สภาลมหายใจเชียงใหม่ จ่อชง นายกฯ แก้ปัญหาหมอกควันอย่างจริงจัง
สภาลมหายใจเชียงใหม่ แถลงข่าวเตรียมยื่นข้อเสนอ 7 หมวด 17 ประเด็นถึง นายกรัฐมนตรี จี้ให้เร่งแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างจริงจัง หลัง 15 ปีผ่านไป ยังไม่มีอะไรคืบหน้า
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 63 สภาลมหายใจเชียงใหม่ นำโดย นายบัณรส บัวคลี่ ผู้ประสานงานสภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้มีการแถลงข่าวในการเตรียมข้อเสนอ ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง 15 ปีมลพิษอากาศฝุ่นละอองภาคเหนือ ปี 2564 ต้องมีความก้าวหน้าที่จับต้องได้ ที่สำนักงานสภาลมหายใจเชียงใหม่ ถ.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
โดยจะมีการนำข้อเสนอไปมอบให้นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในโอกาสที่จะเดินทางมาปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูป่า และรับฟังสรุปการประชุมถอดบทเรียนการทำงาน ในสถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นควันของจ.เชียงใหม่ ในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้
นายบัณรส บัวคลี่ ผู้ประสานงานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า สภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลระดมความคิดถอดบทเรียนความล้มเหลวที่ผ่านมาอย่างจริงจัง รับฟังความเห็นแตกต่างของภาคส่วนอื่นที่ไม่ใช่หน่วยราชการ ทบทวนกระบวนทัศน์และแนวคิดของการแก้ปัญหา รัฐบาลต้องแสดงความกล้าหาญในการตัดสินใจอย่างมีเจตจำนงทางการเมือง เพื่อแก้ปัญหานี้ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะปัญหานี้มีความซับซ้อนโยงใยกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทั้งในเมืองในป่า ภาคอุตสาหกรรมส่งออก รัฐบาลต้องเร่งรัดพิจารณาเสนอกฎหมายอากาศ-สะอาด เช่นเดียวกับอารยประเทศเพื่อเป็นเครื่องมือของเจตจำนงที่จะให้มีอากาศสะอาดให้กับประชาชน
สำหรับสภาลมหายใจเชียงใหม่และประชาคม จะนำเสนอหลักการสำคัญ ผ่านจังหวัดเชียงใหม่ไปแล้ว และขอให้รัฐบาลพิจารณาผนวกและเร่งรัดดำเนินการในกลไกของภาครัฐอย่างจริงจังใน 7 หมวด 17 ประเด็นดังนี้ หมวดที่ 1 กระบวนการให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วม 1.1. รวมพลังทุกภาคส่วน กันเขตชุมชนและที่ทำกิน ออกจากป่าธรรมชาติให้แล้วเสร็จ นำร่องในนาม “เชียงใหม่โมเดล”โดยใช้ข้อมูลและข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการ 1.2. สร้างกระบวนการวางแผนและแก้ปัญหาฝุ่นควันอย่างยั่งยืน บูรณาการทั้งดูแลป่า ป้องกันไฟ และแก้ปัญหาฝุ่นควัน ร่วมกับชุมชน วางระเบียบกติกา โดยมีคณะกรรมการบริหาร 1.3. มีการจัดการบริหารเชื้อเพลิงตามหลักวิชาการในทุกมิติ และแผนบริหารฯ อย่างชัดเจนที่ทุกฝ่ายยอมรับ 1.4. สนับสนุนและให้กำลังใจพื้นที่ Best Practice ที่สามารถจัดการและแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันได้ และเข้าไปสนับสนุนการแก้ปัญหาในพื้นที่ที่มีการเผาซ้ำซากโดยเร่งด่วน 1.5. เสนอให้ อปท. เป็นแกนประสานการทำงานในระดับพื้นที่ ร่วมกับท้องที่ และชุมชน
หมวดที่ 2 พัฒนาระบบความรู้และฐานข้อมูล 2.1. ทบทวนวิธีตรวจสอบและวิเคราะห์จุดความร้อนให้ถูกต้องแม่นยำ 2.2. เร่งทำแผนที่ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง-ชื้น รวมทั้งแนวกันไฟในแต่ละเขตพื้นที่ให้ชัดขึ้นให้สามารถบริหารเชื้อเพลิงได้เหมาะสมกับระบบนิเวศของป่า 2.3. จัดทำข้อมูลเชิงวิชาการ เพื่อนำมาวางแผนในการแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันอย่างยั่งยืน 2.4. จัดเวทีวิชาการเพื่อหาข้อตกลงเรื่องการจัดการที่ดินและการบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้เป็นที่ยอมรับ รับรู้ร่วมกันทุกฝ่าย 2.5. เสนอให้ฝ่ายนโยบายปลดล็อคข้อกฎหมายบางข้อ เพื่อให้นโยบาย”เชียงใหม่โมเดล”เกิดขึ้นจริง และคำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต
หมวดที่ 3 ความร่วมมือให้เกิดภาคีของการทำงานในการแก้ปัญหาฝุ่นควันส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนในป่าเป็นอาสาสมัครพิทักษ์ป่า โดยมีการสร้างแรงจูงใจ เช่นมีสวัสดิการบางอย่างให้ หรือตั้งเป็นกองทุนชุมชน ขณะที่ภาคธุรกิจจะทำ Blockchain ที่สนับสนุนชุมชนดูแลและแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันได้ดี สนับสนุนการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์จากพื้นที่ปลอดไฟเพื่อลดการเผา
หมวดที่ 4 การสร้างแหล่งรายได้ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นหาแหล่งรายได้ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น เช่นจัดเก็บภาษีท้องถิ่นจากนักท่องเที่ยว สร้าง “กองทุนเชียงใหม่ยั่งยืน”เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเมือง
หมวดที่ 5 เปลี่ยนแปลงพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้ไฟและพื้นที่ป่า จัดทำโซนนิ่งพืชเกษตรอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ไฟ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูงต้นน้ำ และออกมาตรการเปลี่ยนผ่านรองรับเพื่อนำไปสู่พื้นที่เกษตรยั่งยืน
หมวดที่ 6 การจัดการพื้นที่เมือง 6.1. มีมาตรการลดแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศในพื้นที่เมือง ให้เท่าเทียมกันกับระดับและมาตรการ ลดมลพิษอากาศในพื้นที่นอกเมือง พื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่าเช่นการเดินทางขนส่ง โรงงาน อุตสาหกรรม และการเผาไหม้อื่นๆ 6.2. เพิ่มพื้นที่สีเขียวในทุกพื้นที่ ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน และเมือง ให้เกิดความสมดุลทางนิเวศของเมืองลดฝุ่น สร้างอากาศสะอาด และลดอุณหภูมิของเมืองลง 6.3. ให้คณะกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่มีบทบาทหรือผลักดันการปลูกจิตสำนึกการฟื้นฟูและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่วัยเยาว์ ให้นักเรียน นักศึกษารับรู้เข้าใจ และรับมือปัญหามลพิษอากาศและอื่นๆให้ชัดเจนมากขึ้น
หมวดที่ 7 การบริหารปัญหาระดับนโยบาย รัฐบาลต้องประกาศนโยบายอากาศสะอาดเพื่อประชาชนคนไทยทุกคนจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเร่งรัดให้มีกฎหมายอากาศสะอาดพร้อมหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย และในช่วงที่รอกฎหมายให้รัฐบาลจัดให้มีคณะกรรมการบริหารอากาศแห่งประเทศไทย รับผิดชอบการควบคุมค่าอากาศให้มีคุณภาพเหมาะสมกับการดำรงชีวิต