มาตรการภาษีช่วยบุคคล-ผู้ประกอบการ ลดผลกระทบโควิด กว่าแสนล้านบาท
"สรรพากร" ช่วยบุคคล-ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ผ่านมาตรการภาษีต่างๆ มูลค่ากว่าแสนล้านบาท
ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลการดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 กระทรวงการคลัง
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังโดย ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงผลการดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 กระทรวงการคลัง โดยมีกรมสรรพากร และส่วนราชการต่างๆ เข้าร่วมแถลงข่าว
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสรรพากรผลักดันมาตรการภาษีและการเร่งคืนภาษีกว่าแสนล้านบาท เยียวยาผลกระทบจาก COVID-19 ต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งอยู่บนหลักปฏิบัติ 4 ประการ ได้แก่ “เลื่อน เร่ง ลด และแรงจูงใจ” สามารถสรุปได้ดังนี้
1. “เลื่อน” กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรได้ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ การนำส่ง และการชำระภาษีอากร เพื่อให้เงินหรือสภาพคล่องอยู่ในมือประชาชนและผู้ประกอบการให้ยาวนานขึ้น ในระหว่างที่ภาครัฐให้ความช่วยเหลือและเยียวยา เช่น ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90, 91, 93 และ 95) จากวันที่ 31 มีนาคม 2563 เป็นวันที่ 31 สิงหาคม 2563
นอกจากนี้ ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50 และ 55) ที่ต้องชำระภายในเดือนเมษายน - สิงหาคม 2563 เป็นวันที่ 31 สิงหาคม 2563 รวมทั้งขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 51) ที่ต้องชำระภายในเดือนเมษายน - กันยายน 2563 เป็นวันที่ 30 กันยายน 2563
กรมสรรพากรได้ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการฯ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ต้องชำระภายในวันที่ 15 หรือ 23 ของเดือนพฤษภาคม - กันยายน 2563 ขยายออกไปเป็นภายในสิ้นเดือนนั้นๆ เพื่อลดความเสี่ยง และมีความคล่องตัวในการทำงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้ทุกคนอยู่บ้านภายใต้แนวคิด “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ของรัฐบาลอีกทางหนึ่งด้วย
2. “เร่ง” กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรผลักดันมาตรการเร่งคืนภาษีประชาชน และผู้ประกอบการให้เร็วที่สุด เพื่อเพิ่มเงินหรือสภาพคล่องให้อยู่ในมือประชาชนและผู้ประกอบการอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมสรรพากรได้เร่งคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแล้วกว่าร้อยละ 95 จากผู้ขอคืนทั้งหมดประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นภาษีที่คืนประมาณ 2๘,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ในช่วง 7 เดือนแรก ของปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562 – เมษายน 2563) กรมสรรพากรเร่งคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลกว่า 27,185 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.7 จากปีก่อน
3. “ลด” กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรได้ผลักดันมาตรการคืนสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ โดยการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่มีอัตราร้อยละ 3 ให้เหลือในอัตราร้อยละ 1.5 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 กันยายน 2563 เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และเพื่อช่วยสนับสนุนการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (e – Payment) โดยเฉพาะระบบ e – Withholding Tax กรมสรรพากรได้ผลักดันนโยบายลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่มีอัตราร้อยละ 3 ให้เหลือในอัตราร้อยละ 2 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 31 ธันวาคม 2564 ที่จ่ายผ่านระบบ e – Withholding Tax
นอกจากนี้ กรมสรรพากรได้ผลักดันมาตรการภาษีเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน ตามมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) สามารถหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า สำหรับรายจ่ายดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 31 ธันวาคม 2563 ตามมาตรการข้างต้น
4. “แรงจูงใจ” กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรได้ผลักดันมาตรการภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชน ผู้ประกอบการ และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้แก่
• แรงจูงใจให้ผู้ประกอบการคงการจ้างงานในช่วงสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน สามารถหักรายจ่ายได้ 3 เท่า สำหรับรายจ่ายค่าจ้างในช่วงเดือนเมษายน – กรกฎาคม 2563
• แรงจูงใจให้เจ้าหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้เนื่องจากผลกระทบของ COVID-19 โดยการยกเว้นภาษีที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้
• แรงจูงใจให้มีการนำเข้า ยา เวชภัณฑ์ ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษา COVID-19 มาเพื่อบริจาคให้แก่สถานพยาบาล หน่วยงานของรัฐ ฯลฯ โดยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้นำเข้า
• แรงจูงใจให้ประชาชนดูแลสุขภาพ โดยการเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามที่จ่ายจริงเพิ่มขึ้นจากไม่เกิน 15,000 บาท เป็นไม่เกิน 25,000 บาท แต่เมื่อรวมกับค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
• แรงจูงใจสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนที่ได้รับจากกระทรวงสาธารณสุข
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวสรุปว่า มาตรการข้างต้นเป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจาก COVID-19 สำหรับในระยะต่อไปกรมสรรพากร จะเร่งนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นทั้งในช่วงเวลาที่ทุกคนอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติไปจนถึงเมื่อสถานการณ์เป็นปกติแล้วเพื่อให้เกิด Digital Transformation ในทุกภาคส่วน โดยจัดทำระบบ Tax From Home ให้การยื่นแบบ แสดงรายการภาษี การชำระภาษี การคืนภาษี และการจดทะเบียนต่างๆ เป็นอิเล็กทรอนิกส์โดยสมบูรณ์ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนของผู้เสียภาษี และยังทำให้การดำเนินการทางภาษีเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น นอกจากนี้ กรมสรรพากรมุ่งเน้นการออกนโยบายภาษีที่ตรงกลุ่ม ให้บริการที่ตรงใจ และสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และเราจะผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน “เราไม่ทิ้งกัน”