'ฮ่องกง' แหล่งรายได้ 'อูเบอร์' ผลประกอบการไตรมาสแรกโตกว่า 70%
“อูเบอร์” แอพพลิเคชั่นเรียกใช้บริการรถยอดนิยม กำลังย้ายสำนักงานใหญ่ในเอเชียแปซิฟิก จากสิงคโปร์ไปฮ่องกงภายใน 12 เดือน หลังผลประกอบการไตรมาสแรกในฮ่องกงโตกว่า 70%
ในปี 2562 บริษัทอูเบอร์ ได้รวมกลุ่มบริษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งแกร๊บและได้เปิดสำนักงานดำเนินกิจการในสิงคโปร์เพื่อบริหารกิจการในเขตเอเชียแปซิฟิกทั้ง 9 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน และฮ่องกง
แต่ในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ส่งผลกระทบให้ธุรกิจจำนวนมากต้องประสบปัญหาการขาดแคลนรายได้ ตลอดจนหลายบริษัทต้องปิดตัวลง ทำให้บริษัทอูเบอร์ ที่ก่อตั้งในสหรัฐกำลังพิจารณาวางแผนย้ายสำนักงานจากสิงคโปร์ไปฮ่องกงภายใน 12 เดือนนี้ แม้บริษัทจะมีความไม่มั่นใจในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญกับความท้าทายจากการประท้วงในฮ่องกง การดำเนินธุรกิจในฮ่องกงก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีจำนวนลูกค้าที่ต้องการใช้บริการสูงทั้งนี้
บริษัทอูเบอร์แถลงว่า ตั้งแต่มีการดำเนินกิจการในฮ่องกง บริษัทก็สร้างผลกำไรจากตลาดฮ่องกงมาโดยตลอด 6 ปี ซึ่งจากข้อมูลผลประกอบการของบริษัทในไตรมาสแรกของปี 2563 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 7 พ.ค. แสดงให้เห็นว่าธุรกิจในฮ่องกงกำลังมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเพิ่มขึ้นถึง 70% เมื่อเทียบกับผลประกอบการก่อนสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
ในขณะที่ผลประกอบการโดยรวมทั่วโลกของบริษัทลดลง 80% ในเดือน เม.ย. นอกจากนี้บริษัทยังได้ประกาศอีกว่าบริษัทมีแผนปลดพนักงานลง 3,000 คนทั่วโลก และจะยุติการลงทุนในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการให้บริการขับรถรับส่ง และธุรกิจการส่งสินค้าถึงบ้าน
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเดือน ม.ค. “อีสทิน ชุง” ผู้จัดการทั่วไปของอูเบอร์ ฮ่องกงได้เขียนบทความถึงนักลงทุนในฮ่องกงว่า บริษัทมีความพร้อมในการลงทุนในฮ่องกง แต่ยังมีข้อจำกัดในกฎหมายของการขนส่งในฮ่องกงที่ยังไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการเดินทางร่วมกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ บริษัทถูกต่อต้านจากอุตสาหกรรมรถแท็กซี่ในฮ่องกงโดยอ้างว่าผู้โดยสารที่ต้องจ่ายเงินเพื่อใช้บริการ ผู้ขับขี่ที่ให้บริการต้องมีใบอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย
อย่างไรก็ดี “ฟรานซิส ฟง-โป-เกียว” ประธานกิตติมศักดิ์ของสหพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศฮ่องกง ได้กล่าวสนับสนุนการให้บริการของอูเบอร์ว่า รัฐบาลควรปลดล็อก กฎหมายการให้บริการรถร่วม เนื่องจากธุรกิจประเภทนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของฮ่องกง ซึ่งรัฐบาลควรเปิดโอกาสให้นวัตกรรมใหม่ โดยการกำหนดข้อจำกัดที่เหมาะสมตลอดจนการจัดเก็บภาษีสำหรับผู้ให้บริการ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นทางออกสำหรับทุกฝ่าย และจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในฮ่องกง
