“อนุบาล-ประถม” เรียนออนไลน์ ผิดหลักพัฒนาการของเด็ก
การเรียนการสอนทางไกลผ่านทีวี สอนออนไลน์อนุบาล และประถม ต้องอาศัยครู ผู้ปกครอง ช่วยติดตามดูแลการเรียนของเด็กอย่างใกล้ชิด ซึ่ง 3 วันที่ผ่านมา ปัญหาที่พบมากที่สุด คือความเข้าใจของผู้ปกครองที่ส่วนใหญ่จะมีความกังวลว่าลูกจะตามเพื่อนไม่ทัน
นอกจากนี้ ยังรวมถึงปัญหาการจูนสัญญาณไม่ได้ จนผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ศธ. ต้องออกมาชี้แจงกับผู้ปกครองว่าไม่ต้องซื้ออุปกรณ์ หากไม่มีแจ้งโรงเรียนจัดหาให้ การเรียนดังกล่าวเป็นเพียงการเตรียมความพร้อมช่วงวิกฤตเท่านั้น ไม่ใช่เรียนปกติ ไม่มีผลต่อการประเมินเด็ก ครูใดๆ ทั้งสิ้น
การเรียนออนไลน์แตกต่างจากห้องเรียน และไม่เหมาะกับเด็กวัย อนุบาล ประถมศึกษา ที่ต้องอาศัยการเรียนในห้องเรียน มีการปฎิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับเด็ก เด็กกับครูเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่ด้วยวิฤตที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องปรับมาเรียนทางไกลและสอนออนไลน์ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงเป็นหน้าที่ของครู และผู้ปกครองต้องร่วมมือในการจัดการศึกษาในสถานการณ์วิกฤตินี้
โดยเฉพาะครูจะต้องสำรวจปัญหาของพ่อแม่ผู้ปกครอง สร้างความรูู้ ความเข้าใจ เน้นสื่อสารว่า จริงๆ แล้วการเรียนผ่านทีวีและออนไลน์เป็นการปรับพื้นฐาน ทำให้เด็กได้ใช้เวลาว่างๆ ไม่เสียเปล่า ซึ่งไม่มีผลต่อการประเมินใดๆ หากช่วงออกอากาศ ผู้ปกครองไม่ได้อยู่กับเด็กก็สามารถดูย้อนหลังได้ “ชฎาภรณ์ เสาร์คำ” ครูสอนภาษาไทยระดับประถมศึกษาป.4-ป.5 โรงเรียนวัดบางไกรนอก(แย้มพร้อมอุปถัมภ์) จ.นนทบุรี ที่พยายามสื่อสารให้ผู้ปกครองเข้าใจ ไม่อยากให้ กังวล เครียด หรือต้องเสียเงินไปซื้ออุปกรณ์ เพราะการเรียนการสอนผ่านทีวี ออนไลน์นี้เป็นเพียงการปรับพื้นฐานเด็กเท่านั้น
เมื่อไปเรียนในชั้นเรียนทุกคนจะได้รับการเรียนรู้ที่เติมเต็มเท่ากัน เพราะครูแต่ละคนจะมีการประเมิน วิเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคล เด็กคนไหนไม่เข้าใจเรื่องใดก็จะมีการสอนเสริมให้ ดังนั้น หากผู้ปกครองมีความสงสัย ไม่เข้าใจเรื่องใด ให้ติดต่อผ่าน Line กลุ่มห้องเรียนที่ครูสร้างขึ้นหรือติดต่อส่วนตัวกับครูก็ได้ ส่วนเด็กที่ไม่ได้ดูในช่วงเวลาที่ DLTV ออกอากาศ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นนทบุรี เขต 1 ร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่จัดทำคลิปวิดีโอการเรียนการสอนเปิดให้เด็กดู และฝึกทำงานใบงานง่ายๆ โดยจะมีครูคอยให้คำแนะนำในทุกเรื่องเช่นกัน
อย่างไรก็ตามเรียนออนไลน์ เป็นโลกเสมือนจริง เด็กเล็กยังไม่สามารถแยกแยะได้ เป็นการสื่อสารทางเดียว เด็กไม่มีปฎิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครู หรือเด็กกับเด็ก ซึ่งในเด็กเล็กการพูดคุยการสื่อสาร ภาษาถือเป็นหัวใจของพัฒนาการสติปัญญา เครื่องมือการสื่อสารการเรียนรู้ออนไลน์อาจจะช่วยเสริมพัฒนาการในบางเรื่องได้ หากจะมาเป็นตัวหลักในการเรียนรู้คงไม่เหมาะสม แต่ด้วยวิฤตที่เกิดขึ้น เด็กเรียนออนไลน์ก็ดีกว่าเอาเวลาไปเล่นเกม หรือทำกิจกรรมอย่างอื่น อย่างน้อยเด็กได้ฝึกอ่าน ฝึกเรียน ฝึกทำกิจกรรม
