ครป. แนะโละบอร์ดบริหาร 'การบินไทย' จ้างนักบริหารมืออาชีพ
"เมธา" เลขาครป. เสนอรัฐบาลยึดคืนการบินไทยเป็นของรัฐ แนะปรับลดพนักงาน-โละบอร์ดบริหารทั้งหมด จ้างนักบริหารมืออาชีพ
วันที่ 14 พ.ค. นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลกำลังทบทวนแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยและมีข้อเสนอให้ล้มละลายว่า การบินไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติและเคยเป็นหน่วยงานหลักในการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยตั้งแต่โลกยังไม่รู้จักประเทศไทยด้วยซ้ำ มีศักยภาพที่จะเติบโตได้จากอัตราผลประกอบการเฉลี่ย 2 แสนล้านบาทต่อปี และต่อเนื่องมาหลายปีที่ผ่านมา เหตุใดจะทำให้มีกำไร 5-10% ไม่ได้ ที่ผ่านมามีกำไรส่งรายได้เข้ารัฐปีหนึ่งเกือบ 1 หมื่นล้านบาท แต่การเอื้อประโยชน์เอกชนโดยนักธุรกิจที่มีการเมืองหนุนหลังทำให้การบินไทยขาดทุนเรื่อยมา ทำให้การบริหารงานขาดประสิทธิภาพ นักการเมืองเข้าไปกอบโกยโกงกินกันและสิทธิประโยชน์มากเกินไปที่ไม่มีใครไปแตะต้อง ดังนั้นมีข้อเสนอดังนี้
1.รัฐบาลอาจปล่อยให้ล้มละลายเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตามกฎหมาย โดยพยายามรักษามูลค่าทางเศรษฐกิจ (economic value) ของกิจการที่แท้จริงไว้ให้มากที่สุด สะสางปัญหาหนี้สินซึ่งเอกชนผู้ถือหุ้นต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย เจรจาลดหนี้ ลดพนักงานและลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ก่อนเข้าไปประครองฟื้นฟูกิจการขึ้นใหม่เพื่อให้การบินไทยดำเนินธุรกิจต่อเนื่องไปได้ไม่ใช่การปล่อยให้ล้มละลายโดยแบ่งขายทรัพย์สินให้เอกชนหรือให้เอกชนและกลุ่มทุนเข้าไปยึดครองเบ็ดเสร็จเพื่อฟื้นฟูกิจการและเพิ่มอำนาจต่อรองที่สูงกว่ารัฐ
2.การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมและเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่อาจปล่อยให้ล้มละลายได้ รัฐบาลอาจใช้วิธียึดคืนให้มาเป็นของรัฐโดยการ Nationalization เหมือนในหลายประเทศก็เคยทำ โดยต้องล้างไพ่การบริหารและระบบการจ้างงานใหม่ทั้งหมด สามารถทำในรูปแบบสิงคโปร์และจีนได้ คือเป็นของรัฐ 100% ประชาชนเป็นเจ้าของ แต่บริหารให้ทันสมัยแบบเอกชน มีความรับผิดชอบและลดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ลง
3.แผนฟื้นฟูการบินไทยต้องแก้ปัญหาแรงงานล้นเกิน เลิกจ้างพนักงานระดับสูงที่ซ้ำซ้อน ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 3 หมื่นคนโดยเฉพาะพนักงานระดับกลางถึงผู้บริหารระดับสูงมีจำนวนมากเกินความจำเป็นและทำงานไม่มีประสิทธิภาพ บางตำแหน่งงานซ้ำซ้อนกัน ตำแหน่งงานที่สูงกว่าบางหน่วยอาจจะทำงานเท่ากับหรือน้อยกว่าตำแหน่งที่ต่ำกว่า มีภารกิจของงานไม่สอดคล้องและ Job description ไม่ชัดเจน หน่วยงาน HR ทำงานล้มเหลวและกลไกตรวจสอบขาดประสิทธิผล มีกลไกวัฒนธรรมอุปถัมภ์และอำนาจนิยม มีการจ่ายเงินค่าจ้างและสวัสดิการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานมากมาย โดยควรลดให้เหลือจำนวนพนักงงานแค่ 8,000-10,000 คนก็เพียงพอ เมื่อเปรียบเทียบกับสายการบินอื่นที่มีขนาดองค์กรและเครื่องบินใกล้เคียงกัน
4.รัฐบาลต้องเปลี่ยนบอร์ดบริหารใหม่ทั้งหมด ลดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ลง ลดสวัสดิการที่ไม่จำเป็นและมากเกินกว่าสวัสดิการแรงงาน ผู้บริหารระดับสูงนับหมื่นคนนอกจากเงินเดือนที่สูงแล้วบางตำแหน่งยังได้ค่ารถเพิ่มเดือนละ 7 หมื่นบาทต่อเดือนซึ่งเกินความจำเป็นไปมากมาย ยุติระบบเส้นสายที่ฝ่ายการเมืองจัดสรรตำแหน่งบอร์ดบริหารต่างๆ ต้องแต่งตั้งมืออาชีพเข้ามาเป็นบอร์ดบริหารทั้งหมด ไม่ใช่คนของนักการเมือง คนของกองทัพ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องและไม่มีความรู้ความสามารถ
