สรุป! ‘เงินเยียวยา’ 5,000 บาท ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ใครอยู่กลุ่มไหน จ่ายอย่างไร
คลังแจง ผลการดำเนินงาน “เงินเยียวยา” ในมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่ดำเนินการไปกว่า ร้อยละ 99 นั้น จ่ายใครไปแล้วบ้าง พร้อมรายละเอียดแต่ละขั้นตอน กลุ่มไหนดำเนินการอย่างไร
มาตรการช่วยเหลือเงินเยียวยา 5,000 บาทในโครงการ เราไม่ทิ้งกัน ผ่านการลงทะเบียนใน www.เราไม่ทิ้งกัน.com ได้มีการทยอยจ่ายเงินให้กับผู้ลงทะเบียนอย่างต่อเนื่อง ความคืบหน้าล่าสุดนั้น ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เผยว่า ขณะนี้ ทางโครงการได้ดำเนินการไปแล้วกว่า ร้อยละ 99 โดยร้อยละ 1 ที่เหลืออยู่นั้น คือ ส่วนตกค้างในเรื่องการยื่นทบทวนสิทธิ
โครงการเราไม่ทิ้งกัน ที่มีผู้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาทั้งสิ้น 28.8 ล้านราย นั้น สามารถแยกการดำเนินการของระบบออกเป็นสัดส่วนต่างๆ ได้ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- เช็คที่นี่! 'เยียวยาเกษตรกร' กลุ่มที่ 3 เงินเข้าบัญชีเมื่อไหร่ ?
- ผู้ได้รับเงิน 'เยียวยาผู้พิการ' 1,000 บาท มีใครบ้าง? รับเงินทางไหน?
การคัดกรองขั้นต้นจากผู้ลงทะเบียน 28.8 ล้านราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
- ผู้ที่มีการลงทะเบียนซ้ำ 4.8 ล้านราย
- ผู้ที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ 1.7 ล้านราย
- ผู้ลงทะเบียนที่เข้าสู่ขั้นตอนการคัดกรองตามหลักเกณฑ์จำนวน 22.3 ล้านราย
สำหรับกลุ่มผู้ผ่านการคัดกรองตามหลักเกณฑ์รับเงินเยียวยาจากเราไม่ทิ้งกัน 22.3 ล้านราย สามารถคัดแยกออกเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ
- ผู้ผ่านเกณฑ์ 15 ล้านราย
- ผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิ 7 ล้านราย
- ผู้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการทบทวนสิทธิ 2.4 แสนราย
กลุ่มผู้ผ่านเกณฑ์ลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกัน รับเงินเยียวยา 5,000 บาททั้ง 15 ล้านราย นั้นแบ่งออกเป็น
กลุ่มผู้ที่ได้รับโอนเงินเยียวยาแล้ว 14.2 ล้านราย ส่วนที่เหลืออีกราว 7 แสนราย ระบบจะโอนเงินเยียวยาได้ครบถ้วนทั้งหมดภายในสัปดาห์นี้ โดยมีรอบการโอนวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 จำนวน 2.3 แสนราย และวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 จำนวน 4.4 แสนราย
ทั้งนี้ บัญชีของผู้รับเงินเยียวยาจะต้อง มีชื่อบัญชีตรงกับชื่อนามสกุลที่ลงทะเบียน ไม่มีปัญหาบัญชีถูกปิด หรือไม่ได้ผูกพร้อมเพย์กับหมายเลขประจำตัวประชาชน ซึ่งจะเป็นเหตุให้การโอนเงินไม่สำเร็จ ดังนั้น หากกลุ่มผู้ผ่านเกณฑ์รับเงินเราไม่ทิ้งกันแล้ว แต่ยังติดขัดเรื่องบัญชีสำหรับรับโอนเงินเยียวยานั้น ควรดำเนินการผูกพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชนโดยเร็ว ซึ่งจะเป็นช่องทางที่สะดวกที่สุด และไม่ต้องดำเนินการอะไรเพิ่มเติมอีก กระทรวงการคลังจะมีการตรวจสอบ และโอนเงินให้ใหม่เป็นประจำทุกสัปดาห์
ส่วนกลุ่มไม่ได้รับสิทธิเงินเยียวยา จาก เราไม่ทิ้งกัน 7 ล้านราย สามารถจำแนกออกเป็น
- ผู้ไม่ขอทบทวนสิทธิ 4.8 ล้านราย
- ผู้ไม่ผ่านการขอทบทวนสิทธิ 1 ล้านราย
- ผู้ยกเลิกการลงทะเบียนหรือยกเลิกการขอทบทวนสิทธิ 9 แสนราย
กลุ่มที่ขอข้อมูลการประกอบอาชีพเพิ่มเติม แต่ไม่ได้เข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมภายในเวลาที่กำหนดประมาณ 3 แสนราย จำแนกออกเป็น กลุ่มที่อยู่ระหว่างการดำเนินการทบทวนสิทธิเราไม่ทิ้งกัน 2.4 แสนราย (หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1 ของจำนวนผู้ที่เข้าสู่การคัดกรองตามหลักเกณฑ์) โดยยังอยู่ระหว่างดำเนินการ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 ผู้ขอทบทวนสิทธิ 8 หมื่นราย จะได้รับการติดต่อจากทีมผู้พิทักษ์สิทธิเพื่อนัดหมายยืนยันตัวตนและตรวจสอบการประกอบอาชีพตามที่ได้ลงทะเบียนไว้
กลุ่มที่ 2 ผู้ขอทบทวนสิทธิซึ่งเคยได้รับการติดต่อจากทีมผู้พิทักษ์สิทธิแล้วแต่ไม่สามารถนัดพบได้หรือที่อยู่จริงในปัจจุบันไม่ตรงกับที่ได้ลงทะเบียนไว้ตอนขอทบทวนสิทธิ ประมาณ 1 แสนราย เป็น ทำให้ผู้พิทักษ์สิทธิไม่สามารถเจอตัวได้
กลุ่มที่ 3 ผู้พิทักษ์สิทธิได้พยายามติดต่อไปหาแล้วหลายครั้งแต่ติดต่อไม่ได้จำนวน 6 หมื่นราย
โดยผู้ขอทบทวนสิทธิในกลุ่มที่ 2 และ 3 นั้นกระทรวงการคลังจะมีการส่ง SMS แจ้งให้ทราบอีกครั้ง และให้ไปติดต่อที่สาขาธนาคารกรุงไทยที่สะดวกที่สุดเพื่อยืนยันตัวตนและการประกอบอาชีพ โดยนำบัตรประชาชนตัวจริง ไปแสดงพร้อมหลักฐานการประกอบอาชีพได้จนถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดกรองรับเงินเยียวยาจากเราไม่ทิ้งกันโดยเร็วที่สุด