“ดารณี อุทัยรัตนกิจ” ประธานกรรมการดำเนินงานโครงการศึกษานานาชาติในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า เรียนออนไลน์ เป็นเรื่องใหม่ของการศึกษาไทย ครู และผู้ปกครอง ทำให้เกิดปัญหาหลายเรื่อง ซึ่งเท่าที่ทราบสพฐ. ศธ.ก็ปรับปรุงให้เหมาะสมในช่วงวิกฤตเท่านั้น เพราะการเรียนออนไลน์ เหมาะสมกับเด็กในบางช่วงวัย อย่าง เด็กอนุบาล ปฐมวัย ประถมศึกษา การเรียนออนไลน์ผิดหลักการเรียนรู้ พัฒนาการของเด็กอยู่แล้ว
เพราะ เด็กอนุบาล-ประถมศึกษา ต้องเรียนรู้ทักษะชีวิต การสื่อสาร การปฎิสัมพันธ์ เรียนรู้ผ่านกระบวนการเล่น การลงมือทำ การเรียนรู้ออนไลน์อาจสามารถทำได้ถ้าพ่อแม่เป็นผู้สอนแทนครู ซึ่งในความเป็นจริง จากลักษณะครอบครัวไทยเป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อแม่ต้องทำงาน การจะให้พ่อแม่มาสอน ทำหน้าที่แทนครูคงเป็นเรื่องยาก ส่วนเด็กโตอาจจะเรียนผ่านออนไลน์ได้ แต่ต้องกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสม เลือกอุปกรณ์ แอปพลิเคชั่นให้เด็ก เพราะการอยู่หน้าจอเป็นเวลานานจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ กระทบการใช้ชีวิต
ในช่วงวิกฤตอย่างนี้เด็กคงมาโรงเรียนไม่ได้ เบื้องต้นควรจัดทำรูปแบบการเรียนออนไลน์ลักษณะฝึกทักษะชีวิต การใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การใช้ชีวิตแบบ New Normal ทำอย่างไร การสวมใส่หน้ากาก การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล การล้างมือ หรือการทำความสะอาดบ้าน การทำอาหาร ทำขนมง่ายๆ นอกจากเป็นกิจกรรมที่เด็กสามารถทำได้แล้ว ยังสร้างปฎิสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว แต่หากไม่มีพ่อแม่อยู่บ้าน ชุมชน ครู ควรสร้างการเรียนรู้สร้างฐานสมรรถนะอื่นๆ เสริมแก่เด็ก ที่สำคัญลักษณะการเรียนรู้ต้องเป็นแบบอินเตอร์แอคทีฟ
อย่างไรก็ตามความพร้อมแต่ละครอบครัวแตกต่างกัน อย่างโรงเรียนอินเตอร์ และโรงเรียนเอกชน เรียกได้ว่าไม่มีปัญหาในการเรียนออนไลน์ หรือระบบสัญญาณ และอุปกรณ์ต่างๆ เพราะโรงเรียน ครูจะมีการติดตามทั้งผู้ปกครองและนักเรียนอย่างใกล้ชิด ขณะที่เด็กๆ เองก็มีการเรียนผ่านออนไลน์มาอยู่แล้ว จะมีเพียงแต่โรงเรียนในสังกัดสพฐ.ที่มีความเหลื่อมล้ำสูง
“อภิญญา มั่นช้อย” ผู้ปกครองนักเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา กล่าวว่าแม้ว่าระบบการเรียนออนไลน์ของสพฐ. มีการเตรียมพร้อมอย่างดี แต่ด้วยพื้นฐานของแต่ละครอบครัวต่างกัน บางครอบครัวให้ลูกไปโรงเรียนเนื่องจากไม่มีเวลา แต่เมื่อเกิดกรณีแบบนี้ลูกต้องอยู่บ้าน และเป็นบ้านที่ไม่มีผู้ปกครอง ให้เด็กเรียนด้วยตนเอง จึงอาจจะเป็นเรื่องยากที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นได้ดี
คงต้องเป็นหน้าที่ของครูผู้สอน ที่จะต้องติดตามเด็กแต่ละครอบครัว และนำปัญหามาสรุปแจ้งไปยังหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อเข้าไปสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ในเด็ก ขณะที่พ่อแม่ต้องใส่ใจลูกมากขึ้น พยายามพูดคุยกับครูให้มาก เมื่อเกิดวิกฤต ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้ ปรับตัวและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และสามารถติดตามตามตารางออกอากาศล่วงหน้าที่่เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมฯ หรือ www.dltv.ac.th โดยคลิกเข้าไปที่ “ตารางออกอากาศ” เลื่อนไปที่ระดับชั้นตามความต้องการได้