10 ข้อต้องรู้ล่าสุด! ตรวจสอบสถานะเงินเยียวยา 5,000 'เราไม่ทิ้งกัน'
เช้านี้ (14 พ.ค.) อัพเดทข้อมูลคืบหน้า "10 ข้อต้องรู้" ล่าสุด! ตรวจสอบสถานะเงินเยียวยา 5,000 บาท "เราไม่ทิ้งกัน"
การตรวจสอบสถานะ มาตรการเงินเยียวยา 5,000 บาท จากกรณีแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โครงการเราไม่ทิ้งกัน ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ซึ่งบริหารจัดการข้อมูลผู้ลงทะเบียนทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ ยังอยู่ในกระแสความสนใจของประชาชนเช้าวันนี้ 14 พ.ค. 2563 ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงการคลัง มีดังนี้
1. ผู้ผ่านเกณฑ์คัดกรอง ได้รับเงินเยียวยาเดือนละ 5 พันบาทเป็นเวลา 3 เดือนจากรัฐบาลแล้ว 14.2 ล้านคน
2. การทบทวนสิทธิ์ สำหรับคนที่ลงทะเบียนแล้วยังไม่ได้รับเงินเยียวยา และยื่นขอทบทวนสิทธิ์ทั้งในระบบออนไลน์และการยื่นร้องเรียนที่โต๊ะรับเรื่องราวร้องทุกข์ของกระทรวงการคลัง ที่จัดตั้งขึ้นที่กรมประชาสัมพันธ์ จะแล้วเสร็จ 98-99% ภายใน 17 พ.ค.นี้
3. ผู้ลงทะเบียน ในระบบ "เราไม่ทิ้งกัน" แล้ว แต่ปรากฎระบบระบุว่า เป็นการลงทะเบียนไม่สำเร็จนั้น ซึ่งมีอยู่ 1.7 ล้านคน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
4. การลงทะเบียนไม่สำเร็จ มาจากหลายสาเหตุ เช่น การสะกดชื่อ หรือนามสกุลผิดพลาด กรอกเลขบัตรประชาชาผิด เป็นต้น
5. ปัญหาหลักของผู้ลงทะเบียนแล้ว ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาโอนเข้าบัญชี เป็นเพราะแม้จะลงทะเบียนในระบบและระบบตรวจสอบว่าผ่านเกณฑ์ที่จะได้รับเงินเยียวยาแล้ว แต่เงินก็ยังไม่สามารถโอนเข้าบัญชี เพราะมีความผิดพลาดในเรื่องบัญชีที่กำหนดให้โอนเงินเข้า เช่น ใช้บัญชีที่มีชื่อร่วม หรือไม่ได้ใช้บัญชีที่มีชื่อของตนเอง โดยใช้บัญชีที่เป็นชื่อของลูก เป็นต้น
6. กำหนดการโอนเงิน จะต้องเป็นบัญชีในชื่อของตนเองเท่านั้น หรือบางกรณีใส่ชื่อและเลขที่บัญชีถูกต้อง แต่เป็นบัญชีที่ไม่เคลื่อนไหวมานานกว่า 1 ปี ทำให้บัญชีถูกระงับ ซึ่งหากต้องการแก้ไขสามารถเข้าระบบแก้ไขได้เพียงครั้งเดียว แต่วิธีที่ง่ายกว่านั้น คือ การไปสมัครพร้อมเพย์ที่ธนาคารใดก็ได้ ที่ผูกกับบัตรประชาชน แล้วไม่ต้องทำอะไร เพราะระบบจะตรวจสอบเอง หลังจากนั้นจะโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ให้
7. นับตั้งแต่เปิดให้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา ตั้งแต่ 28 มี.ค. มีคนลงทะเบียนรวม 28.8 ล้านคน แต่ในจำนวนนี้มีคนที่ลงทะเบียนซ้ำและหรือเป็นคนที่ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา เช่น เป็นคนในระบบประกันสังคม หรือเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ซึ่งคาดว่า จะมีคนผ่านสิทธิ์และได้รับเงินเยียวยาทั้งหมดราว 16 ล้านคน
8. ยอดรวมการเดินทางมาร้องทุกข์ ที่กระทรวงการคลังเปิดรับเรื่องตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. มีประชาชนเดินทางมาทั้งสิ้น 1.5 หมื่นคน
9. กระทรวงการคลัง ได้นำข้อมูลของผู้ที่ยื่นร้องทุกข์มาคัดแยกออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อส่งต่อการช่วยเหลือให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนผู้ที่ผ่านเกณฑ์รับเงินเยียวยา กระทรวงการคลังจะดูแลต่อไป
10. กลุ่มที่ยื่นทบทวนสิทธิ์ แต่ลงทะเบียนที่อยู่ไว้ไม่ตรงกับตำแหน่งที่อยู่ปัจจุบัน ราว 7-8 หมื่นคน ซึ่งกระทรวงการคลังจะเร่งส่งทีมผู้พิทักษ์สิทธิ์ในพื้นที่ใกล้เคียงตำแหน่งที่อยู่ปัจจุบันของกลุ่มดังกล่าว เข้าไปตรวจตอบสิทธิ์โดยเร็ว