เปิดข้อดี-ข้อเสีย ‘Work From Home’ ถ้าต้องทำงานจากบ้านถาวรหลังยุคโควิด

เปิดข้อดี-ข้อเสีย ‘Work From Home’ ถ้าต้องทำงานจากบ้านถาวรหลังยุคโควิด

หลายปีที่ผ่านมา ผู้คนทั่วโลกถกเถียงกันถึงประโยชน์ของ "Work From Home" หรือ การทำงานจากที่บ้าน แต่มาวันนี้ การทำงานทางไกลถือเป็นความจำเป็นเพื่อช่วยยับยั้งการระบาดของโรคโควิด-19 ไปแล้ว และจะกลายเป็น New Normal ถาวร แม้กระทั่งหลังหมดโควิดแล้วก็ตาม

การทำงานจากบ้านอย่างถาวรกลายเป็นประเด็นที่หลายคนกำลังสนใจในขณะนี้ เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง “ทวิตเตอร์” ออกนโยบายให้พนักงานทำงานจากบ้านได้ตลอดไป หรือพูดง่าย ๆ "ทำงานที่บ้านยาวไปเลย!"

เมื่อวันอังคาร (12 พ.ค.) แจ็ค ดอร์ซีย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ทวิตเตอร์ แจ้งพนักงานบริษัทว่า พวกเขาจะได้รับอนุญาตให้ทำงานจากที่บ้านได้ แม้จะสิ้นสุดวิกฤติโควิด-19 แล้วก็ตาม

แต่การทำงานจากบ้าน หรือ Work From Home นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ โดยเฉพาะในสหรัฐ เพราะก่อนหน้านี้ บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง “กูเกิล” “เฟซบุ๊ค” และ “ไมโครซอฟท์” ให้ความสำคัญกับนโยบายการทำงานจากที่บ้าน และยังไม่มีกำหนดให้กลับมาทำงานที่สำนักงานจนถึงสิ้นปีนี้

ผลสำรวจล่าสุดของ “อินเตอร์เนชันแนล เวิร์คเพลซ กรุ๊ป” พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 83% ของบริษัทในสหรัฐได้เพิ่มนโยบายการทำงานที่มีความยืดหยุ่นโดยให้พนักงานทำงานทางไกล หรือมีแผนที่จะปรับใช้นโยบายนี้ในอนาคตอันใกล้

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากสำนักสถิติแรงงานสหรัฐ พบว่า พนักงานประจำไม่ถึง 1 ใน 4 ทำงานจากบ้านเป็นประจำอยู่แล้ว แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายบอกว่า การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

แอรอน โฮลต์ ทนายความด้านแรงงานและการจ้างงานในเมืองฮุสตัน บอกว่า นี่เป็นการทดลองทางสังคม “ครั้งใหญ่ที่สุด” เท่าที่เคยมีมา

“ภาพรวมทั้งประเทศสหรัฐและวัฒนธรรมองค์กรต่างหันมากำหนดให้ลูกจ้างของตนทำงานผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ตอนนี้เราเห็นนายจ้างจำนวนมากเริ่มหาทางทำให้วิธีการทำงานนี้เห็นผลกันแล้ว”

โฮลต์เผยว่า ขณะนี้ผู้คนปรับตัวให้ชินกับสภาพแวดล้อมการทำงานทางไกลกันอย่างรวดเร็ว และน่าจะไม่ได้กลับสู่วิถีการทำงานปกติแบบเดิมเมื่อช่วงเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) จบลง

ความเปลี่ยนแปลงนี้อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการทำงานในอนาคต แต่เรื่องนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

 

  • บริษัทที่ปรับตัวได้ “มีโอกาสโตเร็ว”

ธุรกิจที่มีโอกาสมากที่สุดที่จะอยู่รอดในวิกฤติโควิดนี้คือ ธุรกิจที่ยอมรับการทำงานทางไกลอย่างเต็มใจ

