รีสตาร์ท ‘การบินไทย’ การเมืองต้องก้าวออกมา
การรีสตาร์ท “การบินไทย” หลังผ่านกระบวนการฟื้นฟูกิจการก็มีเรื่องวุ่นๆ ให้เห็น โดยเฉพาะศึก 2 กระทรวง ที่แย่งชิงการเป็นผู้นำในการตั้งผู้บริหารแผน แต่ทั้งนี้การเมืองจะต้องก้าวออกมา เพื่อให้มืออาชีพเข้ามาฟื้นฟู
ยังนึกภาพไม่ออกว่า “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติ ในรูปโฉมใหม่หลังผ่านกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ตามกฎหมายล้มละลาย จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ขีดแข่งขันและความสามารถในการสร้างผลกำไรจะดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน เพียงแต่มีข้อสังเกตว่า “การบินไทย” ยังไม่ทันบินเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ก็มีเรื่องวุ่นๆ ให้เห็น โดยเฉพาะศึก “2 กระทรวง” ที่แย่งชิงการเป็น “ผู้นำ” ในการ “ตั้งผู้บริหารแผน” เพื่อมาฟื้นฟูการบินไทย เห็นแบบนี้แล้วต้องบอกว่าไม่สบายใจ และเริ่มไม่มั่นใจว่าการบินไทยจะบินรอดตลอดเส้นทางการฟื้นฟูหรือไม่
อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในเวลานี้ เพราะสถานะของการบินไทยในปัจจุบัน ไม่ต่างจาก “ซอมบี้ คอมพานี” หรือบริษัทที่ไม่มีความสามารถในการทำกำไร แต่อยู่ได้ด้วยเงินสนับสนุนจากภาครัฐ โดยที่ผ่านมาการบินไทยประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง มีหนี้สินสูงเท่าฟ้า เป็นปัญหาที่สะสมอยู่ท้ายเครื่องมายาวนาน โดยแผนการฟื้นฟูการบินไทยที่ “ภาครัฐ” วางไว้ จะเดินตามโมเดลการฟื้นฟูกิจการของสายการบินดังใน “สหรัฐ” และ “ญี่ปุ่น” นั่นก็คือ “อเมริกัน แอร์ไลน์” และ “เจแปน แอร์ไลน์”
สำหรับ “อเมริกัน แอร์ไลน์” สายการบิน “เบอร์หนึ่ง” ของโลก ในอดีตก็เคยเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพราะขาดทุนต่อเนื่องจนบินต่อไม่ไหว โดย อเมริกัน แอร์ไลน์ เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการเมื่อปี 2554 และใช้เวลาปรับปรุงตัวเองเพียงแค่ 2 ปี ก็ออกจากแผนฟื้นฟู บินต่อได้อย่างสง่างาม ซึ่งระหว่างการฟื้นฟูกิจการ อเมริกัน แอร์ไลน์ ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ด้วยการโละเครื่องบินเก่า ลดจำนวนพนักงาน เลิกเส้นทางบินที่ไม่ทำกำไร และควบรวมกิจการกับ “ยูเอส แอร์เวย์” จนกลายเป็นสายการบินที่มีผู้ใช้บริการมากสุดในโลก และกลับมาสร้างกำไรได้อีกครั้ง
ส่วน “เจแปน แอร์ไลน์” สายการบินแห่งชาติของญี่ปุ่น เมื่อ 10 กว่าปีก่อน สภาพไม่ต่างจากการบินไทยในเวลานี้ ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ต้องพึ่งพาเงินสนับสนุนจากภาครัฐต่อเนื่อง สุดท้ายต้องเข้าฟื้นฟูกิจการในปี 2553 แต่ใช้เวลาแค่ปีเศษก็ออกจากแผนฟื้นฟูในแบบที่เปลี่ยนไปเป็นคนละคน ซึ่งการฟื้นฟูของ “เจแปน แอร์ไลน์” เน้นปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยหันมาใช้เครื่องบินที่มีขนาดเล็กลงเพื่อประหยัดต้นทุน เลิกเส้นทางบินที่ไม่ทำกำไร แต่ที่สำคัญสุด คือ การปรับ “ทัศนคติ” ของพนักงานให้มีใจทำงานอย่างฮึกเหิม และมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน จนทำให้ “เจแปน แอร์ไลน์” บินได้อย่างแข็งแกร่ง และมีกำไรในทุกปี
กลับมาที่ “การบินไทย” แค่เริ่มต้นก็ดูงงๆ ยังตกลงกันไม่ได้ว่าใครจะเป็นคนคัดเลือกผู้บริหารแผนฟื้นฟู ล่าสุดมีข่าวว่าจะตั้ง “ซูเปอร์บอร์ด” ขึ้นมาเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง พร้อมทำหน้าที่เสนอรายชื่อผู้จัดทำแผนฟื้นฟูการบินไทย โดยซูเปอร์บอร์ดที่ว่านี้จะมีทั้งหมด 8 คน เป็นคนของคมนาคม 4 คนและคลังอีก 4 คน เราหวังว่า “ซูเปอร์บอร์ด” จะคัดบุคคลที่เหมาะสม เป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง มาทำแผนฟื้นฟูการบินไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าระหว่างนี้ “การเมือง” จะก้าวออกมา เพื่อให้ “มืออาชีพ” เข้ามา “รีสตาร์ท” พาการบินไทยเหินฟ้าอย่างสง่างามอีกครั้ง