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ประจำฮ่องกง ชี้ว่า 1.อูเบอร์ เป็นแอพพลิเคชั่นให้บริการรับส่งผู้โดยสาร โดยผู้ให้บริการสามารถดำเนินการสมัครเพื่อเป็นผู้ขับขี่ และให้บริการผ่านการเรียกรถจากแอพพลิเคชั่น ซึ่งบริการดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมาก และเป็นการตอบโจทย์ในกรณีที่ลูกค้าไม่สามารถหารถแท็กซี่ได้จากท้องถนน รวมถึงผู้ใช้บริการสามารถทราบได้ว่าผู้ขับขี่เป็นใคร จึงมีความมั่นใจในความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับผู้ขับรถแท็กซี่ทั่วไปแล้ว ผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจในการให้บริการของอูเบอร์มากกว่า
2.ข้อจำกัดของการให้บริการอูเบอร์คือ ข้อกฎหมายที่ผู้ขับขี่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ โดยหลายฝ่ายมองว่า ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นข้อกำหนดที่ล้าหลัง และขัดขวางต่อนวัตกรรมการให้บริการรูปแบบใหม่ในอนาคต ซึ่งรัฐบาลควรพิจารณาหาทางออกที่เหมาะสมต่อไป
3.การดำเนินการของรัฐบาลฮ่องกงเพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจรูปแบบใหม่อย่างอูเบอร์ให้ดำเนินการในฮ่องกง จะเป็นแบบแผนที่ดีต่อการจัดการธุรกิจที่มีนวัตกรรมในอนาคต ซึ่งจะมีคนจำนวนมากที่คิดก่อตั้งธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ต่อไป
นอกจากนี้ อูเบอร์ เทคโนโลยีส์ อิงค์ ประกาศปรับลดพนักงานในอินเดียประมาณ 600 ตำแหน่ง ตามแผนปรับลดพนักงานทั่วโลก 23% หลังประสบปัญหาธุรกิจในอินเดียหยุดชะงักจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์
ประทีป ปาราเมสวารา ประธานอูเบอร์ อินเดียและเอเชียใต้ กล่าวว่า “ผลกระทบจากโควิด-19 และลักษณะการฟื้นตัวที่คาดเดาได้ยากทำให้อูเบอร์อินเดียและเอเชียใต้ไม่มีทางเลือก นอกจากลดพนักงานลง”
ก่อนหน้านี้ อูเบอร์เผยว่า บริษัทจะหันไปมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับธุรกิจหลัก ซึ่งได้แก่ บริการเรียกรถผ่านแอพพลิเคชั่น และบริการส่งอาหาร เพื่อให้บริษัทกลับมามีกำไรท่ามกลางการระบาดของโควิด-19
ขณะที่บริษัทโอลา คู่แข่งของอูเบอร์ในอินเดีย ประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนเช่นกันว่าจะปรับลดพนักงานลง 1,400 ตำแหน่ง เนื่องจากรายได้ที่หดหายไปถึง 95% จากการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อูเบอร์รู้สึกวิตกกังวลคือ กฎระเบียบสำหรับการทำธุรกิจแชร์รถยนต์ในฮ่องกงที่ยังมีความคลุมเครือ และธุรกิจของอูเบอร์มักจะถูกสกัดกั้นจากบรรดาแท็กซี่ทั่วไปในฮ่องกงโดยตลอด 6 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่อูเบอร์เข้ามาดำเนินธุรกิจในฮ่องกง คนขับรถของอูเบอร์ก็ถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีในฐานะเป็นรถโดยสารที่ไม่มีใบอนุญาต และตั้งแต่เข้ามาในฮ่องกง มีผู้ใช้บริการอูเบอร์ประมาณ 2 ล้านคนด้วยกัน
แม้ว่าอูเบอร์จะการประกาศย้ายสำนักงานไปฮ่องกงเมื่อวันอังคาร (26 พ.ค.) แต่นับจนถึงขณะนี้ อูเบอร์ ยังไม่ได้รับไฟเขียวจากทางการฮ่องกง ซึ่งชุงก็ตอกย้ำว่า แผนย้ายสำนักงานใหญ่ไปฮ่องกงของอูเบอร์ ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้ หากว่ารัฐบาลไม่สามารถทำให้ธุรกิจการบริการแบบนี้เป็นสิ่งถูกกฎหมาย