‘สวนสัตว์-ปางช้าง’ร้องแบงก์ เร่งปล่อยกู้ฟื้นธุรกิจสู้โควิด
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้แทนจาก“สมาคมเพื่อสวนสัตว์ไทย” และ“สมาคมสหพันธ์ช้างไทย” หนึ่งใน13สาขาวิชาชีพซึ่งเป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ได้เข้าร่วมประชุมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เรื่องมาตรการการเงินและการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว
ในฐานะผู้ส่วนสร้างรายได้ให้กับภาคท่องเที่ยวไทยกว่า 3 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2562 ก่อนวิกฤติโควิด-19 จะลามหนักตั้งแต่ต้นปี 2563 จนธุรกิจอาการสาหัสมานานถึง 4 เดือน
ผิน คิ้วคชา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซาฟารีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าได้สะท้อนปัญหาของสมาคมเพื่อสวนสัตว์ไทยซึ่งมีสมาชิกรวม47รายในที่ประชุมฯว่า ปัจจุบันยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องเงินกู้แม้แต่รายเดียว ทั้งที่เป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19อย่างมาก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายดูแลสัตว์ เช่น ค่าอาหาร ซึ่งไม่สามารถหยุดจ่ายได้แตกต่างจากกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ยังสามารถลดต้นทุนบางส่วนด้วยการปิดกิจการชั่วคราวได้
“ผมประกอบอาชีพเรื่องท่องเที่ยวมากว่า35ปี ก่อตั้งซาฟารีเวิลด์ด้วยมูลค่างบลงทุน3,500ล้านบาท ส่วนธีมปาร์คอีก2แห่งอย่าง ภูเก็ตแฟนตาซี มีมูลค่างบลงทุนประมาณ3,000ล้านบาท ขณะที่ธีมปาร์คโครงการใหม่ คาร์นิวัลเมจิก เมืองไฟสไตล์ไทยที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือน ต.ค.2562ที่ผ่านมา ด้วยมูลค่างบลงทุนราว6,000ล้านบาท ตั้งอยู่ตรงหาดกมลาบนพื้นที่100ไร่ติดกับภูเก็ตแฟนตาซี เดิมมีกำหนดเริ่มเปิดให้บริการในเดือน พ.ค.นี้ แต่จำเป็นต้องหยุดก่อสร้าง เลื่อนกำหนดเปิดออกไปก่อน เพราะเจอวิกฤติโควิด-19ฉุดบรรยากาศท่องเที่ยว ผิดไปจากแผนเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าถ้าสร้างคาร์นิวัลเมจิกเสร็จทันในสถานการณ์ปกติ จะเป็นอีกแม่เหล็กช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวมาภูเก็ตถึง2-3ล้านคนต่อปี”
ผิน เล่าเพิ่มเติมว่า ใช่ว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะมีปัญหาเรื่องยื่นกู้เงินจากธนาคารมาเสริมสภาพคล่อง ผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างตนซึ่งมีพนักงานในเครือรวมกว่า3,000คนก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน จึงมองว่าทุกภาคส่วนรวมถึงภาคธนาคารต้องช่วยกัน เรื่องไหนพอจะผ่อนปรนได้ก็ต้องทำ เพื่อให้ภาคธุรกิจยังคงอยู่ และคงการจ้างงาน สร้างรายได้แก่คนทั่วไป
“ผมนั่งนับจำนวนวิกฤติที่ตัวเองฝ่ามา พบว่ามีจำนวนมากถึง 31 ครั้งนับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 อย่างเมื่อตอนเกิดเหตุการณ์สึนามิปี 2547 ตอนนั้นรัฐบาลช่วยเหลือทุกราย ทำให้สุดท้ายไม่มีหนี้เสียแต่พอถึงวิกฤติโควิด-19 เวลาผ่านไปมากกว่า 3 เดือนแล้ว ความช่วยเหลือทางการเงินกลับยังเหมือนเดิม ยังอยู่ที่เดิม ทั้งที่เวลาเป็นเรื่องสำคัญมากๆ จึงอยากให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ก่อนที่ธุรกิจจะล้มลง ควบคู่ไปกับการกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทย เพราะทุกวันนี้อย่าเพิ่งไปหวังเรื่องต่างชาติกลับมาเที่ยวไทยเร็วๆ นี้เลย ไทยต้องช่วยไทยก่อน เพื่อให้เงินหมุนในระบบโดยเร็วที่สุด” ผินกล่าว
ด้านธีรภัทร ตรังปราการ เจ้าของปางช้างภัทรฟาร์ม จ.เชียงใหม่ กล่าวในฐานะนายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย ว่าปัจจุบันมีช้างทั่วประเทศไทยจำนวนกว่า 3,300 เชือกที่รอความช่วยเหลือ โดยต้องการงบฯสำหรับประคับประคองความเป็นอยู่เดือนละ 100 ล้านบาท จากค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเชือกอยู่ที่วันละ 1,000 บาท
นอกจากนี้สมาคมฯยังได้วิเคราะห์ว่า จากจำนวนที่นั่งบนเที่ยวบินระหว่างประเทศมาไทย มีนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสประสบการณ์ดูช้าง 5%เพราะฉะนั้นก็พอจะตอบคำถามได้ว่า ถ้าหากรักษาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับช้างรวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวอื่นๆ ไว้ได้ ก็จะมีส่วนเติมเต็มอัตราการขนส่งผู้โดยสารของสายการบิน จึงต้องการให้เปิดโอกาสให้กู้เงินเพื่อนำเงินมาประคับประคองธุรกิจดูแลความเป็นอยู่ของช้างในช่วงโรคโควิด-19 ยังระบาดทั่วโลก
“ธุรกิจเราไม่มีทรัพย์สินอะไรนอกจากช้าง การซื้อขายช้างล่าสุดในช่วงที่ธุรกิจยังดีๆ พบว่าอยู่ที่ตัวละ 3 ล้านบาท โดยมีตั๋วรูปพรรณช้างเป็นหลักประกันว่าจะสามารถนำเงินมาจ่ายคืนได้ในภาวะธุรกิจปกติ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้วคงไม่มีเจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับช้างรายใดปล่อยให้มีการยึดตั๋วรูปพรรณช้างไป เพราะช้างเปรียบเสมือนหนึ่งในสมาชิกครอบครัวที่ผูกพันกันมา”
และจากการหารือในที่ประชุมฯเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากช้างเป็นหลักประกันที่มีชีวิต แม้กฎหมายจะกำหนดให้ธนาคารสามารถรับเป็นหลักประกันได้ แต่พอเอาเข้าจริงๆ แล้วธนาคารอาจจะต้องใช้เวลาศึกษาหลักประกันที่มีชีวิตแบบนี้เพิ่มเติมเพราะยังไม่คุ้นเคย โดยในการประชุมย่อยของแต่ละสาขาอาชีพท่องเที่ยวรวม 13 สาขาในวันนี้ (25 พ.ค.) ที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ สมาคมฯเตรียมเสนอหลักเกณฑ์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ที่ต้องการให้ผ่อนผัน เพื่อภาคธนาคารและการคลังจะได้นำไปพิจารณาอย่างเร่งด่วนทันความต้องการของผู้ประกอบการ