สุขอนามัย 'ปศุสัตว์' จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร

สุขอนามัย 'ปศุสัตว์' จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร

“นิวนอร์มอล”ว่าด้วยการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ ยังไม่เพียงพอสำหรับการป้องกันโรคโควิด-19 รวมถึงโรคระบาดอื่นๆที่มีอยู่แล้วและอาจเกิดขึ้นใหม่อีก เพราะเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายทางการกิน

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ดังนั้น ตั้งแต่ฟาร์มสู่โต๊ะอาหารต้องแน่ว่ากระบวนการสะอาดปราศจากโรค ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาฯมีคำแนะนำที่น่าสนใจ ยังไม่มีหลักฐานว่าโรคโควิด-19สามารถติดต่อได้ในสัตว์ และไม่ใช่แหล่งนำโรครวมถึงไม่มีหลักฐานว่าโรคจากสัตว์เหล่านี้จะแพร่กระจายมาสู่คนได้

ทั้งนี้ ปกติการทานอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ จะเป็นอาหารที่ปรุงสุกแล้ว ดังนั้น ถ้าทำถูกวิธีจะปลอดจากเชื้อก่อโรคโควิด19 แน่นอน เพราะสัตว์ ทั้งหมดไม่มีหลักฐานว่าจะมีไวรัสตัวนี้อยู่ และจากการศึกษาชัดเจนว่า ไวรัสตัวนี้ไม่ติดใน หมู ไก่ เป็ด หรือในปศุสัตว์ ดังนั้นประชาชนสบายใจได้ในการบริโภคเนื้อสัตว์เหล่านี้ 

สิ่งที่ต้องคำนึงอย่างเดียวคือเรื่องความสะอาด เพราะเรารู้ว่าเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 นี้แพร่กระจายผ่านทางเดินหายใจ เมื่อไอ จาม และแพร่กระจายทางอุจจาระได้ เพราะฉะนั้นในอุตสาหกรรมอาหาร บุคลากรที่เกี่ยวข้องต้องเน้นเรื่องความสะอาด การล้างมือเมื่อออกจากห้องน้ำหรือแม้จะไปปฏิบัติภารกิจอื่นๆ ต้องหมั่นทำความสะอาดล้างมือ โอกาสที่เชื้อนี้จะไปปนเปื้อนอาหารก็ไม่มี แม้มีติดมานิดหน่อยถ้าเราทานอาหารสุกก็ปลอดภัย

159057770063

โดยมาตรการอันแรกที่เกี่ยวข้องกับ กลุ่มการเตรียมอาหาร จะต้องดูแลตัวเอง กรณีเจ็บป่วยมีไข้ก็ไม่ควรปฏิบัติภารกิจหรืออยู่ในไลน์การผลิตอาหาร ซึ่งโดยหลักการทั่วไปต้องควบคุมอนามัยส่วนบุคคล ความสะอาด การล้างมือ การใส่หน้ากากอนามัยปัองกัน ฝอยละออง จากการไอ จาม ตกลงไปในอาหาร

ในกรณีมีผู้ป่วยติดเชื้อในสถานประกอบการ ต้องหาผู้สัมผัสโรคและถูกกักตัวอย่างน้อย 14 วัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคไปสู่ผู้อื่น ขณะที่สายการผลิตบริเวณที่พบ

ผู้ติดเชื้อปฏิบัติงาน ต้องปิดอย่างน้อย 1 วัน เพื่อทำความสะอาด โดยสามารถใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่รู้จักกันดีเพราะไวรัสตัวนี้มีเปลือกหุ้ม เช่น น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีสารประกอบคลอรีนหรือแอลกอฮอลล์ ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“สิ่งที่กลัวที่สุดคือการระบาดของโรคโควิด 19 ในโรงงานเพราะเป็นสถานที่รวมของคนจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนเตรียมการที่ดี"

ยกอย่างเช่น เน้นการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล การเข้า-ออกกะ ต้องพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสและการรวมพลของคนหมู่มาก เพราะเรารู้ว่าในคนหมู่มากถ้าเกิดโรคกับคนใดคนหนึ่ง คนที่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อทุกคนจะต้องถูกกักตัวเป็นกลุ่มใหญ่จนไม่เหลือคนทำงาน

ในสายการผลิตควรเตรียมแผนปฏิบัติการไว้ล่วงหน้ากรณีเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 ผู้ปฏิบัติงานในแต่ละกะการทำงาน ควรแบ่งแยกกันอย่างชัดเจน เพราะหากพบผู้ป่วยติดเชื้อในทีมหนึ่งอาจต้องกักตัวผู้สัมผัสใกล้ชิดทุกคนในทีม 

หลังปิดไลน์การผลิต ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อแล้วต้องมีทีมงานกลุ่มใหม่เข้าไปทำงานแทนทันที เพราะไม่สามารถปิดโรงงานได้ 14 วัน การเตรียมการต่างๆ ถือว่ามีความจำเป็นมาก ต้องมีการวางแผนและซ้อมแผนเป็นอย่างดี หากไม่วางแผนทีดีเมื่อเกิดปัญหาขึ้นจะเป็นอุปสรรคอย่างมากหากไม่สามารถดำเนินการผลิตต่อไปได้

159057794412

กรณีที่คนงานป่วยโควิด 19 และสัมผัสวัตถุดิบอาหารและบรรจุภัณฑ์ สิ่งที่เรากลัวคือฝอย ละอองจากผู้ป่วย ที่จะไปปนเปื้อนกับอาหาร และถ้ามีการบริโภคอาหารแบบไม่สุกก็สามารถติดโรคได้ แต่ถ้าอาหารนั้นปรุงสุกก็สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ อุณหภูมิที่สามารถฆ่าเชื้อก่อโรคโควิด 19ได้ คือ 56 องศาเซลเซียล ในเวลา 30 นาที ถ้าเป็นอุณหภูมิ 65 

องศาเซลเซียล สามารถฆ่าได้ในเวลา 15 นาที อุณหภูมิยิ่งสูงขึ้นก็ใช้เวลาน้อยลง ถ้า 100 องศาเซลเซียลฆ่าได้ทันที

ส่วนกรณีโรงแปรรูปเนื้อสัตว์พบการติดเชื้อ ต้องหาผู้สัมผัสใกล้ชิดเพื่อแยกและกักตัว และต้องทำความสะอาดในพื้นที่บุคลากรผู้นั้นทำงานอยู่และปิดพื้นที่เป็นบางส่วนเพื่อทำความสะอาด แต่ไม่ได้ปิดทั้งโรงงาน

ทั้งนี้จากการทำวิจัยมากว่า 10 ปีในไทย พบว่าโรคในระบบทางเดินหายใจทั่วไปมักจะระบาดได้ง่ายช่วงฤดูฝนมากกว่าฤดูร้อน ดังนั้นในฤดูฝนระหว่างเดือนก.ค.- ส.ค. ประเทศไทยต้องเตรียมตั้งรับแบบเข้มแข็งกว่าปกติ เพราะหากพบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ การวินิจฉัยโรคจะค่อนข้างยุ่งยากกว่าปกติ จำเป็นต้องตรวจโรคให้มากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 หรือติดเชื้อไข้หวัดธรรมดา 

สถานการณ์ที่กำลังคลี่คลายอาจเป็นสัญญาณที่ดี  แต่ท่ามกลางข่าวดีหากไม่รู้เท่าทันโรคข่าวดีอาจกลายเป็นสัญญาณร้าย การเฝ้าระวังตัวเองอย่างเคร่งครัดจึงยังเป็นสิ่งจำเป็น