เสียงสะท้อน #เรียนออนไลน์! ศธ.ยันเปิดเรียนปกติ 1 ก.ค.
เรียนออนไลน์วันแรกล่ม นายกฯ สั่งแจงผู้ปกครอง แค่ไม่ให้ขาดตอน ย้ำเปิดเทอมปกติ 1 ก.ค. “ณัฏฐพล” มั่นใจทั่วประเทศเปิดเรียนได้ ยกเว้น กทม. ภูเก็ต 5 จังหวัดใต้ ต้องประเมินความเสี่ยง ย้ำผู้ปกครองไม่ต้องซื้ออุปกรณ์เพิ่ม เรียนผ่านทีวีได้
วานนี้ 18 พ.ค. วันแรกที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทดลองถ่ายทอดสัญญาณเรียนออนไลน์ผ่านช่องทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม และแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ DLTV ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ปรากฏว่าบรรดาผู้ปกครองและนักเรียน สะท้อนอุปสรรคปัญหา ทั้งปัญหาอินเทอร์เน็ตความเร็วไม่เพียงพอ สำหรับใช้เรียนออนไลน์ ระบบการส่งสัญญาณ เนื้อหาการเรียนที่ไม่ต่อเนื่องกัน และเรียกร้องให้รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ แก้ไขปัญหา
ขณะที่โลกออนไลน์ เช้าวันแรก #เรียนออนไลน์ ขึ้นเป็นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย เนื่องจากมีผู้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจว่า วันนี้ยังมีหลายปัญหาที่เราต้องแก้ ด้วยเพราะยังต้องมีการเปลี่ยนแปลง อย่างเช่น เรื่องการเรียนออนไลน์ ก็มีปัญหา วัตถุประสงค์ คือต้องการเรียนไม่ให้ขาดตอน หลังจากนั้นก็ต้องไปเปิดเรียนมาตรฐาน แต่มีคนไปเข้าใจว่าจะทำแบบนี้ไปตลอดซึ่งไม่ใช่
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงว่าการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ เป็นการแก้ปัญหาในช่วงรอการเปิดเรียนในเดือน ก.ค.นี้ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น จะกลับมาเรียนในห้องเรียนตามปกติ ส่วนปัญหาต่างๆ เช่น การเข้าไม่ถึงระบบ ค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ ภาระการดูแลของผู้ปกครอง และความรับผิดชอบของผู้เรียนที่จะต้องมีวินัยติดตามการเรียนด้วยตนเองนั้น รัฐบาลจะได้นำมาพิจารณาและแก้ปัญหาอย่างละเอียดรอบคอบ
“เบื้องต้นจะมุ่งไปที่การลดเวลาเรียนในห้องเรียน ความพร้อมของผู้ปกครอง รวมทั้งการลดภาระการส่งเด็กไปโรงเรียน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรอีกทางหนึ่งด้วย โดยได้มอบหมายหน่วยงานด้านการศึกษาเร่งชี้แจง ทำความเข้าใจต่อข้อกังวลของประชาชน และผู้ปกครอง ซึ่งต้องขอความร่วมมือช่วยกันผ่านช่วงนี้ไปก่อน จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 ยุติลง”
ศธ.เคลียร์ปม‘เรียนออนไลน์’
ต่อมานายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดแถลงข่าวในช่วงบ่ายวันเดียวกันว่า โดยชี้แจงความจำเป็นที่ ศธ.ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้เหมือนเดิมเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จึงต้องมีมาตรการเพื่อทำให้นักเรียนทั่วประเทศในทุกชั้นเรียน มีโอกาสได้รับการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง และมีคุณภาพในขั้นพื้นฐาน
ทั้งนี้ รมว.ศธ.ได้ตอบข้อสงสัย ข้อกังวล และข้อคิดเห็นต่างๆ ที่มีผู้ปกครอง นักเรียน และประชาชนสะท้อนปัญหา โดยได้ชี้แจงแนวทางการจัดการเรียนการสอน และยืนยันว่า ศธ.ยังยืนยันจะเปิดเรียนในวันที่ 1 ก.ค.2563
รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า ส่วนความเข้าใจที่ผู้ปกครองต้องเตรียมทำการเรียนการสอนออนไลน์ เป็นความคิดที่ผิด เพราะ ศธ.เตรียมการเรียนการสอนออนไลน์เสริมเฉพาะชั้น ม.4-ม.6 ซึ่งเป็นเด็กโต และน่าจะมีอุปกรณ์ หรือสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แล็บท็อบ ในการเสริมการเรียนการสอนด้วยออนไลน์ ส่วนโรงเรียนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ ม.4-6 แต่มีความพร้อมสอนออนไลน์ให้เด็ก เราก็ยินดีเพื่อทำให้นักเรียนมีความรู้พื้นฐานเกินที่เราวางไว้ จึงขอยืนยันอีกครั้งว่า ไม่ใช่นโยบายของ ศธ. ที่จะผลักภาระให้ผู้ปกครองที่จำเป็นต้องไปซื้ออุปกรณ์ต่างๆ หรือเพิ่มเติมในส่วนของอินเทอร์เน็ต
