GIT เปิดตัวแอปพลิเคชั่น" กะรัต" ให้คำปรึกษาออนไลน์ครบวงจร สู้วิกฤตโควิด-19
GIT เปิดตัวแอปพลิเคชั่น" กะรัต "ช่องทางให้คำปรึกษา และ ข้อมูลเชิงลึกผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อสนับสนุน และเยียวยาผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับ ในภาวะวิกฤติ โควิด-19 ในทุกมิติ
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ส่งผลกระทบต่อต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งอัญมณีและเครื่องประดับไทยถือได้ว่าเป็นสินค้าสำคัญที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศ อีกทั้งเป็นผู้ส่งออกพลอยสีอันดับ 3 ของโลก เพื่อเป็นการปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคม รูปแบบธุรกิจ วิถีชีวิต พฤติกรรมของผู้บริโภค ที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับสถาบันมีนโยบายในการสร้างองค์ความรู้ด้านอัญมณีและเครื่องประดับ คลอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านการออกแบบ การตรวจสอบอัญมณีและโลหะมีค่า ระบบมาตรฐาน เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ในระดับสากล สถาบันจึงได้จัดทำ Mobile Application ที่ชื่อว่า “กะรัต” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการให้คำปรึกษาด้านอัญมณีและเครื่องประดับครบวงจร ที่สามารถให้บริการได้ทุกที่ ทุกเวลา
นางดวงกมล กล่าวว่า สำหรับ “กะรัต” ถือได้ว่า เป็นแอพลิเคชั่นให้คำปรึกษา และ ข้อมูลเชิงลึกด้านอัญมณีและเครื่องประดับโดยเฉพาะ เหมาะสำหรับผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงผู้ที่สนใจ ซึ่งสามารถใช้บริการได้ทุกที่ทุกเวลา โดยสถาบัน ได้จัดทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งด้านการตรวจสอบอัญมณี การตรวจสอบโลหะมีค่า ด้านการตลาด นักออกแบบ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น บทวิเคราะห์การนำเข้า ส่งออก และในอนาคตสถาบันมีแผนจะเปิดให้บริการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายการประกอบธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ และการบริหารจัดการ อีกด้วย
นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังพร้อมให้บริการคำปรึกษาด้านเทคนิคนอกสถานที่ (Mobile Consult) เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการที่ต้องการขอรับคำปรึกษาด้านเทคนิคโดยเฉพาะ เพื่อเร่งสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ รองรับมาตรการเร่งด่วนในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ
ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นกะรัต Carat Application แพลตฟอร์มที่ปรึกษาทุกเรื่องราวอัญมณีและเครื่องประดับ ได้แล้วผ่านระบบ IOS และ Android
สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 5,442.28 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 71.85% แต่ถ้าหักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกมีมูลค่า 1,563 ล้านดอลลาร์ ลดลง 20.18% เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลุกลามไปกว่า 210 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้หลายประเทศล็อกดาวน์ ทำให้การขนส่งระหว่างประเทศและในประเทศทำได้ไม่สะดวก ขณะที่ความต้องการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยลดลง ทำให้มีการชะลอการสั่งซื้อ แต่บางประเทศที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ ก็เร่งการนำเข้าเพิ่มขึ้น