แจกเดอะซีรีส์! เปิดกรุ ‘วาระเยียวยาแห่งชาติ’ ใต้เงารัฐบาลบิ๊กตู่ สู้โควิด-19
แจกเดอะซีรีส์! ในภาวะวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง แรงสะเทือนส่งไปถึงประชาชนทุกกลุ่ม รัฐบาลจึงต้องงัดงบประมาณออกมาช่วยเหลือ ซึ่ง "วาระเยียวยาแห่งชาติ" ภายใต้เงารัฐบาลบิ๊กตู่ในการต่อกรกับโควิด-19 มีมาตรการอะไรบ้าง? มาดูกัน
ปกติแล้วในช่วงที่เกิดวิกฤติ หรือภัยพิบัติ เช่น ภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศ ปี 2554 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและภาคส่วนต่างๆ เป็นอย่างมาก ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ เราจะเห็นว่ารัฐบาลก็จะออกมาตรการมาช่วยเหลือ ทั้ง “การแจก” ของอุปโภคบริโภคจำเป็นพื้นฐาน การแจกเงินเยียวยา รวมไปถึงโครงการช่วยเหลืออื่นๆ
เช่นเดียวกับมหาวิกฤติโควิด-19 โรคระบาดจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2019 ที่แพร่กระจายกินวงกว้างเกือบทั่วประเทศ
มีผู้ติดเชื้อในไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2563) ไปแล้วกว่า 3,017 ราย ยอดผู้เสียชีวิตรวม 56 ราย โดยโรคระบาดนี้จะติดต่อด้วยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งรวมถึงไอละอองจากการจามและไอ อีกทั้งยังสามารถติดกับพื้นผิวต่างๆ ซึ่งเสี่ยงต่อการดำเนินชีวิต
ดังนั้นแนวทางป้องกันของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ปิดสถานที่เสี่ยงและแออัด รวมถึงใช้มาตรการเคอร์ฟิว จำกัดการออกเคหะสถาน ตั้งแต่สี่ทุ่มถึงตีสี่ ส่งผลให้การดำเนินชีวิตหรือการหารายได้ของประชาชนพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เกิดภาวะรายได้หด คนตกงาน ปิดกิจการชั่วคราวและถาวร
เสียงโอดครวญถึงผลกระทบที่รุนแรงครั้งนี้เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลจึงต้องออกมาตรการมานับไม่ถ้วน วงเงินที่ต้องใช้สูงจนต้องออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท มาเพื่อให้เพียงพอ (?) ต่อการใช้จ่ายงบประมาณ โดยมีมาตรการหลักๆ ดังนี้
- คลายความเดือดร้อน “ภาคประชาชน”
มาตรการที่ต้องพูดถึงเป็นอันดับแรก คงหนีไม่พ้น “มาตรการเงินเยียวยา เราไม่ทิ้งกัน” แจกเงิน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เมษายน-มิถุนายน 2563 วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 โดยเริ่มแรกกำหนดว่าผู้ที่จะได้รับการ “แจกเงิน” ต้องประกอบอาชีพอิสระ ลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว และผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งกระทรวงการคลังประมาณการเอาไว้ว่ามีจำนวนราว 3 ล้านคน แต่ก็ผิดคาดไปมาก
เพราะในวันที่ 28 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มเปิดลงทะเบียน เพียงไม่นานนักเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ก็ล่มทันที ประชาชนจำนวนมากแห่เข้าไปใช้พร้อมๆ กันให้ทันภายในกรอบ 3 ล้านคน แม้หลังจากนั้นก็กลับมาเปิดให้ดำเนินการได้ตามปกติ แต่ความอลหม่านก็ยังมีตามมาต่อเนื่อง
เนื่องจากใครๆ ก็มองว่าตัวเองต่างได้รับผลกระทบทั้งสิ้น รวมถึงการสื่อสารที่อาจยังไม่ชัดเจนมากนัก ทำให้ทุกอาชีพทั้งในและนอกประกันสังคมเข้ามาลงทะเบียน แต่ก็ยังเกิดข้อสอบถามมากมาย ทำให้ภาครัฐต้องเร่งออกมาชี้แจงและเพิ่มปุ่มต่างๆ ในเว็บไซต์ เช่น ลงทะเบียนผิด ยกเลิกการลงทะเบียน สละสิทธิ์ ฯลฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและไขคำถามคาใจประชาชน
ในช่วงของการตรวจสอบข้อมูลจำนวนมาก ในบางกลุ่ม รัฐก็จำเป็นต้องมีการขอข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณา รวมถึงยังมีข้อสงสัยถึงกลุ่มอาชีพอื่นๆ ว่าทำไมถึงไม่เข้าเกณฑ์ที่ได้ผลกระทบ เช่น พาร์ทไทม์ นักศึกษา เป็นต้น จึงทำให้มีการขยายกลุ่มที่จะได้รับสิทธิ์เพิ่มเติมด้วย ล่าสุดข้อมูล ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2563 มีคนลงทะเบียนทั้งหมด 28.8 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้ที่ผ่านเกณฑ์และได้รับสิทธิ์กว่า 13.4 ล้านคน นอกจากนี้รัฐก็ยังมีการเปิดให้ทบทวนสิทธิ์สำหรับคนที่ไม่ได้รับสิทธิ์ที่กรมประชาสัมพันธ์ จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563
ทั้งนี้คงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดต่อไป หลังจากที่มาตรการคลายล็อกดาวน์กำลังเข้าสู่เฟส 2 เปิดห้างสรรพสินค้า เพราะหากมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น รัฐบาลคงต้องกลับมาเข้มงวด ผลกระทบด้านเศรษฐกิจจะต้องยืดออกไปอีก แล้วมาตรการ “แจกเงิน” เยียวยาจะขยายเวลาเพิ่มหรือไม่?
