'ไทย-ตุรกี' หันเจรจาเอฟทีเอผ่านระบบทางไกล หลังโควิด-19 กระทบ
"ไทย-ตุรกี" หันเจรจาเอฟทีเอผ่านระบบทางไกล หลังโควิด-19 กระทบ ตั้งเป้าสรุปผลปี 64
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้ร่วมประชุมทางไกลกับนางบาฮัร กึซเลอ รองอธิบดีกรมความตกลงระหว่างประเทศและกิจการสหภาพยุโรป หัวหน้าคณะผู้แทนตุรกี ในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย–ตุรกี เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อหารือเรื่องการปรับแผนการเจรจาเอฟทีเอไทย-ตุรกี หลังจากก่อนหน้านี้ คณะผู้แทนไทยไม่สามารถเดินทางเข้าร่วมการประชุมเจรจา รอบที่ 7 ซึ่งตุรกีกำหนดจัดขึ้นเมื่อเดือนเม.ย.2563 ได้ เนื่องจากอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะปรับแผนการเจรจาเอฟทีเอเป็นการประชุมผ่านระบบทางไกล เพื่อยกร่างข้อบทความตกลงที่ยังค้างอยู่ 11 ข้อบท เช่น กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรการเยียวยาทางการค้า เป็นต้น เพื่อให้การเจรจาคืบหน้าต่อไปได้
“การปรับแผนดังกล่าว อาจส่งผลต่อการดำเนินการเจรจา ที่ประชุมจึงตกลงขยายระยะเวลาสรุปผลการเจรจาจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2563 เป็นปี 2564 และยังได้ขอให้แต่ละฝ่ายพิจารณาปรับปรุงข้อเสนอการเปิดตลาดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีศักยภาพส่งออก เพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่ายให้มากขึ้น เพื่อให้การลดหรือยกเลิกภาษีส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม” นางอรมนกล่าว
สำหรับตุรกีเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ เนื่องจากไทยสามารถใช้ตุรกีเป็นประตูการค้าไปสู่ยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลางได้ และยังเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย และกาตาร์ โดยในปี 2562 การค้าระหว่างไทยกับตุรกี มีมูลค่า 1,487 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปตุรกี มูลค่า 886 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา เครื่องปรับอากาศ เส้นใยประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น และเป็นการนำเข้าจากตุรกี มูลค่า 601 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น น้ำมันดิบ รถไฟ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น