'ทีดีอาร์ไอ' แนะคงเข้มมาตรการสกัดโควิด-19 ในรถโดยสารสาธารณะ
ทีดีอาร์ไอ แนะรัฐคงมาตรการเข้มสกัดโควิด-19 ในรถโดยสารสาธารณะ รักษาระยะห่าง หมั่นทำความสะอาดลดแพร่เชื้อโรค หนุนการเตรียมพร้อมรับเปิดเดินทางข้ามจังหวัด
นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบรูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชนในหลายประเทศ โดยในประเทศไทย รัฐบาลได้ออกมาตรการล็อคดาวน์ ห้ามบุคคลทั่วราชอาณาจักรออกจากเคหสถานในช่วงเวลา 22.00–04.00 น. และให้ประชาชน หรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด เว้นแต่จำเป็น ถึงวันที่ 31 พ.ค.พ.ศ. 2563 ตาม พ.ร.ก. การบริหารสถานการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
อีกทั้ง ขอความร่วมมือจากภาคเอกชนในการกำหนดมาตรการให้ทำงานจากที่บ้านและยังมีมาตรการต่างๆ ด้านการเดินทางภายในเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ อย่างมาตรการเพิ่มจำนวนรถและความถี่ในการให้บริการของแต่ละการประกอบการ เช่น ขสมก. ได้เพิ่มรถโดยสารประจำทางที่ให้บริการเป็น 2,500–2,600 คัน/วัน รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนำขบวนรถ 36 ขบวนออกให้บริการและปรับความถี่ปล่อยรถช่วงเร่งด่วนเป็น 3.5–4.5 นาที/ขบวน รถไฟฟ้าสายสีม่วงนำขบวนรถ 12–16 ขบวนออกให้บริการและปรับความถี่ปล่อยรถในช่วงเร่งด่วนเป็น 4–5 นาที/ขบวน และรถไฟฟ้า BTS นำขบวนรถ 98 ขบวนออกให้บริการ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ของประเทศไทย ในปัจจุบันมีแนวโน้นลดลง และเริ่มสามารถควบคุมได้ ภาครัฐจึงเริ่มมีนโยบายผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ที่มีอยู่ ทำให้กิจการต่างๆ เริ่มกลับมาให้บริการได้ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนกลับมาเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะอีกครั้ง ทั้งการเดินทางในระยะทางสั้นและเดินทางข้ามจังหวัด ทั้งนี้ ก่อนที่ภาครัฐจะดำเนินการผ่อนปรนได้นั้น ควรจะต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 จากการใช้บริการขนส่งสาธารณะ
โดยผู้โดยสารจะต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบ ผู้ประกอบการควรจัดให้มีการทำความสะอาดยานพาหนะ สำหรับระบบขนส่งที่มีจำนวนที่นั่งและที่ยืนจำกัดมาก อาจเป็นไปได้ยากที่จะจัดให้นั่งโดยเว้นระยะห่างกันมาก การกำหนดให้สวมหน้ากากอนามัย จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจควบคุมปริมาณผู้ใช้บริการได้โดยนำวิธีการจองล่วงหน้ามาใช้กับการขนส่งระหว่างเมือง เช่น รถไฟระหว่างเมือง รถตู้ระหว่างเมือง หรือรถโดยสารระหว่างเมือง เป็นต้น