บรี ไวเลอร์ เรย์โนลด์ส ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาอาชีพของบริษัทเฟล็กซ์จ็อบส์ บอกว่า ข้อดีคือบริษัทส่วนใหญ่สามารถใช้โมเดลการทำงานจากบ้านโดยไม่ต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานมากนัก และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ในหลายกรณี การเปลี่ยนมาให้พนักงานทำงานทางไกลหรือทำงานจากที่บ้านช่วยลดค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ ด้วยการประหยัดค่าเช่าสำนักงาน และตัดความจำเป็นที่จะต้องมีสำนักงานเป็นหลักแหล่ง

 

  • บริษัทเข้าถึงกลุ่มแรงงานกว้างขึ้น

เรย์โนลด์ส ระบุว่า ในขณะที่การทำงานจากบ้านได้รับความนิยมมากขึ้น จะเป็นโอกาสของนายจ้างที่ได้สร้างสถานที่ทำงานที่มีความหลากหลายและเท่าเทียมมากขึ้น

การให้ความสำคัญกับทักษะการทำงานมากกว่าที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ช่วยขจัดความอคติในการจ้างงานและเพิ่มความมีส่วนร่วมให้กับกลุ่มสตรี หรือกลุ่มคนผิวสี และชนกลุ่มน้อย

ขณะเดียวกัน นี่ยังเป็นโอกาสใหม่สำหรับกลุ่มผู้พิการ หรือคนที่ต้องดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว การเปิดให้ทำงานจากบ้านหมายความว่า คนกลุ่มนี้ซึ่งอาจไม่สะดวกในการเดินทางเข้าออฟฟิศแต่มีทักษะและคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งงาน ก็มีโอกาสได้ทำงานเท่าเทียมกับคนอื่น

เรย์โนลด์ส บอกว่า บ่อยครั้งที่ผู้สมัครงานเหล่านี้มีประสบการณ์และคุณสมบัติตรงตามที่บริษัทกำหนด แต่อาจติดอุปสรรคบางอย่างจนไม่สามารถเข้าไปทำงานที่สำนักงานได้

“การทำงานทางไกลช่วยให้นายจ้างเข้าถึงคนกลุ่มนี้ และเสนอตำแหน่งงานที่มีความหมายต่อการดำรงชีพของพวกเขา”

 

  • ลูกจ้างได้พิสูจน์ผลงานตัวเอง

โฮลต์ บอกว่า แม้ Work From Home เป็นรูปแบบการทำงานใหม่ที่แพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน แต่บริษัทบางแห่งยังชั่งใจที่จะออกนโยบายให้ทำงานจากบ้าน เพราะกลัวว่าผลิตภาพในการทำงานจะลดลงเมื่อนโยบายนั้นมีผล

แต่มีผลวิจัยชิ้นหนึ่งจากคณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งติดตามพนักงานออฟฟิศบริษัทท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สุดของจีนเป็นเวลา 2 ปี พบว่า คนที่ทำงานจากบ้าน “งานเดิน” มากกว่าคนที่ทำงานในสำนักงานถึง 13%

ขณะที่ผลสำรวจเมื่อปี 2562 ของแพลตฟอร์มงานฟรีแลนซ์ “แอร์ทาสเกอร์” (Airtasker) พบว่า พนักงานที่ทำงานจากนอกออฟฟิศ ทำงานมากกว่าพนักงานในออฟฟิศ 1.4 วันต่อเดือน และลูกจ้างที่ทำงานจากบ้านมีเวลาพักในแต่ละวันมากกว่า ซึ่งช่วยเพิ่มผลิตภาพในการทำงาน

นอกจากนั้น ผลสำรวจเดียวกันยังติดตามช่วงเวลาที่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือเมาส์ของพนักงานมีความเคลื่อนไหว พบว่า 56% ของพนักงานออฟฟิศค้นพบวิธีเลี่ยงทำงาน เทียบกับ 39% ของพนักงานที่ทำงานจากบ้าน

“เป็นเรื่องสำคัญสำหรับลูกจ้างที่สนับสนุนการทำงานจากที่บ้านมานาน ในการแสดงให้เห็นว่าทางเลือกนี้มีประสิทธิภาพขนาดไหน เพื่อให้ภาคธุรกิจยังเห็นว่าแนวทางนี้เป็นทางเลือกที่เห็นผลในอนาคต” เรย์โนลด์ส เผย

