เสนอโมเดลเรียนออฟไลน์ ออกแบบกิจกรรมเหมาะกับเด็ก
นักการศึกษาเสนอโมเดลเรียนออฟไลน์ต้องยึดหลักทำให้เด็กสนใจมีส่วนร่วมให้ได้ แนะยึดโยงบริบทชุมชน ใช้โอกาสนี้ได้เรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเสวนา Equity talk ผ่าน facebook live ในหัวข้อ "แนวทางการจัดการเรียนรู้แบบออฟไลน์ ในช่วง COVID-19 โดยมีวิทยากรได้แก่ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ดร.พรนับพัน วงศ์ตระกูล หัวหน้าโครงการพัฒนาทักษะครูและนักจัดการเรียนรู้สำหรับห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 นายสามารถ สุทะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่บอน จ.ลำพูน 4. นางณภัค ฐิติมนัส ครูโรงเรียนจักรคำคณาทร จ.ลำพูน
ผศ.อรรถพล กล่าวว่า COVID-19 ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การศึกษาทั่วโลกซึ่งเราต้องเรียนรู้และหาวิธีการรับมือ ทั้งการจัดการศึกษาทางไกล ไปจนถึงการบริหารจัดการโรงเรียนโดยไม่ทิ้งเด็กไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียว ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครอง ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลของหลายโรงเรียนพบว่ามีนักเรียนจำนวนมากเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ต้องวางแผนผสมผสานปรับกิจกรรมการเรียนให้มีความยืดหยุ่นทั้ง การสอนออนไลน์ในส่วนเด็กที่มีความพร้อมและส่วนออฟไลน์ในส่วนเด็กที่ไม่พร้อม
อย่างไรก็ตาม ในการปรับหลักสูตรรูปแบบการเรียนการสอน เราควรต้องยึดหลักที่เด็กทุกคนล้วนมีความสำคัญ ต้องไปสำรวจดูว่าใครเข้าถึงและเข้าไม่ถึงในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งพ่อ แม่ ครู มีความสำคัญต้องทำงานร่วมกันออกแบบกิจกรรมที่มีความเหมาะสมกับเด็ก เด็กที่ไม่สามารถออนไลน์ก็ต้องใช้วิธีการออฟไลน์ มีใบความรู้ ให้เด็กทำชิ้นงานที่ต้องมีภารกิจชัดเจน กำหนดว่าใครจะเป็นพี่เลี้ยงติดตามความก้าวหน้า กำหนดช่วงเวลาที่ครูจะมาตรวจงานให้ความเห็น
“ความสำคัญคือ โรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง จะต้องร่วมมือกันเพื่อให้การเรียนในช่วงนี้ ที่สำคัญคือการเรียนทางไกลที่จะเกิดขึ้นจะต้องพลิกวิกฤตเป็นโอกาสต้องทำให้เด็กมีส่วนร่วมรู้สึกเป็นเจ้าของบทเรียนของเขา ดังนั้นต้องออกแบบการเรียนในสิ่งที่เขาอยากรู้ เป็นเรื่องใกล้ตัว เพื่อให้เขาสนใจและตั้งใจเรียนรู้ และออกแบให้น่าสนใจไม่ใช่ออกแบบใบความรู้ให้ต้องอ่านอะไรยาวๆ แต่ต้องกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ” ผศ.อรรถพล กล่าว
นายสามารถ กล่าวว่า ที่โรงเรียนมีนักเรียนจำนวนไม่มากทั้งหมดเป็นปกาเกอญอ บางบ้านไม่มีไฟฟ้า บางบ้านไม่มีจานดาวเทียม นำไปสู่การประชุมครูเพื่อทำหลักสูตรในช่วงนี้ โดยยึดโยงกับบริบทของพื้นที่ให้เด็กได้เรียนรู้จากชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ปู่ย่าตายยายของเด็ก โดยสิ่งสำคัญคือเด็กจะต้องไม่ห่างจากการเรียนนานเกินไปไม่เช่นนั้นจะลืมสิ่งที่เคยเรียนโดยเฉพาะ การอ่าน การผันสระ วรรณยุกต์
