'Super New Normal' 10 วิถีโลกยุคหลัง Covid-19
พร้อมหรือยังกับ 10 วิถีโลกที่จะเกิดขึ้นในยุค Super New Normal หรือโลกใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากหลังวิกฤติ Covid ผ่านพ้นไป
ในบทความฉบับก่อนหน้าว่า ผู้เขียนมองว่าโลกหลังการปิดเมือง (The great lockdown) เพื่อสกัดกั้นการระบาดของโรค Covid-19 นั้น จะเป็นโลกแบบ “Near” Normal คือโลกเกือบปกติ แต่ไม่ปกติ ซึ่งจะกลับมาปกติได้ก็ต่อเมื่อสามารถคิดค้นวัคซีนหรือยารักษา
คำถามคือ โลกที่ “ปกติ” หลังวิกฤติ Covid-19 นั้นจะเป็นเช่นไร ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า โลกใหม่นี้จะเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก หรือ "Super" New Normal ดังนี้
1."หนี้ท่วม" จากหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ผลจากการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า หนี้สาธารณะของทุกประเทศทั่วโลกจะขึ้นมาอยู่ที่ 96% ของ GDP โลก จาก 83% ในปีที่แล้ว ขณะที่ผู้เขียนเชื่อว่า ใน 2-3 ปีข้างหน้า หนี้สาธารณะทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 120%
2."Supply chain สั้นลง" ในยุคโลกาภิวัฒน์ ภาคการผลิตโดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติต่างๆ ต่างเน้นการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและต้นทุนต่ำสุด ทำให้เกิด Supply chain ที่ลากยาวในหลายประเทศ และส่วนใหญ่จะพึ่งพา Supplier จากจีน
แต่ในโลกหลังยุค Covid บริษัทจะกระจาย Supply chain ให้หลากหลายขึ้นในหลายประเทศ หรือหันมาผลิตในประเทศ รวมถึงลดการพึ่งพิงจีนที่เป็นทั้งเป้าหมายของสงครามการค้าและต้นทางของ Covid รวมถึงเลือกที่จะลดความยาวของ Supply chain ให้สั้นลง หรือพูดอย่างง่ายว่าภาคธุรกิจจะเปลี่ยนกลยุทธ์การผลิตจาก Just-in-time มาเป็น Just-in-case
3."คนกลัวเสี่ยง" (Consumer risk-aversion) จากวิกฤติครั้งนี้จะทำให้ผู้คนไม่แน่ใจในอนาคตมากขึ้น จึงจะลดการบริโภคลง โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย รวมถึงธุรกิจที่เป็น “ประสบการณ์นิยม” (Experiencerism) ที่เกี่ยวข้องกับการบริการทั้งหลาย เช่น การท่องเที่ยวเดินทาง การบริโภคนอกบ้าน เป็นต้น แต่จะหันกลับมาบริโภคสินค้าเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ 5G เพราะจะเป็นฐานในการติดต่อสื่อสาร การผลิต รวมถึงการใช้ชีวิตในอนาคต
4."Zombie company" บริษัทขนาดใหญ่ที่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐจะอยู่ยาว แม้ว่าอาจจะไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจก็ตาม (หรือที่เรียกว่า Zombie Company) โดยในช่วงที่วิกฤติ Covid รุนแรงขึ้น ภาครัฐได้เข้าช่วยเหลือภาคเอกชนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิด Zombie companies หรือบริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ได้มีความสามารถในการแข่งขันมากนัก หรืออยู่ในธุรกิจที่อิ่มตัวและกำลังจะตกต่ำ (Sunset industry) แต่ยังคงอยู่ได้ด้วยสายสัมพันธ์กับทางการ ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ที่มีเงินสดก็จะเข้าควบรวมกับบริษัทที่อ่อนแอกว่า และจะเห็นการควบรวมกิจการในระดับมหาศาลอย่างไม่เคยมีมาก่อน
5."ยิ่งโตต่ำ" เศรษฐกิจโลกหลังวิกฤติ Covid จะยิ่งโตต่ำมากขึ้น ทั้งจาก (1) หนี้ที่จะยิ่งมากขึ้น โดยเฉพาะหนี้ภาครัฐ ซึ่งจะทำให้ภาครัฐต้องกันรายได้ไปจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น (2) จากภาคเอกชนที่หันมาเน้นความต่อเนื่องในการผลิตมากขึ้น แทนที่จะเป็นความมีประสิทธิภาพในการผลิตเช่นแต่ก่อน (Just-in-time to Just-in-case) และ (3) จากผู้คนที่ประหยัดมากขึ้น ทำให้การใช้จ่ายในระยะถัดไปลดลง ทำให้ภาคเอกชนลงทุนลดลง ก็ทำให้นวัตกรรมใหม่เกิดได้ยากขึ้น และทำให้ประสิทธิภาพการผลิตหรือ Productivity ของทั้งเศรษฐกิจลดลงด้วย