“วันนี้ผมได้ลงพื้นที่ไปสุ่มตรวจเยี่ยมการเรียนของนักเรียนใน จ.อ่างทอง หลังจากที่มีการปล่อยสัญญาณผ่านทีวีดิจิทัล ก็เห็นปัญหาหลายๆ อย่าง ไม่มีอะไรที่เกินความคาดหมาย และเราจะใช้ช่วงเวลาที่มีอยู่ ก่อนถึงวันที่ 1 ก.ค. วางแผนแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ แต่ละบ้าน แต่ละโรงเรียน ซึ่งการที่ ศธ.ตั้งใจจะจัดการเรียนการสอนผ่านทีวี เพราะเราคิดว่าทุกครัวเรือนทั่วประเทศ 90% มีทีวี"
"แต่วันนี้พบว่าครึ่งหนึ่งของนักเรียนที่ให้เตรียมอุปกรณ์ไว้ ไม่ได้ใช้ทีวี แต่ใช้โทรศัพท์ หรือสมาร์ทโฟน ในการดึงสัญญาณผ่านเว็บไซต์ของ DLTV จึงเกิดเว็บไซต์ล่ม ถึงแม้ทางมูลนิธิฯจะเตรียมตัวไว้แล้ว แต่เนื่องจากคนดูการสอนจากมือถือเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีว่าในพื้นที่ที่ครัวเรือนมีรายได้ไม่สูงมาก ก็สามารถมีสมาร์ทโฟนได้”
มั่นใจทั่วปท.เปิดเรียนได้
รมว.ศธ.ย้ำว่า วันที่ 1 ก.ค.โรงเรียนทั่วประเทศต้องทำการเรียนการสอน ส่วนจะสอนที่โรงเรียน หรือสอนออนไลน์เสริม ก็ต้องดูในแต่ละพื้นที่และบริบทนั้นๆ โดยไม่ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์ เพราะโรงเรียน 80% สามารถเปิดเรียนปกติได้ อาจมีบางพื้นที่ เช่น กทม. ภูเก็ต 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังต้องควบคุมและยังไม่เปิดเรียนที่โรงเรียน แต่จะใช้การสอนผ่านทีวีและออนไลน์เสริม ส่วนโรงเรียนพื้นที่อื่นก็เปิดได้ตามปกติ โดยมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุข จึงอยากให้ผู้ปกครองลดความกังวลลง
“กนก”เสนอกก.สถานศึกษาตัดสินใจ
นายกนก วงษ์ตระหง่าน อดีตรองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเป็นห่วงในกรณีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดว่า ถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ลดลงจนถึงเกณฑ์ปลอดภัยต่อการไปโรงเรียนของนักเรียน จะจัดให้มีการสอนออนไลน์ ว่า
“ประเด็นที่กลายเป็นข้อกังวลของวงการศึกษา คือ การปล่อยให้นักเรียนหยุดเรียนอย่างยาวนาน ถึงแม้จะมีการเรียนผ่านช่องทีวีก็ตาม ก็อาจส่งผลเสียหายต่อกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน ทั้งนี้เพราะความไม่เชื่อว่าการสอนออนไลน์ ผ่านทีวีที่ สพฐ. จะดำเนินการนั้น จะสามารถพัฒนาคุณภาพนักเรียนได้อย่างที่ควรจะเป็น ในทางกลับกัน ถ้าให้นักเรียนไปโรงเรียนในช่วงเวลานี้ แล้วนักเรียนเกิดติดโควิด-19 ก็จะกลายเป็นความไม่สบายใจของผู้ปกครอง และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
ด้วยประเด็นความขัดแย้งของแนวทางจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์ที่ไม่มีความแน่นอนจากสถานการณ์โควิด-19 จึงกลายเป็นเรื่องที่สังคมให้ความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง
ผมในฐานะที่ทำงานทางด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง จึงขอเสนอความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ เพื่อหวังว่าจะช่วยนำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้มีทางออกที่เหมาะสม และถือเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความห่วงใยที่มีต่อสถานการณ์อันไม่ปกติ ซึ่งกระทบต่อกลไกทางการศึกษาจนอาจส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนในบ้านเมืองของเรา
โดยขอตั้งคำถามขึ้นมาว่า ใครควรจะเป็นผู้ตัดสินใจว่านักเรียนควรจะไปโรงเรียน หรือควรจะเรียนออนไลน์อยู่บ้าน เพราะฉะนั้น ถ้า สพฐ. จะเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องนี้ แล้วให้นักเรียนทั้งประเทศปฏิบัติตาม ตนคิดว่าคงจะไม่ถูกต้องนัก เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน
ที่สำคัญ ความรับผิดชอบด้านสาธารณสุขในบริเวณพื้นที่ตั้งของแต่ละโรงเรียนนั้น ก็มีบริบทสภาพแวดล้อมตามความเข้าใจและความคุ้นเคยของคนในพื้นที่ และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขในบริเวณดังกล่าว
ดังนั้น คณะบุคคลที่ควรต้องตัดสินใจ ว่าสถานการณ์ระบาดของไวรัสในพื้นที่ตั้งของโรงเรียนนั้นๆ จะปลอดภัยพอที่จะให้นักเรียนไปโรงเรียนได้หรือไม่ น่าจะให้คณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน อันประกอบด้วย ตัวแทนผู้ปกครอง พ่อและแม่ บุคคลในชุมชน ครู และผู้บริหารโรงเรียน รวมไปถึงแพทย์ในพื้นที่ดังกล่าวเข้าร่วมให้ความเห็นก็น่าจะเป็นช่องทางที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่ปล่อยตามอำเภอใจของ สพฐ.