ทส.เตรียมประชุมถอดบทเรียนไฟป่าภาคเหนือ

ทส.เตรียมประชุมถอดบทเรียนไฟป่าภาคเหนือ

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเตรียมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปผลและถอดบทเรียน (After Action Review, AAR) การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปี 2563 วันอังคารและพุธนี้ ที่จังหวัดเชียงใหม่

เพื่อหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยจะมีการแบ่งกลุ่มย่อยในการประชุมครอบคลุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่ ทส. ภาคประชาชน หน่วยงานรัฐ ก่อนที่จะมีการสรุปผลการประชุมถอดบทเรียนร่วมกันเพื่อนำมาใช้กำหนดแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว. ทส. จะเป็นประธานและมอบนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ ปี 2564 และมีกิจกรรมฟื้นฟูป่าบริเวณดอยสุเทพในวันพฤหัสบดี โดยมีรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานในพิธี

การประชุมฯ เพื่อถอดบทเรียนดังกล่าว เป็นผลมาจากการขับเคลื่อนของภาคประชาชนที่เรียกร้องให้ภาครัฐมีปรับปรุงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เนื่องจากมองว่า การแก้ไขปัญหาโดยภาครัฐเพียงลำพังไม่สามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จากปัญหาในพื้นที่ปีนี้ที่มีความรุนแรงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ ซึ่งมีการจัดประชุมถอดบทเรียนในส่วนของภาคประชาชนล่วงหน้าในช่วงวันหยุดที่ผ่านมาเพื่อกำหนดทิศทางในการแก้ปัญหาในส่วนของภาคประชาชน กล่าวว่า หมดยุคของการโทษกันไปมา ขณะที่เรามีเครื่องมือต่างๆเพิ่มขึ้นปัญหากลับหนักขึ้นทุกปี

นายชัชวาลย์กล่าวว่า การจะแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน สิ่งแรก คือต้องมองและเห็นในสิ่งเดียวกันก่อน แม้วันนี้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่หลายปัญหาต้องเร่งเดินหน้าและขับเคลื่อนต่อให้ได้ ไม่ใช่รอแก้ แค่ช่วงวิกฤติ

ในส่วนของภาคราชการเอง นายชัชวาลย์กล่าวว่า ก็ต้องมีแผนแบบนี้ด้วยเช่นกัน ต้องร่วมสร้างระบบการทำงานแบบบูรณาการกันทุกฝ่าย เพื่อก้าวพ้นข้อจำกัด โดยยึดเป้าหมายการแก้ฝุ่นควันที่สาเหตุ ทั้งในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร พื้นที่เมือง คมนาคม อุตสาหกรรมและเพื่อนบ้าน

การแก้ปัญหาควรมีการใช้ข้อมูลความรู้วิชาการเป็นฐาน เปลี่ยนการทำงานแบบบนลงล่าง มาใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area base) เชื่อมโยงพลังในฐานะผู้ได้รับผลกระทบและฐานะพลเมืองเชียงใหม่ โดยมีเป้าหมายปักธงไว้ว่า ปีหน้าต้องดีขึ้นกว่าปีนี้, นายชัชวาลย์กล่าว

ทั้งนี้ หลังการประชุม สภาลมหายใจเชียงใหม่และเครือข่าย ได้มีการสรุปข้อเสนอ เพื่อกำหนดมาตรการจัดทำแผนและเตรียมความพร้อมฯ ในปีหน้า ไว้ 16 แนวทาง คือ

1.ส่วนที่เกี่ยวข้อง ควรตรวจสอบและวิเคราะห์จุดความร้อนให้ถูกต้องแม่นยำ

2.ต้องเร่งทำแผนที่ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง-ชื้น รวมทั้งแนวกันไฟในแต่ละเขตพื้นที่ให้ชัดขึ้น เพื่อให้เห็นระบบนิเวศของป่า

3.รวมพลังทุกภาคส่วน กันเขตชุมชนและที่ทำกินออกจากป่าธรรมชาติให้แล้วเสร็จ นำร่องในนาม “เชียงใหม่โมเดล”โดยใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการ

4.สร้างกระบวนการวางแผนและแก้ปัญหาฝุ่นควันอย่างยั่งยืน บูรณาการทั้งดูแลป่า ป้องกันไฟ และแก้ปัญหาฝุ่นควัน ร่วมกับชุมชน วางระเบียบกติกา โดยมีคณะกรรมการบริหาร

5.มีการจัดการบริหารเชื้อเพลิงในแบบวิชาการ และแผนบริหารฯ อย่างชัดเจน ที่ทุกฝ่ายยอมรับ

6.สนับสนุนและให้กำลังใจพื้นที่ Best Practice ที่สามารถจัดการและแก้ปัญหาไหป่าและฝุ่นควันได้ และเข้าไปสนับสนุนพื้นที่ที่มีการเผาซ้ำซากโดยเร่งด่วน

7.จัดทำข้อมูลเชิงวิชาการ เพื่อนำมาวางแผนในการแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันอย่างยั่งยืน

8.ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนในป่าเป็นอาสาสมัครพิทักษป่า โดยมีการสร้างแรงจูงใจ เช่น มีสวัสดิการบางอย่างให้ หรือตั้งเป็นกองทุนชุมชน ขณะที่ภาคเอกชนจะทำ Blockchain สนับสนุนชุมชนดูแลและแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันได้เป็นอย่างดี

9.จัดเวทีวิชาการเรื่องการจัดการที่ดินและการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ให้เป็นที่ยอมรับและรับรู้ร่วมกันทุกฝ่าย

10.ภาคธุรกิจจะสนับสนุนการตลาด เพื่อลดการเผา

11.เสนอให้ อปท. เป็นแกนประสานการทำงานในระดับพื้นที่ ร่วมกับท้องที่ และชุมชน

12.ลดแหล่งเกิดมลพิษอากาศในภาคเมือง เช่นการเดินทางขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม อย่างเท่าเทียมกันกับชาวบ้านและพื้นที่ป่า

13.เพิ่มพื้นที่สีเขียวในทุกพื้นที่ ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน และเมือง ให้เกิดความสมดุลย์

14.เสนอให้ฝ่ายนโยบายปลดล็อคข้อกฎหมายบางข้อ เพื่อให้นโยบาย”เชียงใหม่โมเดล”เกิดขึ้นจริง

15.ปลูกจิตสำนึกตั้งแต่เด็ก ให้กับนักเรียน นักศึกษา รับรู้ เข้าใจ และรับมือปัญหา โดยให้คณะกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ มีบทบาทหรือผลักดันให้ชัดเจนขึ้น

16. มีข้อเสนอให้จัดเก็บภาษี สร้าง “กองทุนเชียงใหม่ยั่งยืน”เพื่อใช้ในการบริหารจัดการฯ