ในอดีตมีสายการบินระหว่างประเทศหลายแห่งเกือบล้มละลายแต่กลับมาแข็งแกร่งได้ โดยลดประโยชน์อดีตพนักงานทั้งเงินบำนาญจำนวนมหาศาล ทั้งสิทธิบินฟรี โดยเฉพาะสายการบิน ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ (United Airlines) สายการบินชั้นนำของประเทศสหรัฐอเมริกา เคยเข้าสู่ภาวะล้มละลายถึงสองครั้ง แต่กลับฟื้นคืนชีพมาแข็งแกร่งได้อีก
สิ่งที่เราต้องทบทวนคือ ไหนรัฐบาลบอกว่าแปรรูปรัฐวิสาหกิจแล้วจะดีขึ้น การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจที่ถูกแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ให้เอกชนเข้ามามีส่วนได้ผลตอบแทนกำไรด้วย และนักธุรกิจการเมืองเข้ามาหาประโยชน์กอบโกยร่วมกันไปมากมาย จริงๆ แล้วแผนการลอยแพและปล่อยให้การบินไทยเจ๊งเพื่อจะให้เอกชนเข้าไปยึดครองเป็นแผนการแปรรูปรอบใหม่ที่มีการวางแผนไว้นานแล้ว การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นแผนการของกลุ่มทุนชนชั้นนำร่วมกับนักธุรกิจการเมืองในรัฐบาลหลายชุด เช่นเดียวกับแปรรูป ปตท. เอาความมั่นคงพลังงานซึ่งเป็นทรัพยากรสาธารณะไปแบ่งปันกำไรให้นายทุน แปรรูปกฟผ.เกือบสำเร็จ สายส่งและเสาไฟฟ้าทั่วประเทศเกือบเป็นของเอกชน เมื่อไม่ได้พวกเขาจึงใช้วิธีจำแลงต่อมาโดยให้กฟผ.ตั้งบริษัทลูกร่วมกับเอกชนยึดกุมการผลิตไฟฟ้าแทนรัฐ รัฐวิสาหกิจไหนสินทรัพย์เยอะกำไรดีก็จ้องจะแปรรูปแบบ 100% ให้เอกชน
กรณีการบินไทยก็เช่นกันซื้อเครื่องบินทิ้งไว้ให้มากก่อนจะปล่อยให้เจ๊งแล้วผ่องถ่ายทรัพย์สินให้เอกชนเข้ายึดครองในกระบวนการแปรรูป (Privatization) และทำทุกวิถีทางเพื่อให้รายได้น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรายจ่ายสิทธิประโยชน์มากมายในฝ่ายบริหาร การลดสิทธิประโยชน์ของสายการบินเเห่งชาติ สิทธิการค้าขายสินค้าปลอดภาษี (Free Tax Priviledge) ที่การบินไทยเคยได้รับคืนกลับไปให้สนามบิน ซึ่งสนามบินก็เอาพื้นที่ปลอดภาษีเอาไปสัมปทานให้คิงเพาเวอร์ผูกขาดต่อ
คิง เพาเวอร์ ได้รับการอนุมัติจากบอร์ด ทอท. ให้เป็นผู้ชนะการประมูลสัมปทานทุกสนามบิน และได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐเป็นรายแรกๆ ในช่วงโควิดโดยการปรับลดค่าตอบแทนให้กับผู้ประกอบการ เมื่อเอกชนกลายเป็นผู้ได้รับสัมปทานทั้งสินค้าปลอดภาษีดิวตี้ฟรีและการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ แต่การบินไทยมีเพียงหน้าที่ขนนักท่องเที่ยวลงสนามบินให้มาอุดหนุนร้านปลอดภาษีทั้งหลาย จึงเป็นเหตุผลให้ธุรกิจของเอกชนจึงรวยขึ้นและรัฐวิสาหกิจแบบการบินไทยจึงจนลงนั่นเอง
นอกจากนี้ ยังมีการอำนวยความสะดวกแอบแฝงให้สายการบินเอกชนมากมาย เปิดเสรีด้านการบินให้ Licenses ไปมากมายโดยไม่รักษาสมดุลย์ระหว่างจำนวนนักท่องเที่ยวกับจำนวนเครื่องบินและจำนวนเที่ยวบินให้สัมพันธ์กัน ปล่อยลอยแพการบินไทยให้ออกจากงวงไปจอดกลางลาน เป็นการลดผู้โดยสารทางอ้อมไปในตัว รวมถึงปล่อยให้ Air Asia ยึดดอนเมืองไปเรียบร้อยแล้ว แต่การบินไทยให้อยู่เฉพาะสุวรรณภูมิ ทั้งหมดคือการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายที่รัฐบาลที่เอื้อประโยชน์เอกชนเหมือนตั้งใจทำให้รัฐวิสาหกิจไม่มีรายได้เพื่อให้กลุ่มทุนทั้งหลายจ้องฮุบทรัพย์สินซึ่งมีมากกว่า 14 ล้านล้านบาทจากรัฐวิสาหกิจกว่า 50 แห่งของประเทศไทย