 

  • เครื่องมือใหม่ช่วยให้วันทำงานง่ายขึ้น

ก่อนหน้านี้ บริษัทหลายแห่งได้ใช้ทรัพยากรเกี่ยวกับการทำงานทางไกลไปบ้างแล้ว เช่น เว็บแชร์เอกสาร และเว็บการประชุมออนไลน์ ในขณะที่ความต้องการการประชุมเสมือนจริง (virtual) เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นของบริษัทอย่าง “ซูม” (Zoom) ก็ทะยานอย่างรวดเร็ว

โฮลต์ ซึ่งเป็นทนายความด้านแรงงาน คาดว่า จะเกิดแนวคิดและนวัตกรรมใหม่ ๆ และเพิ่มความสะดวกในการทำงานทางไกลมากขึ้น โดยในแวดวงกฎหมาย มีแพลตฟอร์มให้การเสมือนจริงแบบใหม่ที่ทำให้ทีมกฎหมายและพยาน มีส่วนร่วมในการไต่สวนคดีทางไกลได้

“การแข่งขันจะทำให้บริการเหล่านี้มีประสิทธิภาพและมีประโยชน์มากขึ้น ซึ่งจะทำให้สิ่งเหล่านี้มีโอกาสที่จะอยู่ในวิถีชีวิตของเราไปอีกนาน”

ขณะที่เรย์โนลด์ส คาดว่า ต่อให้บริษัทต่าง ๆ ไม่เปิดให้ลูกจ้างทำงานจากบ้านอย่างเต็มตัว แต่เชื่อว่า บริษัทส่วนใหญ่จะใช้เวลาช่วงหลายเดือนข้างหน้าเป็นโอกาสในการทดสอบกระบวนการทำงานแบบใหม่ และหาทางทำให้การทำงานทางไกลมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

 

  • สำรวจ “ข้อเสีย” ทำงานจากบ้าน

แต่การทำงานจากบ้านก็นำมาซึ่งความยุ่งยากต่าง ๆ เช่น จะทำยังไงให้ลูกจ้างตอบสนองอยู่ตลอดในช่วงเวลางาน และวิธีรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ “กรุงเทพธุรกิจ” เคยรวบรวมเช็คลิสต์ 7 ดัชนีที่สะท้อนว่า การทำงานจากที่บ้าน หรือการ Work From Home ของคุณพังแล้วหรือไม่

ตัวอย่างเช่น 1. เครียดมากขึ้น เพราะทำงานที่บ้านอย่างลำพัง ไม่ได้ออกไปพบเจอใคร 2. ทำงานอยู่ตลอดเวลา แยก “เวลาทำงาน” กับ “เวลาส่วนตัว” ไม่ได้ 3. มีสิ่งรบกวนในบ้าน ทำให้ไม่มีสมาธิทำงาน 4. สื่อสารผิดพลาด การทำงานคนละที่กับเพื่อนร่วมงานอาจทำให้สื่อสารผ่านออนไลน์เกิดความผิดพลาดได้ง่ายกว่า

5. ทำงานเสร็จช้ากว่าปกติ เพราะพอทำงานจากที่บ้านนานๆ ก็ถูกบรรยากาศความสบายที่บ้านครอบงำ เริ่มแอบพักถี่ขึ้น ไปงีบหรือเล่นเกมระหว่างเวลางานบ่อยขึ้น 6. ไร้แรงบันดาลใจ อีกหนึ่งปัญหาของการทำงานจากที่บ้านที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อนานวันเข้าก็ขาดแรงกระตุ้นในการทำงาน หรือ “ไม่มีแรงบันดาลใจ”

และ 7. มีโรคเพิ่มขึ้น การทำงานจากบ้านหากไม่สามารถบริหารจัดการเวลาได้ไม่เพียงพอ ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยตรง เช่นนอนไม่เป็นเวลา นอนดึกเกินไป กินข้าวไม่ตรงเวลาจนเป็นโรคกระเพาะเหงาจนเสี่ยงซึมเศร้า