ต่อเนื่องจากมาตรการเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน” ก็คือ มาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร “แจกเงิน” ให้เกษตกร 15,000 บาท แบ่งเป็นเดือนละ 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่พฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 โดยไม่ต้องลงทะเบียน วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือจากผลกระทบวิกฤติโควิด-19 และยังถูกซ้ำเติมจากภัยแล้ง ครอบคลุมเกษตรกร 10 ล้านราย วงเงินงบประมาณจำนวน 150,000 ล้านบาท
ในโครงการนี้ไม่ค่อยวุ่นวายนัก เพราะภาครัฐดึงฐานข้อมูลจากเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องอัพเดทข้อมูลให้เป็นล่าสุด ปี 62/63 แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้กับผู้ที่ทำเกษตรกรรมที่ยังไม่เคยขึ้นทะเบียนด้วย
สำหรับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในวิกฤติครั้งนี้ รัฐบาลก็ออกมาตรการ “ค่าเสี่ยงภัยบุคลากรทางการแพทย์” โดยกำหนดไว้ว่า หากเป็นแพทย์-สัตวแพทย์ จะได้เงินผลัดละ 1,500 บาท/คน ส่วนพยาบาลและอื่นๆ ได้ผลัดละ 1,000 บาท/คน
นอกจากนี้ในช่วงที่แรงงานว่างงาน รัฐบาลยังมี “มาตรการฝึกอบรมมีเงินใช้” โดยฝึกอบรม เพิ่มทักษะอาชีพ หรือจัดกิจกรรมเพื่อสังคม รวมถึงนักศึกษาที่ยังหางานไม่ได้ ขยายฝึกอบรมผ่านภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธิโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เป็นต้น
ขณะเดียวกันยังมีมาตรการที่แม้รัฐบาลไม่ได้แจกเงินโดยตรง แต่เป็นการให้งบประมาณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ เช่น มาตรการด้านไฟฟ้า ที่สนับสนุนงบประมาณให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ให้ช่วยเหลือประชาชน เช่น ให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 150 หน่วย/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่รอบบิลมีนาคม-พฤษภาคม 2563 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.1. ที่อยู่อาศัย นับว่าใกล้เคียงกับการแจกเงิน แต่เป็นการแจกไฟฟ้าฟรีแทน ก็น่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในยามที่ผู้คนมีรายได้ลดลง หรือแทบจะไม่มีรายได้เข้ามาเลย
นอกจากนี้ก็ยังแจกส่วนลดค่าไฟฟ้า ให้กับผู้ใช้ประเภท 1.2 และ 1.3 รอบเดือนมีนาคม-พฤษภาคม หากใช้เกิน 150 หน่วย/เดือน ตามเงื่อนไขต่างๆ เช่น ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วย แต่ไม่เกิน 800 หน่วย เมื่อเทียบกับบิลเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ก็แจกค่าไฟฟ้าส่วนที่เกินไปเลย จ่ายเพียงยอดตามเดือนกุมภาพันธ์เท่านั้น เป็นต้น
อีกหนึ่งมาตรการแจกเงินคืนประกันใช้ไฟฟ้า แม้เงินจำนวนนี้จะเป็นเงินของผู้ใช้ไฟฟ้าได้จ่ายให้กับหน่วยงานการไฟฟ้าตั้งแต่ครั้งแรกที่ขอติดตั้ง เพื่อเป็นเสมือนหลักประกัน ค่าเบี้ยปรับ หนี้อื่นที่เกี่ยวข้อง และดอกเบี้ยที่เกิดจากหนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วจะได้คืนก็ต่อเมื่อแจ้งเลิกใช้ไฟฟ้า เป็นต้น แต่รัฐบาลนำมาคืนให้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 เพื่อเสริมสภาพคล่องให้มากขึ้น ซึ่งเงินประกันการใช้ไฟฟ้านี้ขึ้นอยู่กับขนาดของมิเตอร์
รวมถึงยังมี มาตรการด้านน้ำประปา รัฐบาลก็หนุนงบประมาณให้กับการประปานครหลวง (กปน.) และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ทั้งการแจกฟรีค่าน้ำประปา โดยผู้ที่ใช้น้ำประปาทุกครัวเรือนจะได้ใช้ฟรี 10 ลูกบาศก์เมตรแรก ถ้าใช้ไม่ถึงก็ฟรีค่าน้ำประปาไปเลย เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่พฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 และถ้าใช้เกิน 10 ลูกบาศก์เมตร รับส่วนลดไปอีก 20%
และยังมีมาตรการแจกเงินคืนประกันการใช้น้ำประปา เช่นเดียวกับมาตรการด้านไฟฟ้า โดยจะต้องลงทะเบียนและรอรับสิทธิ์ ซึ่งเงินนี้แม้จะเป็นของผู้ใช้น้ำประปาที่จ่ายให้กับหน่วยงานด้านน้ำประปาตั้งแต่แระ แต่ก็ทำให้ได้กลับคืนมาเร็วขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องขอยกเลิกการใช้น้ำ ทั้งนี้จำนวนเงินที่จะได้คืนขึ้นอยู่กับขนาดมาตรวัดน้ำ (นิ้ว) และช่วงเวลาของการขอใช้น้ำประปา โดยขั้นต่ำที่ได้รับอยู่ที่ 100 บาท ไปจนถึงสูงสุดที่ 30,000 บาท
อย่างไรก็ตาม คงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กันต่อไป เพราะยังไม่รู้ว่าจุดสิ้นสุดอยู่ที่ไหน มาตรการที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือเยียวยาจะเพียงพอหรือไม่ หากการดำเนินธุรกิจและล็อกดาวน์ยังอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ เช่นนี้!