'ศิริกัญญา' อัดโอนงบฯ ต่ำกว่าคาด เหตุไม่เกลี่ยก่อนกู้
"ศิริกัญญา" อัดโอนงบฯหลุดเป้า-ได้ต่ำกว่าคาด จากแสนล้านเหลือ 8.8 หมื่น ล. ชี้เหตุไม่เกลี่ยก่อนกู้ และไม่ยอมเปิดประชุมสภาฯ วิสามัญ ให้ ส.ส. ร่วมซัก
เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 63 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบาย พรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากกรณีที่มีมติ ครม. เมื่อวานนี้ (12 พ.ค. 63) หลังจากที่มีการนำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553 ไปรับฟังความคิดเห็น สำนักงบประมาณได้แจ้งว่า มีการปรับปรุงข้อเสนอการโอนงบฯ จำนวน 11,942 ล้านบาท จากผลการพิจารณาตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 จำนวน 100,395 ล้านบาท เป็นจำนวน 88,452 ล้านบาท เท่ากับว่าโอนงบที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ของปีงบประมาณนี้ได้ไม่ถึงแสนล้าน สะท้อนให้เห็นว่า หน่วยงานต่างๆ ไม่มีความพยายามโอนงบเลย ถ้าไม่นับเงินชำระหนี้ เท่ากับโอนกลับมาได้แค่ 50,000 ล้านบาท ทั้งที่มีมติครม.ให้เริ่มทำการจัดงบประมาณใหม่ของปี 2563 มาตั้งแต่ 10 มี.ค. ผ่านมา 2 เดือนก็ยังไม่เสร็จสิ้น ส่วนการเบิกจ่ายงบปี 63 ก็ยังไม่ไปถึงไหน โดยเฉพาะในส่วนของรายจ่ายลงทุนที่เบิกจ่ายไปได้เพียง 12% เพราะเพิ่งจะเริ่มเบิกจ่ายได้หลังจากที่ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณไปเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ กลับตัดลดงบประมาณไปได้ไม่มากเท่าที่ควร
น.ส. ศิริกัญญา กล่าวต่ออีกว่า สรุปแล้วรัฐบาลตั้งเป้าว่าจะต้องใช้งบกลางเพิ่มเท่าไหร่ ถ้าไม่ได้ตามเป้าก็ควรจะไปรีดไขมันที่ยังเหลืออยู่ในหน่วยงานต่างๆ เพิ่มอีก ถ้ามีงบกลางไม่เพียงพอจะทำอย่างไร น่าเสียดายโอกาสในการโอนงบครั้งนี้ ที่ควรจะเป็นประโยชน์ในการโอนงบครั้งนี้ ให้ได้งบประมาณมากที่สุด และเร็วที่สุด อย่างที่เราทราบกันดีว่างบกลาง เงินสำรองฉุกเฉินของประเทศนั้นหมดเกลี้ยงแล้ว ถ้ากระบวนการนี้เสร็จสิ้นเร็ว ก็จะมีเงินที่มาใช้ในการเยียวยาได้เร็วขึ้น เพราะการกู้เงินก็ยังทำกันแบบกะปริดกะปรอย เพียงแค่ให้พอจ่ายเป็นเดือนๆ ไป
“พรรคก้าวไกลได้เสนอแนะมาตลอดให้เกลี่ยงบ 63 ก่อนจะเริ่มกู้เงิน ซึ่งประเมินไว้ว่าจะได้อย่างต่ำ 100,000 ล้านบาท ถ้ารวมการตัดเงินชำระคืนหนี้ ก็ควรจะได้ 130,000 ล้านบาทขึ้นไป หากเกลี่ยงบตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ และหากยอมให้เปิดสภาวิสามัญได้ จะทำให้มีเม็ดเงินมาเยียวยาประชาชนได้ทันสถานการณ์ และการโอนงบก็จะดีกว่านี้” น.ศิริกัญญา กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดการกู้เงินตามพ.ร.ก.ที่เปิดเผยต่อสาธารณะ มีการกู้ไปทั้งสิ้น 170,000 ล้านบาท เป็นการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 2 ครั้งรวมวงเงิน 120,000 ล้านบาท ยังไม่เปิดเผยอัตราดอกเบี้ย ส่วนที่เหลือคือพันธบัตรออมทรัพย์จ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.4% สำหรับพันธบัตร 5 ปี และ 3% สำหรับพันธบัตร 10 ปี ซึ่งสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในปัจจุบันเกือบ 3 เท่า เท่ากับว่ารัฐบาลจ่ายต้นทุนในการกู้เงินครั้งนี้สูงมาก