อย่าประมาท 'ทรัมป์'
วันนี้หากวิเคราะห์สงครามการค้าจีน-สหรัฐ รวมถึงสงครามเย็นสงครามเทคโนโลยียุคใหม่ หลายคนบอกให้รออีก 6 เดือน จึงจะแน่ชัดว่าทิศทางข้างหน้าเป็นอย่างไร ปัจจัยสำคัญที่สุดอยู่ที่ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอีกสมัยหรือไม่ แล้วมีปัจจัยหนุนอะไรบ้าง?
นานมาแล้ว เคยมีนักวิเคราะห์หยอกเล่นว่า ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐนั้นควรให้คนทั้งโลกมีโอกาสร่วมเลือกตั้งด้วย เพราะใครจะมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ เผลอๆ จะมีผลกระทบต่อโลกสูงกว่าผลกระทบต่อสหรัฐเสียอีก เนื่องจากภายในสหรัฐมีการกระจายอำนาจทุกระดับ ตัวประธานาธิบดีเองไม่ได้มีอำนาจล้นพ้นอะไร แต่ประธานาธิบดีสหรัฐมีอำนาจเด็ดขาดในเรื่องนโยบายต่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศ และการทหาร ซึ่งล้วนส่งผลโดยตรงต่อการเมืองและระเบียบเศรษฐกิจโลก
วันนี้ ถ้าจะให้วิเคราะห์สงครามการค้าจีน-สหรัฐ ไปจนถึงสงครามเย็นสงครามเทคโนโลยียุคใหม่ ทุกคนก็ต้องบอกให้รออีก 6 เดือน จึงจะแน่ชัดว่าทิศทางข้างหน้าเป็นอย่างไร ปัจจัยสำคัญที่สุดอยู่ที่ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอีกสมัยในเดือนพฤศจิกายนหรือไม่ ช่วงเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทรัมป์ครองตำแหน่งประธานาธิบดี ต้องนับว่าทรัมป์พลิกโฉมการเมืองโลกยิ่งกว่าพลิกโฉมการเมืองสหรัฐเสียอีก
หลายคนดูผลงานการบริหารจัดการโควิดของพี่ทรัมป์ที่ล้มเหลวเข้าขั้นหายนะ จนอดีตประธานาธิบดีโอบามาออกมาเรียกว่า “หายนะเละเทะ” อาจฟันธงไปแล้วว่าทรัมป์ไม่มีทางจะชนะการเลือกตั้งอีกสมัยได้เลย ยิ่งถ้าดูผลโพลทุกสำนัก ก็จะเห็นคู่แข่งจากพรรคเดโมแครตอย่างไบเดนมีคะแนนนำทรัมป์อย่างชัดเจน และเริ่มนำทิ้งห่างมากขึ้นเรื่อยๆ
กฎทองของการเมืองสหรัฐ ก็คือ ประธานาธิบดีที่จะได้รับการเลือกตั้งต่ออีกสมัย ช่วงเลือกตั้งเศรษฐกิจต้องดี ตัวอย่างคือ บุชผู้พ่อ ตอนช่วงเลือกตั้งสมัยที่ 2 เศรษฐกิจติดหล่ม จึงแพ้เลือกตั้งให้แก่คลินตัน ในขณะที่คลินตันช่วงเลือกตั้งสมัยที่ 2 เศรษฐกิจกำลังขาขึ้น จึงได้รับเลือกตั้งให้เป็นต่อ
ครั้งนี้หลายคนจึงบอกทรัมป์แพ้แน่ เพราะโควิด 19 พาเศรษฐกิจสหรัฐดิ่งเหวเทียบชั้นวิกฤติการเงินในอดีต ตอนนี้ยอดคนตกงานในสหรัฐพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ สภาพเศรษฐกิจหนักหนาสาหัสเช่นนี้ จะยังกลับมาอีกได้อย่างไร
แต่อย่าเพิ่งประมาทพี่ทรัมป์นะครับ นอกจากกฎทองเรื่องเศรษฐกิจแล้ว การเมืองสหรัฐฯ ยังมีกฎทองอีก 3 ข้อ ที่คนไม่ค่อยรู้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เข้าทางพี่ทรัมป์ทั้งสิ้น
กฎทองข้อหนึ่งก็คือ ประธานาธิบดีในช่วงสงครามมักจะได้รับการเลือกตั้งต่ออีกสมัย ตัวอย่างเช่น บุชจูเนียร์ ที่เป็นประธานาธิบดีช่วงสงครามอิรัก แม้ผลงานด้านอื่นๆ จะไม่ได้เรื่องเท่าไร ก็ยังได้รับการเลือกตั้งให้เป็นต่อ เพราะภาพลักษณ์ประธานาธิบดีช่วงสงครามช่วยเสริมภาพความแข็งแกร่ง เด็ดขาด เรียกคะแนนนิยม พร้อมกลับปลุกกระแสชาตินิยม คนสหรัฐเองไม่ชอบเปลี่ยนแม่ทัพกลางศึกสงคราม
ช่วงต้นปี ทรัมป์จึงพาลเกือบจะก่อสงครามกับอิหร่าน และเราจึงเข้าใจได้ไม่ยากว่า เพราะเหตุใดตอนนี้ทรัมป์จึงชอบเปรียบเทียบโควิด 19 กับสมรภูมิเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ที่ญี่ปุ่นถล่มสหรัฐฯ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งกับสงครามเวียดนาม โดยทรัมป์บอกว่าตอนนี้ตัวเลขยอดผู้เสียชีวิตในสหรัฐ สูงกว่ายอดคนตายในสงครามใหญ่ทั้งสองเสียแล้ว นี่ยังเป็นเหตุให้ทรัมป์ปั่นเรื่องราวว่าไวรัสเป็นภัยที่มาจากจีน และเรียกร้องให้จีนต้องรับผิดชอบ รวมทั้งกลับมาจุดไฟสงครามการค้ากับสงครามเทคโนโลยีกับจีนให้ลุกโชนอีกครั้งด้วย
ทรัมป์ต้องการสร้างภาพเป็นประธานาธิบดีกลางศึกสงคราม จุดกระแสชาตินิยม ซึ่งเป็นกระแสหลักของฐานเสียงของทรัมป์อยู่แล้วด้วย
กฎทองอีกข้อหนึ่งของการเมืองสหรัฐ ก็คือ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐนั้น ใครก็ตามที่ครองพื้นที่สื่อมาก คนนั้นมักจะชนะ การครองพื้นที่สื่อนี่ไม่จำเป็นต้องออกเป็นข่าวดีเสมอไปนะครับ จะข่าวดีข่าวฉาวได้หมด ขอเพียงผู้คนเห็นหน้าผู้สมัครคนนั้นในทีวีบ่อยๆ ในวงการสื่อสหรัฐ จึงมีวลีเด็ดว่า “All news is good news.”
