ส่งผลให้บางนิคมอุตสาหกรรมยังเดินหน้าได้ตามแผน แต่บางนิคมอุตสาหกรรมต้องรอ เพราะการตัดสินใจของนักลงทุนต้องใช้เวลา
"สมาคมฯ คาดว่ายอดการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมปีนี้ อาจลดลง 20-30% โดยจะหารือกับผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมเพื่อประเมินข้อมูลที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าหลังสถานการณ์โควิดจบลง การเดินทางระหว่างประเทศปกติ การเข้ามาลงทุนซื้อที่ดินตั้งโรงงานจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ"
ทั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ต้องเดินหน้าสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน และออกมาตรการจูงใจดึงดูดการลงทุนใหม่ทั้งมาตรการภาษีและมาตรการอื่น เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ เช่น ลดค่าโอนที่ดินให้เหลือ 0.01% และการลดค่าธรรมเนียมค่าใช้ใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งจะต้องร่วมมือช่วยเหลือกันจากทุกฝ่าย โดยรัฐบาลควรจัดเป็นแพ็กเกจพิเศษดึงดูดการลงทุนช่วงโควิด ทั้งมาตรการระยะสั้นและระยาว ซึ่งภาคเอกชนได้เตรียมเสนอแพ็กเกจให้รัฐบาลพิจารณา
ขณะที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ควรออกมาตรการช่วยเหลือผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและโรงงาน เช่น ลดค่าบริการกำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมที่เก็บจากผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม 20-30% หรือขยายเวลาการชำระออกไป 6 เดือน โดยไม่เสียดอกเบี้ยเพื่อให้เจ้าของนิคมอุตสาหกรรมนำส่วนลดที่ได้ไปลดให้โรงงาน ซึ่งกำลังเจรจากับ กนอ.
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการลงทุน จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจระยะสั้นจะเกิดการลงทุนจ้างผู้รับเหมาะก่อสร้างอาคารซื้อวัสดุอุปกรณ์ และเมื่อตั้งโรงงานเสร็จจะเกิดการจ้างงานใหม่ จะช่วยดูดซับแรงงานที่ตกงานและแรงงานจบการศึกษาใหม่ รวมทั้งเพิ่มเทคโนโลยีใหม่ให้ประเทศ และเกิดการส่งออกนำเงินตราเข้าประเทศ
นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีมาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอีตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม เช่น การช่วยผ่อนปรนค่าเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งหากเอสเอ็มอีเข้ามาอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมจะทำให้ภาคบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมได้ง่าย และเอสเอ็มอียังได้รับสิทธิประโยชน์จาก กนอ.
"ดับบลิวเอชเอ" ชี้ครึ่งปีหลังฟื้น
นางสาว จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ดับบลิวเอชเอไม้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่มาก โดยธุรกิจโลจิสติกมีผลประกอบการที่ดี จากการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซ ล่าสุดลงนามสัญญาใช้พื้นที่อีก 30,000 ตารางเมตร ในขณะนี้ลงนามไปได้กว่า 1 แสนตารางเมตรแล้ว จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ปีนี้ 2 แสนตารางเมตร
ส่วนนิคมอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบช่วงครึ่งปีแรกเพราะคนเดินทางมาไม่ได้ แต่ช่วงครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวจะเห็นนักลงทุนจากจีนหรือญี่ปุ่น ย้ายฐานมาลงทุนในไทยมากขึ้น และหากการเดินทางระหว่างประเทศเป็นปกติ การเคลื่อนย้ายการลงทุนจะมาอีกระรอกครั้งใหญ่ต่อเนื่องจากสงครามการค้า
ทั้งนี้ หลังโควิด-19 จะมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เริ่มในไลน์การผลิตต่างๆ โดยมีเทคโนโลยี 5จี เช่น ใช้หุ่นยนต์เพิ่ม เพื่อเว้นระยะห่างในไลน์ผลิต เพื่อให้ปิดสายการผลิตได้ทันทีบางส่วนหากมีโรคระบาด ขณะที่สายการผลิตอื่นยังผลิตต่อไปได้ จะเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 เร็วขึ้น โดยอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพและเทคโนโลยีทางด้านสุขภาพจะเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น ทั้งการขยายฐานการผลิตจากจีนและประเทศอื่นมาไทย
"ไทยน่าจะใช้จุดเด่นในการรับมือโควิด-19 ได้ดี เข้ามาดึงดูดการลงทุนในเรื่องนี้ รวมทั้งด้านอีคอมเมิร์ซจะมาเร็วและแรงขึ้น มาด้วยเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น โดยยุทธศาสตร์ของดับบลิวเอชเอได้เดินไปตามแนวทางนี้อยู่แล้ว จึงมั่นใจว่า ดับบลิวเอชเอ ได้รับผลกระทบน้อยกว่ารายอื่น"
กนอ.เล็งคลอดแผนช่วยเอกชน
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวว่า กนอ.ได้ปรับเป้าหมายยอดขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้งประเทศเดิม 3,500 ไร่ เหลือ 2,000-2,500 ไร่ ถ้าหยุดโควิด-19 ได้เร็วจะฟื้นตัวได้เร็ว โดยยอดขายพื้นที่ช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.2562–มี.ค.2563) ยังไม่ได้กระทบมากนัก แต่ในช่วงครึ่งปีหลังได้รับผลกระทบแน่นอน
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นมีทั้งการขายที่ดินที่ลดลง เนื่องจากไม่สามารถเดินทางมาไทยเพื่อเจรจาธุรกิจได้ และเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ส่วนโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมบางส่วนมีแรงงานลดลงจากการที่แรงงานต่างด้าวกลับประเทศ และการขนส่งโลจิสติกส์ติดขัด
ทั้งนี้ กนอ.กำลังพิจารณาลดค่าธรรมเนียมที่เก็บกับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรายปี รวมทั้งการลดค่าเช่าพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในเขตพาณิชย์กรรมในนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. ซึ่งอาจลด 10-20% ใน 3 เดือน และจะได้ข้อสรุปไม่นาน