สนพ.เร่งสรุปแผนรื้อโครงสร้างก๊าซ ชง กพช.เคาะหวังต้นทุนค่าไฟถูกลง

สนพ.เร่งสรุปแผนรื้อโครงสร้างก๊าซ ชง กพช.เคาะหวังต้นทุนค่าไฟถูกลง

สนพ. เตรียมจัดทำแผนรื้อโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซฯใหม่ เสนอ กพช.ในเร็วๆนี้ คาด ครึ่งปีหลังเห็นภาพชัด มั่นใจ ประเทศต้องได้ประโยชน์ต้นทุนค่าไฟถูกลง

นายวัฒนพงษ์  คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.อยู่ระหว่างวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อจัดทำแผนปรับโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติใหม่ หลังจากมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2563 ได้มอบหมายให้ สนพ. และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ไปทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) และ กพช. พิจารณาต่อไป

โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างรอ กกพ.สรุปการประเมินผลนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ทั้ง 2 ลำเรือ ปริมาณลำละ 65,000 ในรอบเดือนธ.ค.2562 และเดือนเม.ย.2563 ให้ กบง. รับทราบผลกระทบจากการดำเนินการ รวมถึงเปรียบเทียบต้นทุนค่าไฟฟ้า และผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า จากนั้น สนพ.จะนำผลดังกล่าวมาวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การปรับนโยบายกิจการก๊าซฯเสรี เสนอต่อ กพช.ให้พิจารณาเดินหน้านโยบายต่อไป

159006261394

“กำหนดการเดิมจะประชุม กพช.ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.นี้ แต่เนื่องจากติดปัญหาโควิด-19 ก็ต้องนัดหมายการจัดประชุมอีกครั้ง แต่เชื่อว่า คงไม่ช้า และสนพ.จะเร่งสรุปแผนโดยเร็ว ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ก็จะเห็นภาพชัดเจนโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซฯใหม่ ที่จะมี Shipper รายใหม่เพิ่ม นอกเหนือจาก ปตท. และกฟผ.”

ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซฯใหม่ จะต้องหารือกับกระทรวงพลังงาน ว่าจะวางรูปแบบอย่างไร ทั้งเรื่องการกำหนดสูตรโครงสร้างราคาก๊าซฯ ซึ่งหลักการเดิมที่เคยเสนอ กพช.รับทราบไปนั้น การนำเข้า LNG ของ Shipper รายใหม่ จะไม่ถูกนำมาคำนวนในสูตรราคาเฉลี่ยรวม (Pool Gas) ที่จัดหาจาก 3 แหล่ง คือ การจัดหาก๊าซฯในประเทศ, การซื้อก๊าซจากเมียนมา และนำเข้าในรูปแบบ LNG ที่ปัจจุบัน ดำเนินการโดย ปตท.เพียงรายเดียว ซึ่งก็ต้องดูว่า จะมีการปรับเปลี่ยนสูตรราคาก๊าซฯ ไปจากหลักการเดิมหรือไม่ 

รวมถึงเรื่องของคุณภาพก๊าซฯผ่านระบบท่อของ ปตท.ด้วย โดยการดำเนินการต่างๆ จะต้องอยู่บนหลักการสำคัญคือ 1.เกิดการแข่งขัน 2.ต้นทุนก๊าซฯต้องถูก เพื่อให้ประโยชน์ได้ประโยชน์จากต้นทุนอัตราค่าไฟฟ้าที่จะลดต่ำลงในอนาคต

นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นได้รับทราบข้อมูลที่บอร์ด กกพ. อนุมัติออกใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ ให้กับบริษัทเอกชนบางงรายแล้ว ซึ่งเข้าใจว่า เป็นการยื่นขอใบอนุญาตฯเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะนำเข้า LNG หากรัฐเปิดเสรีเต็มรูปแบบ

ดังนั้น ในอนาคตหากมี Shipper รายใหม่ เกิดมากขึ้น ปตท. คงจะต้องเร่งปรับตัวแม้ว่าลูกค้าก๊าซฯที่มีอยู่ในมือจะผูกพันด้วยสัญญาเดิม แต่ลูกค้าใหม่ๆก็อาจถูกชิงส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ปตท.ได้เตรียมความพร้อมรองรับการแข่งขันในธุรกิจนำเข้า LNG ตามนโยบายของการรัฐที่ผลักดันโครงสร้างกิจการก๊าซฯเสรี และรองรับการมี Shipper รายใหม่เกิดขึ้น ซึ่งผู้นำเข้ารายใหม่ก็จะเป็นได้ทั้งรูปแบบนำเข้ามาใช้เอง หรือ อาจจะขายให้กับ ปตท.ก็ได้ แต่รัฐก็ต้องพิจารณาเรื่องความมั่นคงในอนาคตด้วย

โดยปีนี้ ปตท. มีแผนจะนำเข้า LNG ในรูปแบบตลาดจร(Spot) จำนวน 11 ลำ เนื่องจาก LNG Spot ขณะนี้ มีราคาถูกมาก อยู่ที่ประมาณ 2-3 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู แต่จะนำเข้าได้ในระดับใดนั้น ยังต้องประเมินความต้องการใช้และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไปด้วย