นี่จึงเป็นสาเหตุที่โดยทั่วไปแล้ว ประธานาธิบดีสมัยแรกจึงมักได้เปรียบคู่แข่ง เพราะโดยธรรมชาติจะครองพื้นที่สื่อมากกว่าคู่แข่ง แถมเวลาพูดแถลงข่าวที สื่อทุกช่องต้องถ่ายทอด พร้อมกับถ่ายทอดจากโพเดียมที่ติดตราตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย ทรงพลังมากในทางการสื่อสารภาพลักษณ์ผู้นำต่อประชาชน
ช่วงวิกฤติโควิด 19 ทรัมป์ครองพื้นที่สื่อเหนือกว่าไบเดนหลายเท่าตัวนะครับ เพราะทรัมป์แถลงข่าวทุกวัน และจะพูดดีพูดแย่อย่างไร ก็เป็นการพูดสไตล์ลูกทุ่งแบบพี่ทรัมป์ซึ่งคนคุ้นชิน ถ้าใครเปิดช่องข่าวสหรัฐ เช้าสายบ่ายเย็นก็จะเห็นแต่หน้าพี่ทรัมป์ ส่วนไบเดนนั้น แม้กระทั่งจะออกหาเสียงก็ไม่ได้ เพราะสถานการณ์โควิด จึงจำเป็นต้องหาเสียงออนไลน์ ถ่ายทอดผ่านทวิตเตอร์และเว็บไซต์ ไม่มีเสียงเชียร์ ไม่มีภาพคนฟังหนาแน่น ไม่ได้ภาพผู้นำ ได้แต่ภาพคุณลุงแก่ๆ ดูเหนื่อยๆ ถ่ายทอดออนไลน์มาจากบ้าน
ที่น่าสนใจที่สุด คือ กฎทองข้อสุดท้ายที่คนภายนอกไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับการเมืองสหรัฐ นั่นก็คือ ศึกการเมืองระหว่างสองพรรคใหญ่นั้น ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะกำหนดชัยชนะคือ จำนวนคนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง หากจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิสูง ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตมักจะชนะ หากจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิต่ำ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันเช่นทรัมป์มักจะชนะ
นี่เป็นเหตุผลที่ในการเมืองสหรัฐฯมีกลเกมมากมายในการกดจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ เพราะถ้าคนออกมาใช้สิทธิน้อย คนที่ไม่ออกมาส่วนใหญ่มักเป็นอเมริกันผิวดำและคนยากจน ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครต ดังนั้นผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันมักได้ประโยชน์
โควิด 19 ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ และกำลังจะทำให้เกิดวิกฤติการเมืองด้วย เพราะตอนนี้เหลืออีกเพียง 6 เดือนก่อนเลือกตั้ง ตามปกติแล้วจะต้องเป็นช่วงหาเสียงที่กำลังคึกคัก แต่นี่กิจกรรมหาเสียงปกติก็ทำไม่ได้ ขณะที่หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่า พอถึงวันเลือกตั้งจะจัดการเลือกตั้งกันอย่างไร และจะมีคนออกไปใช้สิทธิไหม
คนออกไปใช้สิทธิน่าจะน้อยเป็นประวัติการณ์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อทรัมป์ แถมคนเหล่านี้ยังน่าจะเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นว่าโควิด 19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรงและไม่เห็นด้วยกับการปิดเมือง ซึ่งก็คือฐานเสียงของทรัมป์ดีๆ นี่เอง
ถึงต้องบอกว่าอย่าประมาททรัมป์เป็นอันขาด แม้จะบริหารล้มเหลว เศรษฐกิจพัง โลกปั่นป่วน แต่กฎทองหลายข้อของการเมืองสหรัฐก็ยังเข้าทางทรัมป์อยู่ครับ