อย่างไรก็ตาม มองว่าการเรียนในรูปแบบออฟไลน์คงไม่อาจได้ผล 100% เพราะขนาดเรียนในห้องเรียนเด็กยังไม่สนใจตลอดเวลา เด็กจะมีสมาธิสนใจกับสิ่งที่เรียนตามอายุเช่น ป. 6 จะสนใจ12-15 นาที ดังนั้นการที่จะให้เขาตั้งใจเรียนต้องหาเรื่องที่เขาสนใจเป็นพิเศษเพื่อดึงดูดสมาธิไว้ได้ รวมทั้งการที่เรียนรู้เรื่องของท้องถิ่นที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันไปก็สามารถให้ปู่ย่าตายายเป็นคนช่วยสอนซึ่งหลายเรื่องเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเขาอยู่แล้ว
“การออกแบบการเรียนรู้ไม่สามารถออกแบบเดียวแล้วใช้กับเด็กทุกคนได้ทั้งห้อง เพราะเด็กบางคนเก่ง บางคนไม่เก่ง จะใช้ใบงานใบเดียวกันทั้งห้องไม่ได้ เราก็ต้องคิดว่าใบงานนี้อาจง่ายเกินไปสำหรับเด็กเก่ง ฉะนั้นในชุดกิจกรรมก็จะต้องมีทั้งที่เป็นของเด็กเก่ง และไม่เก่งเพื่อให้เก่งให้เหมาะสมกับเด็ก” นายสามารถ กล่าว
ดร.พรนับพัน กล่าวว่า สิ่งที่จำเป็นคือโรงเรียนจะต้องมีความเชื่อมั่นว่าต้องผ่านเรื่องเหล่านี้ไปให้ โดยชุมชนจะมีส่วนสำคัญในการเข้ามา ซึ่งการเรียนรู้ในแต่ละพื้นที่ต่างบริบทกันก็จะมีเรื่องที่เด็กสนใจแตกต่างกัน ทำอย่างไรถึงจะทำให้เขาเลือกเรียนได้ตามความชอบ ให้มีโอกาสได้เลือกเรียนโดยที่กิจกรรมมีความสนุก ท้าทาย และมีประโยชน์ทั้งในห้องเรียน และในชีวิตจริง อย่างเช่นการคิดค้นสูตรดิน ให้เมล็ดพันธุ์ไปทดลองปลูกที่เด็กจะได้สังเกตและเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไปจนถึงการทำบัตรคำศัพท์พร้อมรูปให้เด็กได้จับคู่ ซึ่งจะมีใบเฉลยอยู่ในซอง ที่พ่อ แม่ รุ่นพี่ ครูอาสา ที่อยู่ในชุมชน สามารเป็นคนช่วยอธิบาย
นางณภัค กล่าวว่า ที่โรงเรียนมีนักเรียนจำนวนมากและมีความหลากหลาย การสอนในวิชาโครงงานเป็นวิธีหนึ่งที่จะนำไปสอนเด็กแบบออฟไลน์ได้ โดยกำหนดเป็นกิจกรรมเช่นสำรวจลงพื้นที่ จดบันทึก โดยครูจะต้องนึกถึงบริบทใกล้ตัว ในชุมชนมีอะไร ในบ้านมีอะไร ให้เหมาะสมกับสภาพชีวิตของแต่ละคนที่เขาจะเห็นว่าทำไปแล้วจะเกิดประโยชน์ อย่างครอบครัวทำสวนลำไยก็ทำโครงงานเกี่ยวกับสวนลำไย ที่สำคัญคือการใช้บริบทของท้องถิ่นมาเป็นฐานการเรียนรู้ของนักเรียน
“ตรงนี้อาจเป็นโอกาสดีให้เด็ก ๆ ได้เดินออกไปกลางทุ่ง ไปดูต้นไม้ใบหญ้า ไปสำรวจทุ่งนา ไปดูพืชสวนลำไย ทุกอย่างคือการเรียนรู้ทั้งหมด ซึ่งบางทีอาจมีคนรู้มากกว่าครู ก็ให้เด็กกลับลงไปถามปราชญ์ชาวบ้าน ให้เขาได้เสาะหาความรู้ โดยครูมีหน้าที่รับฟังวิธีคิด หากทำผิดครูก็ให้ข้อเสนอแนะ หากทำดีก็ชมว่าทำดี และควรมีศูนย์การเรียนรู้ประจำหมู่บ้านที่มีอินเตอร์เน็ต เป็นห้องสมุดของชุมชน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเข้าไปเรียนพร้อมกันทุกคนตรงนี้จะเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้มาก” นางณภัค กล่าว