6."ยิ่งค้าน้อย" การค้าโลกในช่วงหลัง Covid จะยิ่งแย่กว่าหลังแฮมเบอร์เกอร์ โดยในช่วงหลัง Covid มูลค่าการค้าโลกในระยะต่อไปยิ่งน้อยลง ผลทั้งจากกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ (Anti-Globalization) ที่นำมาสู่มาตรการปกป้องทางการค้า (Trade Protectionism) การขึ้นภาษีนำเข้าให้สูงขึ้นและนโยบายที่ดึงให้ภาคเอกชนกลับประเทศ รวมถึงความเต็มใจของภาคเอกชน โดยเฉพาะในสหรัฐที่หันมาเลือก Supplier ในประเทศมากขึ้น
7."โภคภัณฑ์ยิ่งถูก" ราคาโภคภัณฑ์ทั่วโลกจะลดลง เห็นได้ชัดว่าในช่วงหลังวิกฤติ Covid ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันยิ่งตกต่ำรุนแรงขึ้น จากความต้องการน้ำมันที่หดตัวลงแรงหลังจากการปิดเศรษฐกิจ (Lockdown)
ทั้งนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าในระยะยาว กระแส Super new normal ที่ผู้คนต้องการการปฏิสัมพันธ์น้อยลง ก็จะกดดันให้ความต้องการเดินทาง รวมถึงความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ไม่กลับมาเหมือนเดิม ซึ่งจะยิ่งกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์
8."ผลตอบแทนการลงทุนยิ่งต่ำลงและผันผวน" ในช่วงก่อนวิกฤติ Covid จะสังเกตเห็นได้ว่าผลตอบแทนการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน รวมถึงในกองทุนต่ำลงและผันผวนมากขึ้น จากดอกเบี้ยโลกที่ต่ำตามทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และการอัดฉีดสภาพคล่องที่ยิ่งกด Risk Premium ให้ต่ำลง ในขณะที่หลังจากวิกฤติ Covid ธนาคารกลางต่างๆ ลดดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์ และใช้มาตรการ QE อัดฉีดมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้ผลตอบแทนการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงยิ่งตกต่ำลง
9.“IT คือผู้ชนะ—Experience คือผู้แพ้” หลังวิกฤตครั้งนี้ สิ่งที่จะได้เห็นชัดเจนคือ การเปลี่ยนภูมิทัศน์ธุรกิจโลกอย่างชัดเจน โดยหากแบ่งธุรกิจเป็น 4 กลุ่มที่จะเป็นผู้ชนะ-ผู้แพ้จากวิกฤติครั้งนี้ จะสามารถจัดลำดับดังนี้ (1) เทคโนโลยีและ e-commerce (2) สินค้าจำเป็น (3) ทรัพยากรธรรมชาติ (โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และ (4) บริการ
สาเหตุเนื่องจาก (1) วิกฤติครั้งนี้ ทำให้ผู้คนหันมาเน้นทำงาน จับจ่าย และสันทนาการ Online อย่างชัดเจน ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะไม่ถอยหลัง (2) ในส่วนการจับจ่ายสินค้าจำเป็น สามารถทำ Online ได้ เพื่อลดการปฏิสัมพันธ์ ทำให้ (3) ความต้องการเดินทาง รวมถึงความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ไม่กลับมาเหมือนเดิม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จะเป็นบวกต่อกลุ่มเทคโนโลยีและเป็นลบต่อกลุ่มบริการ
10.“กฎระเบียบภาครัฐจะเพิ่มขึ้น” ในช่วงวิกฤติ Covid ภาคเอกชนที่มีปัญหาการเงิน ได้แก่ บริษัททั้งขนาดใหญ่และเล็กที่ลงทุนและประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ได้รับการสนับสนุนสภาพคล่องจากภาครัฐและธนาคารกลางต่างๆ ซึ่งเป็นการต่อชีวิต (lifeline) ให้กับบริษัทเหล่านั้น
ในอนาคตบริษัทเหล่านี้ต้องแลกกับการดำเนินธุรกิจอย่างสุขุม ระมัดระวังในระยะต่อไป ผู้เขียนจึงเชื่อว่า ในระยะต่อไป ภาคเอกชนโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดฯ รวมทั้งที่ Credit rating อยู่ในระดับ Investment grade จะถูกตรวจสอบ กำกับเข้มข้นขึ้น ซึ่งการกำกับที่มากขึ้นนั้น จะเป็นการกดดันประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนเหล่านั้น รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวมในระยะต่อไป
เหล่านี้คือ 10 วิถีโลกที่จะเกิดขึ้นในยุค Super New Normal หลังวิกฤติ Covid ผ่านพ้นไป ท่านผู้อ่านเตรียมพร้อมแล้วหรือยัง
[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]